สหรัฐเลื่อนมาตรการคุมรถสันดาป จ่อขยายเวลา 3 ปี เริ่ม 2573
สหรัฐจ่อเลื่อนมาตรการควบคุมรถยนต์สัปดาปอีก 3 ปี เริ่มปี 2030 เหตุเจอแรงกดดันอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ อ้างเป็นภาระผู้บริโภค-โครงสร้างพื้นฐานในประเทศยังไม่พร้อม
สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานอ้างแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้อง 2 รายว่า รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน กำลังพิจารณาผ่อนปรนมาตรการคุมเข้มการปล่อยไอเสียจากรถยนต์ จากเดิมที่คาดว่าจะเริ่มในปี 2570 ออกไปเป็นปี 2573 แทน
ทั้งนี้เมื่อเดือน เม.ย. ปีที่แล้ว สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมของสหรัฐ (อีพีเอ) ได้ออกข้อเสนอเบื้องต้นในมาตรการคุมเข้มการปล่อยไอเสียจากรถยนต์ระหว่างปี 2573 - 2575 โดยจะลดการปล่อยไอเสียจากรถยนต์ใหม่ลง 56% ภายในปี 2575 และผลักดันการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ให้มีสัดส่วน 60% ของรถยนต์ที่ผลิตใหม่ภายในปี 2573 ก่อนจะขยับขึ้นเป็น 67% ภายในปี 2575
อย่างไรก็ตาม บริษัทผู้ผลิตรถยนต์และสหภาพแรงงานบริษัทรถยนต์จำนวนหนึ่งได้เรียกร้องให้รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน ชะลอการออกมาตรการดังกล่าวออกไปโดยให้เหตุผลว่า เทคโนโลยีอีวียังมีราคาแพงเกินไปสำหรับผู้บริโภคทั่วไปจำนวนมาก และจำเป็นต้องใช้เวลาอีกระยะในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สถานีชาร์จไฟ
แหล่งข่าวระบุว่าอีพีเอกำลังอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของการทบทวนมาตรการดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะเปิดเผยต่อสาธารณชนได้เร็วที่สุดภายในเดือน มี.ค.นี้ และคาดว่าอีพีเอจะเลื่อนการบังคับใช้ออกไปเป็นปี 2573 - 2575
ทั้งนี้ สหภาพแรงงานรถยนต์สหรัฐซึ่งได้ประกาศรับรอง โจ ไบเดน ในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ 2567 ระบุว่า ข้อเสนอของอีพีเอจำเป็นต้องได้รับการทบทวนใหม่เพื่อเพิ่มความเข้มงวดทีละน้อยและขยายเวลาให้มากขึ้น
ขณะที่สมาพันธ์นวัตกรรมยานยนต์สหรัฐ ซึ่งเป็นตัวแทนของบรรดาค่ายรถยนต์ขนาดใหญ่ เคยกล่าวถึงข้อเสนอของอีพีเอว่าเป็นข้อเสนอที่ทั้งไม่สมเหตุสมผลและไม่สามารถบรรลุผลได้จริง โดยเสนอให้ลดสัดส่วนการใช้อีวีภายในปี 2573 จาก 60% ลงมาอยู่ที่ 40-50%
ปัจจุบัน รถยนต์อีวีมีสัดส่วนอยู่ที่ราว 8% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมดในปี 2566
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมรถยนต์อีวีเริ่มชะลอตัวลงอย่างชัดเจนในปีที่ผ่านมา และทำให้บริษัทรถยนต์หลายแห่งที่นำโดย “เทสลา อิงค์” ต้องใช้กลยุทธ์ลดราคารถยนต์ลงในหลายประเทศทั้งในจีน สหรัฐ และฝั่งยุโรป
นิตยสารฟอร์จูนรายงานอ้างข้อมูลจากกลุ่มล็อบบี้ด้านยานยนต์ วีดีเอว่า ในประเทศเยอรมนีซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของยุโรปนั้น คาดว่ายอดขายรถยนต์อีวีจะปรับตัวลงถึง 14% ในปีนี้ หลังจากที่มาตรการอุดหนุนของรัฐบาลหมดลงในปีที่แล้ว ส่วนในตลาดโลกนั้นคาดว่าจะชะลอตัวลงเช่นกัน
นิตยสารอิเล็กเทรครายงานว่าการชะลอตัวในอุตสาหกรรมรถอีวีทำให้บริษัทซัพพลายเออร์หลายรายในเยอรมนี กำลังพิจารณาแผนเลิกจ้างพนักงานหลายพันรายโดยในบางบริษัทอาจสูงถึง 20% เช่น บริษัทโบช ประกาศจะเลิกจ้าง 1,200 อัตราในแผนกซอฟต์แวร์และอิเล็กทรอนิกส์ ภายในปี 2569ขณะที่บริษัทคอนทิเทนทอลประกาศเลย์ออฟไปเมื่อปลายปี 2566 หลายพันอัตรา เพื่อประหยัดรายจ่ายต่อปี 400 ล้านยูโร (ราว 1.55 หมื่นล้านบาท) ตั้งแต่ปี 2568
ทางด้านบริษัทซีเอฟ ฟรีดริชชาเฟน ซึ่งเป็นผู้ผลิตระบบเกียร์ ระบบกันกระแทก และแชสซีรถ และยังเป็นซัพพลายเออร์รถยนต์รายใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ในเยอรมนี ระบุว่าในกรณีที่เลวร้ายที่สุดนั้น บริษัทอาจต้องเลิกจ้างพนักงานถึง 12,000 คน ภายในปี 2573