กลุ่ม'ไม่เอาเจ้าอังกฤษ'ประกาศเดินหน้าต่อไม่สนสุขภาพกษัตริย์ชาลส์

กลุ่ม'ไม่เอาเจ้าอังกฤษ'ประกาศเดินหน้าต่อไม่สนสุขภาพกษัตริย์ชาลส์

กลุ่มรีพับลิกซึ่งรณรงค์ยกเลิกสถาบันกษัตริย์ในสหราชอาณาจักร ประกาศกร้าว แม้สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 ทรงมีปัญหาสุขภาพหลังได้รับการวินิจฉัยมะเร็ง ก็ไม่อาจหยุดยั้งกลุ่มให้เดินหน้าต่อไปได้

Key Points: 

  • กลุ่มรีพับลิก รณรงค์ยกเลิกสถาบันกษัตริย์ในสหราชอาณาจักร ประกาศเดินหน้าต่อ แม้สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 ทรงมีปัญหาสุขภาพ 
  • กลุ่มนี้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 สิ้นพระชนม์ ยิ่งตำรวจเล่นงานยิ่งสร้างชื่อเสียงให้กลุ่ม
  • แม้สาธารณชนยังสนับสนุนสถาบันกษัตริย์อังกฤษ แต่โพลพบว่า คนรุ่นใหม่สนใจน้อยลง 

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงาน กลุ่มรีพับลิก (Republic) ซึ่งรณรงค์ให้เลือกตั้งประมุขของรัฐขึ้นมาแทนที่กษัตริย์ ประกาศว่า การสิ้นยุคสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ผู้ทรงครองราชย์นานที่สุดในปี 2565 เป็นเวลาเหมาะสมสำหรับการรณรงค์ประเด็นนี้

นายแกรห์ม สมิธ ผู้บริหารกลุ่มกล่าวว่า ปีที่แล้วเป็น “ปีแห่งการเปลี่ยนแปลง” การที่สื่อโหมประโคมข่าวคิงชาลส์ทรงต่อสู้กับมะเร็งและการคาดการณ์ถึงผลกระทบกันจนมากเกินไป ยิ่งสนับสนุนเหตุผลของกลุ่มว่าทำไมต้องยกเลิกสถาบันเก่าเก่าที่มีมานานหลายร้อยปี

“เห็นได้ชัดว่า เราอ่อนไหวกับข้อเท็จจริง พระองค์เป็นมะเร็ง แต่สถาบันต่างหากที่เป็นปัญหา เป็นปัญหาใหญ่กว่าตัวบุคคล”

นายสมิธเชื่อว่า ข่าวใหญ่ของราชวงศ์ เช่น การประสูติ สิ้นพระชนม์ อภิเษกสมรส และราชาภิเษก ผลักดันให้สถาบันกษัตริย์มาอยู่ในตำแหน่งที่โดดเด่นเห็นชัด และคนอังกฤษที่อยากเห็นข่าวแบบนี้มีน้อยลง

ทั้งนี้ ผลสำรวจความคิดเห็นหลายสำนักชี้ว่า เจ้าชายวิลเลียม รัชทายาทอันดับหนึ่งและชายาแคเธอรีน เป็นหนึ่งในเชื้อพระวงศ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด แต่สมิธก็ไม่ได้ให้น้ำหนักกับการที่ประชาชนสนใจสองพระองค์นี้มากขึ้น เมื่อเจ้าชายวิลเลียมต้องปฏิบัติพระราชกรณียกิจบางอย่างแทนคิงชาลส์

“ผมไม่คิดว่าเจ้าชายวิลเลียมจะวิจารณ์ได้ยากกว่าพระบิดา” นายสมิธยืนยัน

สถาบันกษัตริย์กำลังสูญเสียเสียงสนับสนุน

รีพับลิกฉวยโอกาสการสิ้นพระชนม์ของควีนเอลิซาเบธ ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สุดของสถาบันกษัตริย์ในหนึ่งชั่วอายุคน กดดันปฏิรูปสถาบัน กลุ่มเพิ่มความพยายามรณรงค์ต่อสาธารณะก่อนพิธีราชาภิเษกของกษัตริย์ชาลส์เมื่อเดือน พ.ค.ปีก่อน ยิ่งตำรวจเล่นงานรุนแรงก็ยิ่งเพิ่มชื่อเสียงให้กับกลุ่ม

กล่าวคือรีพับลิกวางแผนประท้วงระหว่างเส้นทางเสด็จ แต่นายสมิธกับสมาชิกกลุ่มอีกห้าคนถูกตำรวจจับไปก่อนจะได้ประท้วงตามแผน  สุดท้ายตำรวจก็ปล่อยตัวออกมาโดยไม่มีการตั้งข้อหา

การจัดการกลุ่มรีพับลิกของตำรวจเรียกเสียงวิจารณ์อย่างกว้างขวาง และนายสมิธได้ฟ้องร้องตำรวจนครบาลลอนดอนฐานจับกุมโดยมิชอบ

สำหรับความนิยมต่อรีพับลิกนัน นายสมิธเผยว่า นับตั้งแต่ควีนสิ้นพระชนม์ในเดือน ก.ย.2565 รีพับลิกมีรายได้และสมาชิกเพิ่มขึ้นมาอย่างมหาศาล

“เดือน ก.ย.นั้น เป็นเดือนยิ่งใหญ่ที่สุดเดือนหนึ่งของเรานับตั้งแต่เริ่มงานมา และดีมาเรื่อยๆ นับจากนั้น”ผู้บริหารกลุ่มกล่าวและว่า ในปี 2566 รีพับลิกมีรายได้เกือบ 600,000 ปอนด์ (ราว 27.48 ล้านบาท) เทียบกับ 286,000 ปอนด์ (ราว 13 ล้านบาท) ในปี 2565 และ 106,000 ปอนด์ (4.85 ล้านบาท) ในปี 2564 สมาชิกที่่จ่ายเงินเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 คน ผู้สนับสนุนแบบไม่จ่ายเงิน 140,000 คน

“สถาบันกษัตริย์กำลังสูญเสียความนิยมอย่างรวดเร็ว” นายสมิธกล่าวพร้อมพูดถึงโพลสองชิ้นในเดือนที่ผ่านมา ชี้ว่า ความรู้สึกนิยมสาธารณรัฐกำลังมีมากขึ้น

จากผลสำรวจของยูกัฟ 45% สนับสนุนกษัตริย์ 31% สนับสนุนประมุขของรัฐที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านั้นโพลของซาวานตาที่กลุ่มรีพับลิกมอบหมายให้สำรวจ พบเช่นกันว่า ผู้ให้ข้อมูลที่สนับสนุนสถาบันกษัตริย์มีไม่ถึง 50%

“นี่มันเยอะมาก พวกรอยัลลิสต์พูดมาหลายปีว่า สถาบันกษัตริย์เกื้อหนุนประเทศนี้ ชัดเจนแล้วว่า ไม่ได้เป็นเช่นนั้นอีกแล้ว”

นายกิเดียน สกินเนอร์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยการเมืองสำนักโพลอิปซอส ยอมรับว่า ความนิยมราชวงศ์ผันผวนช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมาแต่ยังคงได้รับการสนับสนุนจากสาธารณะอย่างมากในการสำรวจ

“ความรู้สึกต่อราชวงศ์เป็นไปในทางบวก ประชาชนจำนวนมากบอกว่า กษัตริย์ชาลส์ทำอย่างที่พวกเขาคาดหวัง เจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์ยังป๊อบปูลาร์มาก” นายสกิตเนอร์กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายสกินเนอร์ตั้งข้อสังเกตว่า คนหนุ่มสาวส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจสถาบันกษัตริย์และสนับสนุนสาธารณรัฐมากกว่าอย่างชัดเจน

โพลของอิปซอสเมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ประชาชนอายุ 18-34 ปีเกือบหนึ่งในสี่สนับสนุนประมุขของรัฐที่มาจากการเลือกตั้ง เทียบกับกลุ่มอายุ 55 ปีขึ้นไป สนับสนุนเพียง 15% เศษ นายสกินเนอร์มองว่า ประเด็นที่สำคัญกว่าของสถาบันกษัตริย์คือเอาชนะประชากรกลุ่มนี้ให้ได้

ด้านนายสมิธอธิบายว่า การสนับสนุนสาธารณรัฐที่เพิ่มมากขึ้นส่วนหนึ่งมาจากเรื่องฉาวหลายระลอก เช่น เรื่องฉาวของเจ้าชายแอนดรูว์ พระอนุชากษัตริย์ชาลส์,การจัดพิธีราชาภิเษกเมื่อปีก่อนเสียค่าใช้จ่ายสูง และความไม่พอใจต่อแผนใช้เงินภาษีประชาชนเพิ่มงบประมาณสถาบันกษัตริย์ 45% ตั้งแต่ปี 2568

ไม่เพียงเท่านั้น นายสมิธยังเมิน "ความฝันลมๆ แล้งๆ ของรอยัลลิสต์ ผู้ติดตามราชวงศ์ และคนที่เรียกกันว่าผู้เชี่ยวชาญที่บอกว่า กษัตริย์ชาลส์คือนักปฏิรูป"

ขณะที่เจ้าชายวิลเลียมและชายาแคเทอริน หรือเคท ที่อยู่ในวัย 40 ต้นๆ และถูกมองว่าสะท้อนภาพคนหนุ่มสาวที่มีพลวัตมากขึ้น เป็นอนาคตของสถาบัน แต่ผู้นำกลุ่มรีพับลิกไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะเรื่องการปฏิบัติพระราชกรณียกิจ

ปีก่อนเดอะการ์เดียนพบว่า เจ้าหญิงเคท ที่ปัจจุบันกำลังทรงพักฟื้นจากการผ่าตัดช่องท้อง “เป็นหนึ่งพระองค์ที่ปฏิบัติพระราชกรณียกิจน้อยที่สุด”

“ความคิดที่ว่าพวกเขาเป็นคนหนุ่มสาวและมีความรู้ความสามารถจึงใช้ไม่ได้” นายสมิธกล่าวพร้อมตั้งข้อสังเกตว่า โพลยังชี้ให้เห็นความคลุมเครือบางอย่างต่อเจ้าชายวิลเลียมและชายาเคท

“คนส่วนใหญ่ไม่ได้มองเห็นเรื่องที่สำคัญมาก ถ้าพวกเขากลายเป็นจุดโฟกัส ผมคิดว่าปัญหาทุกประการเหล่านี้จะปรากฏให้เห็นเบื้องหน้า” ผู้นำกลุ่มรีพับลิกกล่าวทิ้งท้าย