Deepfake AI ปลุกผี 'ซูฮาร์โต' ดึงนายพลเผด็จการช่วยหาเสียงเลือกตั้งอินโดฯ
ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซีย 14 ก.พ. นี้ ยังเป็นการประชุนกันของ 'เอไอในการเมือง' ด้วย ถึงขั้นที่มีการคืนชีพ 'ซูฮาร์โต' ขึ้นมาช่วยหาเสียงให้คนเป็น
การปรากฎตัวของนายพล "ซูฮาร์โต" ที่มาช่วยหาเสียงให้พรรคโกลข่าร์ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซียวันพรุ่งนี้ (14 ก.พ.) เรียกเสียงฮือฮาจากหลายฝ่ายและกลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลก
ความสนใจไม่ได้อยู่แค่การที่ซูฮาร์โตเป็นนายพลเผด็จการคนดังที่ปกครองประเทศด้วยกำปั้นเหล็กมานานกว่า 30 ปีเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะเขาเสียชีวิตไปแล้วเมื่อปี 2008 ขณะมีอายุ 86 ปี
นี่จึงถือเป็นการใช้เทคโนโลยี 'เอไอ ดีปเฟก' (Deepfake AI) ปลุกผีซูฮาร์โตขึ้นมาเล่นการเมืองอีกครั้งราวกับมีชีวิต และเป็นเรื่องของปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอในวงการการเมืองที่หลายฝ่ายกำลังให้ความสนใจ
AI ปลุกผีผู้นำเข้มแข็ง
"ผมคือซูฮาร์โต ประธานาธิบดีคนที่ 2 ของอินโดนีเซีย" คลิปเอไอดีปเฟกของซูฮาร์โตระบุ โดยภาพที่เห็นเหมือนกับอดีตนายพลของอินโดนีเซียทุกประการทั้งหน้าตา น้ำเสียง และลักษณะการพูด ทว่าแตกต่างกันเพียงแค่ซูฮาร์โตในคลิปนั้นแทบจะไม่ยิ้ม ในขณะที่ตัวจริงเป็นคนที่มักจะยิ้มแย้มแจ่มใสอยู่เสมอแม้จะได้ชื่อว่าเป็นผู้นำเผด็จการที่ปกครองอินโดนีเซียด้วยกำปั้นเหล็กมา 32 ปีก็ตาม
ซีเอ็นเอ็นระบุว่า คลิปความยาว 3 นาทีนี้ ได้รับการแชร์ไปทั่วแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียตั้งแต่ เฟซบุ๊ก เอ็กซ์ ติ๊กต็อก และยูทูบ โดยมียอดวิวรวมแล้วกว่า 4.7 ล้านครั้ง
เออร์วิน อักซา รองหัวหน้าพรรคโกลข่าร์ กล่าวว่า ได้ทำคลิปเอไอดีปเฟกที่โคลนใบหน้าและน้ำเสียงของซูฮาร์โตขึ้นมา เพื่อเตือนใจให้คนตระหนักว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีความสำคัญแค่ไหน สำหรับพรรคแล้วซูฮาร์โตเป็นผู้ที่นำความสำเร็จมาสู่ประเทศ ซึ่งชาวอินโดนีเซียต้องเคารพและระลึกถึงสิ่งที่อดีตผู้นำรายนี้ทำให้ประเทศชาติ
โกลข่าร์เป็น 1 ใน 18 พรรคการเมืองที่ลงเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาและเลือกตั้งท้องถิ่น หวังกวาดคะแนนเสียงจากผู้มีสิทธิออกเสียงกว่า 200 ล้านคนในอินโดนีเซีย แม้จะไม่ได้ส่งตัวแทนลงชิงเลือกตั้งประธานาธิบดี แต่พรรคก็ประกาศสนับสนุน "ปราโบโว ซูเบียนโต" อดีตนายพลในยุคของซูฮาร์โต ซึ่งกำลังเป็นตัวเต็งตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ของอินโดนีเซียในขณะนี้ ด้วยคะแนนนิยมมากกว่า 50%
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ชาวอินโดนีเซียทุกคนที่เห็นด้วยกับคลิปหาเสียงของพรรค ซึ่งนอกจากจะมีกลุ่มคนที่ไม่ชอบนายพลซูฮาร์โตเพราะมองว่าเป็นจอมเผด็จการที่ออกไปด้วยแรงขับไล่ของประชาชนแล้ว คนอีกส่วนหนึ่งยังไม่เห็นด้วยกับการนำเทคโนโลยี Deepfake มาใช้แบบนี้ด้วย
"ตั้งแต่เมื่อไรกันที่เราก้าวข้ามเรื่องจริยธรรมและสร้างดีปเฟกจากคนที่ตายไปแล้ว มันเป็นเรื่องที่ผิดอย่างมาก" ชาวอินโดนีเซียรายหนึ่งให้ความเห็น
AI ไม่ใช่เรื่องใหม่ในการเมืองอินโดนีเซีย
โลกออนไลน์มีบทบาทสำคัญอย่างมากกับการเมืองอินโดนีเซีย ที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีอัตราการใช้อินเตอร์เน็ตมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก และทำให้มีพรรคการเมืองหลายแห่งต่างใช้เอไอและ Deepfake ในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้
อานีส์ บาสเวดัน อดีตผู้ว่าการกรุงจาการ์ตาและผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งนี้ หาเสียงโดยใช้แชตบอตของค่าย OpenAI ให้คอยตอบคำถามเกี่ยวกับนโยบายของเขาใน WhatsApp แม้เจ้าตัวจะเตือนไม่ให้ใช้เอไอในการเลือกตั้ง หลังจากที่เขาเคยตกเป็นเหยื่อของ "เสียง" ที่สร้างจากเทคโนโลยี Deepfake เมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา
รมว.กลาโหม ซูเบียนโต ที่เป็นตัวเต็งประธานาธิบดีรอบนี้หลังชวดศึกเลือกตั้งมาแล้ว 2 ครั้งก่อนหน้า เป็นหนึ่งในคนที่ใช้เอไอเพื่อทำสื่ออนิเมชันแนว "มุ้งมิ้ง" และสไตล์แนว "เคป๊อบ" ออกมาดึงดูดกลุ่มคนรุ่นใหม่วัยต่ำกว่า 40 ปี ตามโซเชียลมีเดียที่นำโดยแพลตฟอร์ม "ติ๊กต็อก" โดยถือเป็นฐานเสียงกลุ่มใหญ่ที่มีสิทธิเลือกตั้งถึง 114 ล้านคน
โซ เจน มาร์ชิง นักวิชาการจากมหาวิทยาลัย SOAS กล่าวว่า ความนิยมในวิดีโอซูฮาร์โตบ่งบอกถึง "มรดก" ที่เจ้าตัวทิ้งไว้หลังปกครองมานานกว่า 30 ปี และแสดงให้เห็นว่าซูฮาร์โตมีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับอินโดนีเซียในปัจจุบัน แม้เจ้าตัวจะเสียชีวิตไปหลายปีแล้ว แต่ก็ยังคงมีผู้สนับสนุนมากมาย และมีจิตวิญญาณของซูฮาร์โตอยู่ในอินโดนีเซีย
ความเห็นนี้สอดคล้องกับชาวอินโดนีเซียวัย 55 ปี แอนตัน ปราทามา ซึ่งเติบโตมาในยุคที่ซูฮาร์โตเรืองอำนาจ
"คลิปวิดีโอที่ทำขึ้นจากเอไอนี้ไม่ได้สำคัญที่ได้เจอซูฮาร์โตอีกครั้งหรือเชื่อว่าเขายังมีชีวิตอยู่ แต่สิ่งที่น่ากังวลก็คือ ซูฮาร์โตและอุดมการณ์ของเขากำลังได้รับความนิยมในประเทศอีกครั้ง"