7 หุ้นนางฟ้า ทำกำไรมากสุดในโลก ส่งสัญญาณวิกฤติเศรษฐกิจ เสี่ยง'ฟองสบู่แตก'

7 หุ้นนางฟ้า ทำกำไรมากสุดในโลก ส่งสัญญาณวิกฤติเศรษฐกิจ เสี่ยง'ฟองสบู่แตก'

ดอยซ์แบงก์ (Deutsche Bank) ธนาคารยักษ์ใหญ่ชั้นนำของเยอรมนี เผยการวิจัยชิ้นล่าสุดที่พบว่า ขณะนี้  "Magnificent 7" หรือ 7 หุ้นนางฟ้าจากบริษัทยักษ์ใหญ่สายเทคโนโลยี ได้แก่ Microsoft, Amazon, Nvidia, Meta, Alphabet, Apple และ Tesla

KEY

POINTS

  • หุ้นยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ฉายา "Magnificent 7" ได้แก่ Apple, Amazon, Alphabet, Meta, Microsoft, Nvidia และ Tesla
  • นักวิเคราะห์ของ Deutsche Bank เน้นย้ำว่ามูลค่าตลาดรวมของ Magnificent 7 เพียงอย่างเดียว มีมูลค่าตลาดมากกว่าตลาดหุ้นจีน
  • การกระจุกตัวใน Magnificent 7 ซึ่งทำผลงานได้โดดเด่น ทำให้นักวิเคราะห์กังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องในตลาดหุ้นสหรัฐฯ และทั่วโลก
  • การกระจุกตัวของหุ้น Magnificent 7  ตอนนี้ คล้ายกับช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจทางการเงินในปี 2000 และปี 1929

 

ดอยซ์แบงก์ (Deutsche Bank) ธนาคารยักษ์ใหญ่ชั้นนำของเยอรมนี เผยการวิจัยชิ้นล่าสุดที่พบว่า ขณะนี้  "Magnificent 7" หรือ 7 หุ้นนางฟ้าจากบริษัทยักษ์ใหญ่สายเทคโนโลยี ได้แก่ Microsoft, Amazon, Nvidia, Meta, Alphabet, Apple และ Tesla

กำลังมีอำนาจทางการเงินมากกว่าเกือบทุกประเทศสำคัญๆ ในโลก จากผลกำไรและมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดสูงกว่าบรรดาบริษัทเกือบทั้งหมดที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ 20 ประเทศ (G20) 

นักวิเคราะห์ของ Deutsche Bank เน้นย้ำว่ามูลค่าตลาดรวมของ Magnificent 7 เพียงกลุ่มเดียว อาจจะทำให้บริษัทเหล่านี้กลายเป็นตลาดหลักทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และมีมาร์เก็ตแคปสูงกว่าตลาดหุ้นญี่ปุ่นถึง 2 เท่า โดยขณะนี้มาร์เก็ตแคปของตลาดหุ้นญี่ปุ่นอยู่ในระดับสูงเป็นอันดับ 4 ของโลก

ส่วนมูลค่าตลาดของ Microsoft และ Apple รวมกัน 2 ตัว ก็ใกล้เคียงกับมูลค่าของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดในตลาดหลักทรัพย์ของฝรั่งเศส ซาอุดีอาระเบีย และสหราชอาณาจักร

 

ทั้งนี้ การกระจุกตัวของ  Magnificent 7  ที่มีมูลค่ามหาศาลทำให้นักวิเคราะห์บางคนแสดงความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องในตลาดหุ้นสหรัฐฯ และทั่วโลก จะเกิดอะไรขึ้นถ้าบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่เหล่านี้เกิดวิกฤติ หรือ ฟองสบู่แตก อาจกระทบเศรษฐกิจโลกปั่นป่วนแน่นอน

จิม รีด (Jim Reid) หัวหน้าฝ่ายเศรษฐศาสตร์โลกและการวิจัยเฉพาะเรื่องของ Deutsche Bank เตือนว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในตอนนี้อยู่ในสถานการณ์เดียวกับช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจระดับโลก คือในช่วงปี 2543 และปี 2472 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการกระจุกตัวของหุ้นขนาดใหญ่มากที่สุดในประวัติศาสตร์

รวมทั้ง Deutsche Bank ได้วิเคราะห์เส้นทางของบริษัททั้ง 36 แห่งที่อยู่ใน 5 อันดับแรกที่มีมูลค่ามากที่สุดใน S&P 500 นับตั้งแต่กลางทศวรรษ 2503 และได้ตั้งข้อสังเกตว่าในขณะที่บริษัทใหญ่ๆ มักจะหลุดออกจาก 5 อันดับแรก เนื่องจากแนวโน้มการลงทุนและแนวโน้มผลกำไรที่เปลี่ยนแปลง แต่มี 20 แห่งจาก 36 แห่งที่ยังคงอยู่ใน 50 อันดับแรก ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน

ในบรรดา 7 หุ้นนางฟ้า หุ้น Microsoft ติด 5 อันดับแรกนานที่สุด นับตั้งแต่ปี 2540 ตามด้วย  Apple เข้ามาอยู่ในทำเนียบในเดือนธันวาคม 2552 ส่วน Alphabet ไต่สู่ท็อป 5 ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2555 ขณะที่ Amazon ตั้งแต่เดือนมกราคม 2560  ส่วน Nvidia ผู้เล่นน้องใหม่ที่ขึ้นมาติดอันดับหมาดๆตั้งแต่กลางปี 2566 ที่ผ่านมา

 ส่วน Tesla เป็นบริษัทที่ครองตำแหน่งติด 5 อันดับแรก ในระยะเวลาเพียงแค่ 13 เดือนใน ตั้งแต่ปี 2564-2565  แต่ตอนนี้ลงมารั้งอันดับที่ 10 จากราคาหุ้นที่ตกลงไปประมาณ 20% นับตั้งแต่ต้นปีนี้  ในขณะเดียวกัน หุ้นของ Nvidia ยังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพิ่มขึ้นเกือบ 47% แล้ว

อย่างไรก็ตาม สะท้อนว่าอันดับของหุ้น 7 นางฟ้ายังคงมีความผันผวน แต่กก็ยังครองแชมป์เป็นหุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดในตลาดหุ้นสหรัฐมาหลายปีแล้ว 

แล้วกำไรของบริษัทเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นได้อีกมั้ย?

แม้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจโลกจะซบเซาในช่วงต้นปี 2565 แต่ผลตอบแทนของตลาดหุ้นใน Wall Street ก็ยังทำผลงานได้น่าประทับใจ แต่กลับ “กระจุกตัว” อยู่ใน Magnificent Seven ซึ่งได้รับประโยชน์จากกระแส AI และความคาดหวังในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย

ทางด้านบริษัทเอเวลีน พาร์ทเนอร์ส (Evelyn Partners)  เน้นย้ำว่า Magnificent 7 ให้ผลตอบแทนที่น่าเหลือเชื่อถึง 107% ในปี 2566 ซึ่งแซงหน้าดัชนี MSCI USA ซึ่งให้ผลตอบแทนที่ยังคงแข็งแกร่ง 27% แต่ถือว่าค่อนข้างน้อยสำหรับนักลงทุน

อย่างไรก็ตาม ดาเนียล คาซาลี นักวิเคราะห์ของเอเวลีน พาร์ทเนอร์ส นอกเหนือจากบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ทั้ง 7 แห่งของสหรัฐแล้ว หุ้นกลุ่มอื่น ๆ ในตลาดหุ้นสหรัฐยังมีโอกาสเติบโตในปีนี้เช่นกัน โดยได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ด้วยเหตุผลสองประการ 

ปัจจัยแรก คือความยืดหยุ่นของเศรษฐกิจสหรัฐฯ แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะสูงขึ้น แต่ยอดขายและกำไรของบริษัทก็ยังคงฟื้นตัวได้ สาเหตุนี้อาจเกิดจากการที่ธุรกิจต่างๆ สามารถการจัดการต้นทุน  นอกจากนี้ ตลาดแรงงานสหรัฐยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยมีตำแหน่งงานเพิ่มเกือบ 3 ล้านตำแหน่งในปี 2566” คาซาลีกล่าว

ปัจจัยที่สอง คือการปรับปรุงอัตรากำไร ภาคธุรกิจของสหรัฐยังได้ปัจจัยหนุนจากกำไรที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งบ่งชี้ว่าบริษัทต่าง ๆ มีกลยุทธ์ในการปรับขึ้นราคาสินค้าและการบริการอย่างชาญฉลาด

แม้ว่าหุ้น S&P 500 ตัวอื่นๆ อีก 493 เผชิญปัญหาในช่วงปีที่ผ่านมา แต่หากปัจจัยทั้งสองที่กล่าวมาข้างต้นยังคงช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ อาจทำให้หุ้นบางตัวกลับมาสดใสอีกครั้ง

 หุ้นเทคสหรัฐ เข้าใกล้ภาวะฟองสบู่ 

นักยุทธศาสตร์ของ Bank of America Corp. (BofA) กล่าวว่า ความคล้ายคลึงกันระหว่างหุ้นเทคโนโลยีในปัจจุบันและฟองสบู่ครั้งก่อนๆ ชี้ให้เห็นว่า Magnificent Seven ใกล้เข้ามาแล้ว แต่ยังไม่ถึงระดับที่อาจทำให้หุ้นพุ่งขึ้น

นักยุทธศาสตร์ของ BofA อ้างถึงตัวชี้วัดจำนวนหนึ่ง เช่น อัตราผลตอบแทนพันธบัตร การประเมินมูลค่า และการเคลื่อนไหวของราคา ซึ่งบ่งชี้ว่ายังมีกำไรเพิ่มเติมอยู่ข้างหน้ากลุ่ม ซึ่งรวมถึง Apple Inc. และ Amazon.com Inc.

Michael Hartnett นักยุทธศาสตร์ของ BofA ระบุว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ปรับตามอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งมองว่าเป็นตัวแทนสำหรับสภาวะทางการเงินที่ตึงตัว เป็นวิธีทั่วไปที่ทำให้ฟองสบู่ตลาดหุ้นแตก

เมื่อพิจารณาถึงหนี้ท่วมระบบการเงินโลก อัตราผลตอบแทนที่แท้จริงซึ่งลบอัตราเงินเฟ้อออกจากอัตราผลตอบแทน 10 ปีของพันธบัตร จะต้องสูงถึง 2.5% หรือ 3% เพื่อยุติความคลั่งไคล้ของนักลงทุนในด้านปัญญาประดิษฐ์และเมกะแคป เทคโนโลยี ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 2%

อ้างอิง CNBC Bloomberg