รร.เอกชน UK รีบหานร.ต่างชาติเพิ่ม รับมือ VAT ค่าเทอม หากพรรค Labour เป็นรัฐบาล
รร.เอกชนอังกฤษต่างเร่งรับสมัครนักเรียนต่างชาติเพิ่ม หวังเป็นหลักประกันรองรับการเรียกภาษีมูลค่าเพิ่มในค่าเทอม หากพรรคแรงงานชนะเลือกตั้งสมัยหน้า ซึ่งตอนนี้มีคะแนนความนิยมนำพรรคอนุรักษนิยมอยู่
Key Points:
- การมุ่งหานักเรียนต่างชาติเป็นหนึ่งในแนวทางที่ผู้บริหารโรงเรียนเอกชนมองหาแหล่งเงินทุน และจำนวนนักเรียนที่แน่นอนในปีการศึกษาต่อ ๆ ไป
- ค่าเทอมที่เพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจาก VAT นั้น ไม่ได้เป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้ปกครองต่างชาติ แต่สร้างความตื่นตระหนกแก่ผู้ปกครองในประเทศมากกว่า
- “เซอร์ เคียร์ สตาร์เมอร์” ผู้นำพรรคแรงงาน เคยประกาศในปี 2564 ว่า หากพรรคชนะเลือกตั้งอีกครั้ง จะยกเลิกการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มในค่าเทอมรร.เอกชน
โรงเรียนเอกชนในสหราชอาณาจักรเร่งหานักเรียนต่างชาติเพิ่ม เมื่อต้องเตรียมรับมือนโยบายพรรคแรงงานที่จ่อเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากค่าเทอม หากพรรคชนะเลือกตั้งในครั้งหน้า
โรงเรียนเอกชนอังกฤษหลายแห่งเผยว่า นโยบายเก็บภาษีค่าเล่าเรียนของพรรคแรงงานผลักดันให้รร.รับสมัครนักเรียนต่างชาติเพิ่มขึ้น เนื่องจากนักเรียนต่างชาติมีความอ่อนไหวด้านราคาน้อยกว่านักเรียนในประเทศ เพราะร่ำรวยกว่า หรือมีความยินดีที่จะจ่ายค่าเทอมแพง ๆ ให้กับสถาบันการศึกษาของอังฤษ
การมุ่งหานักเรียนต่างชาติเป็นหนึ่งในแนวทางที่ผู้บริหารโรงเรียนเอกชนมองหาแหล่งเงินทุน และจำนวนนักเรียนที่แน่นอนในปีการศึกษาต่อ ๆ ไป ส่วนครูใหญ่บางคนเตรียมพิจารณาลดการให้ทุนสนับสนุนและทุนการศึกษาด้านต่าง ๆ ขณะที่ผู้บริหารคนอื่น ๆ เปิดให้ผู้ปกครองชำระค่าเทอมล่วงหน้าหลายปีได้ ก่อนที่นโยบายเก็บภาษีข้างต้นจะมีผลบังคับใช้
รร.เอกชน UK วางกลยุทธ์ใหม่
แกเรท คอลลิเออร์ ครูใหญ่จาก Cardiff Sixth Form College ในเวลส์ เผยว่า นโยบายภาษีของพรรคแรงงาน ผลักดันให้รร.ที่มีนักเรียน 380 คนแห่งนี้ ต้องหานักเรียนต่างชาติเพิ่มในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา และ Dukes Education สถาบันแม่ของวิทยาลัย เพิ่งซื้อโรงเรียนในยุโรปหลายแห่ง โดยซื้อโรงเรียน 6 แห่งในสเปน และ 3 แห่งในโปรตุเกส เพื่อรองรับปัญหาจากภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในอนาคต
โรงเรียนเอกชนในสหภาพยุโรป (อียู) ไม่เก็บภาษีดังกล่าว และค่าเทอมที่เพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจาก VAT นั้น ไม่ได้เป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้ปกครองต่างชาติ แต่สร้างความตื่นตระหนกแก่ผู้ปกครองในประเทศมากกว่า
มาร์ค บรูกส์ ที่ปรึกษาด้านการศึกษาที่ช่วยเหลือนักเรียนจากแอฟริกาตะวันตกเกี่ยวกับการสมัครเรียนรร.เอกชนในอังกฤษ บอกว่า สถาบันการศึกษาที่เขาทำงานด้วยทั้งหมด ต่างรับสมัครนักเรียนต่างชาติเพิ่ม เพื่อเตรียมรับมือนโยบายของพรรคแรงงาน
“ทีมการตลาดทำงานเก่งขึ้นและหนักขึ้น พวกเขาเดินทางไปทั่วโลกเพื่อรับสมัครนักเรียนเพิ่ม เพราะเป็นแนวทางเพิ่มเงินทุนสำรอง หากเกิดการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากค่าเทอม”
ขณะที่ครูใหญ่โรงเรียนสตาฟเฟอร์ด แกรมมา ในสตาฟฟอร์ดเชอร์ ที่มีนักเรียนราว 1,000 คน เตรียมเพิ่มนักเรียนต่างชาติจากเดิมมี 1-2 คน เป็น 10-20 คน
ทั้งนี้ ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา รร.เอกชนอังกฤษต่างต้องพึ่งพานักเรียนต่างชาติ เพราะความต้องการเรียนรร.เอกชนในประเทศลดลง และนักเรียนประจำสร้างรายได้ให้รร.มากกว่านักเรียนแบบไปเช้า-เย็นกลับ
นอกจากนี้ ไม่กี่ปีที่ผ่านมา รร.เอกชนเริ่มรับสมัครนักเรียนจากหลากหลายประเทศมากขึ้น เนื่องจากนักเรียนจากจีนและรัสเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่ส่งลูกหลานไปเรียนอังกฤษมากที่สุดนั้น ลดจำนวนลงในช่วงการแพร่ระบาดโควิดและช่วงเกิดสงครามยูเครน
ต้นตอแห่งความกังวล
ความกังวลด้านภาษีในหมู่โรงเรียนเอกชนมาจาก “เซอร์ เคียร์ สตาร์เมอร์” ผู้นำพรรคแรงงาน เคยประกาศในปี 2564 ว่า หากพรรคชนะเลือกตั้งอีกครั้ง จะยกเลิกการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มในค่าเทอมรร.เอกชน และกำหนดอัตราภาษีเชิงธุรกิจ ซึ่งพรรคคาดว่า ภาษีดังกล่าวจะเพิ่มเงินทุนได้ 1,500 ล้านยูโร ให้กับโรงเรียนรัฐบาล
การกลับมาเรียกเก็บภาษีดังกล่าว อาจทำให้ค่าเทอมรร.เอกชนแพงขึ้น 20% แต่ริชาร์ด แอสควิธ ผู้ก่อตั้งบริษัท VATCalc เชื่อว่านโยบายดังกล่าว หนุนค่าเทอมเพิ่มขึ้นเพียง 15% โดยเฉลี่ย เพราะรร.สามารถเรียกคืนรายจ่ายบางส่วนได้จากการลดหย่อนภาษี
นโยบายนี้สร้างความกังวลและตื่นตระหนก เพราะจากผลสำรวจพบว่า พรรคแรงงานมีคะแนนความนิยมนำพรรคอนุรักษนิยมในช่วงก่อนการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งคาดว่าจะเริ่มปลายปีนี้
อย่างไรก็ตาม ภาคการศึกษาเอกชนบางส่วนไม่เชื่อว่ารร.สามารถชดเชยความต้องการอยากเรียนรร.เอกชนในประเทศได้จากการดึงดูดนักเรียนชาวต่างชาติ
สมาคมโรงเรียนประจำ เผยว่า มีหลักฐานที่บ่งบอกว่าการลงทะเบียนเรียนของนักเรียนต่างชาติจะลดลงในระยะยาว เพราะนักเรียนเหล่านั้นไม่ยินดีจ่ายค่าเล่าเรียนที่แพงขึ้นอย่างที่หลายคนเชื่อ ผู้ปกครองต่างชาติที่ร่ำรวยมีไม่มาก และพวกเขาสามารถเลือกว่าจะส่งลูกหลานไปเรียนที่อังกฤษ สหรัฐ แคนาดา หรือออสเตรเลียก็ได้
อ้างอิง: Financial Times