น้ำมัน อุจจาระของปีศาจ อาละวาดในแอฟริกา
“น้ำมัน คือ อุจจาระของปีศาจ” วลีอมตะจากอดีตรัฐมนตรีทรัพยากรธรรมชาติของเวเนซุเอลา เพื่อเตือนชาวเวเนซุเอลาและชาวโลกว่า จริงอยู่น้ำมันมีประโยชน์มหาศาล แต่มันพกโทษมหันต์มาด้วยหากใช้อย่างย่ามใจ
ปรากฏการณ์ “มาเยี่ยมไข้” ถึงในบ้านจันทร์ส่องหล้าและการพบกันเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาของอดีตผู้นำรัฐบาลกัมพูชาและอดีตผู้นำรัฐบาลไทย นำไปสู่การคาดการณ์ต่างๆ นานา และมองกันว่าเป็นเพียงฉากบังหน้าของการเจรจาว่าจะทำอย่างไรกับพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทย ระหว่างไทยกับกัมพูชา
พื้นที่ตรงนั้นเป็นที่จับตาของผู้คาดการณ์มาก เนื่องจากเชื่อกันว่ามีน้ำมันปิโตรเลียมปริมาณมากอยู่ใต้พื้นทะเล และอดีตสองผู้นำรัฐบาล ซึ่งยังเชื่อกันว่ามีอำนาจเหนือรัฐบาลในประเทศของตนเจรจาหาข้อตกลงเพื่อแบ่งความร่ำรวยกันจากน้ำมันดังกล่าว
แม้การคาดการณ์จะปราศจากฐานของความเป็นจริง แต่มันยังชี้ให้เห็นประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องคำพูดของอดีตรัฐมนตรีทรัพยากรธรรมชาติของเวเนซุเอลา ที่ว่า “น้ำมันคืออุจจาระของปีศาจ” ในกรณีที่การคาดการณ์มีฐานของความเป็นจริง อุจจาระของปีศาจทำให้ความโลภของบางคนเพิ่มความเข้มข้นยิ่งขึ้น
อดีตรัฐมนตรีของเวเนซุเอลา เปล่งคำดังกล่าวออกมาเพื่อจะเตือนชาวเวเนซุเอลาและชาวโลกว่า จริงอยู่น้ำมันมีประโยชน์มหาศาล แต่มันพกโทษมหันต์มาด้วยหากใช้อย่างย่ามใจ หรือด้วยความไม่เข้าใจในหลักวิชา
เวเนซุเอลาเป็นผู้ผลิตน้ำมันขนาดใหญ่และใช้มันด้วยทั้งความย่ามใจและไร้ความเข้าใจในหลักวิชา จึงได้รับโทษมหันต์ของมัน นั่นคือ ยิ่งพัฒนายิ่งจนส่งผลให้เกิดความแตกแยกร้ายแรงภายในจนใกล้เป็นรัฐล้มเหลว
ส่วนชาวโลกโดยทั่วไปรวมทั้งผู้ผลิตขนาดใหญ่หลายประเทศใช้มันด้วยความย่ามใจและไร้ความเข้าในหลักวิชาน้อยกว่าชาวเวเนซุเอลา ผลออกมาคือภาวะโลกร้อนที่กำลังสร้างปัญหาสารพัดอยู่ในปัจจุบัน
ไนจีเรีย เป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตน้ำมันขนาดใหญ่และมีรายได้จำนวนมากจากการส่งออก โดยเฉพาะหลังน้ำมันขึ้นราคาแบบก้าวกระโดดเมื่อปี 2516 การมีน้ำมันทำให้รัฐบาลไนจีเรียย่ามใจและบริหารจัดการมันท่ามกลางความไม่เข้าใจในหลักวิชา จึงยิ่งพัฒนายิ่งจนเช่นเดียวกับในเวเนซุเอลา
เมื่อต้นปี 2545 ผมพิมพ์หนังสือชื่อ “เล่าเรื่องเมืองน้ำมัน” ซึ่งวิเคราะห์ความเป็นไปในประเทศส่งออกน้ำมันขนาดใหญ่ 11 ประเทศในช่วงเวลากว่า 2 ทศวรรษหลังน้ำมันขึ้นราคาแบบก้าวกระโดดเมื่อปี 2516
ไนจีเรียเป็นหนึ่งในบรรดาประเทศเหล่านั้น การวิเคราะห์สรุปว่า ไนจีเรียยิ่งพัฒนายิ่งจน ทั้งนี้เพราะในปี 2516 ชาวไนจีเรียมีรายได้ต่อคน 210 ดอลลาร์ และเมื่อถึงปี 2542 พวกเขามีรายได้เพียงคนละ 78 ดอลลาร์เท่านั้น
หากนำข้อมูลปี 2516 มาพิจารณาร่วมกับข้อมูลปี 2566 จะพบว่าในช่วงเวลา 50 ปี รายได้ต่อคนของชาวไนจีเรียนแทบไม่ได้เพิ่มขึ้นหลังจากหักอำนาจในการซื้อ หรืออัตราเงินเฟ้อออกจากรายได้ เพราะในปี 2566 พวกเขามีรายได้ต่อคนเพียง 250 ดอลลาร์เท่านั้น
ข้อมูลของธนาคารโลกชี้ว่า กว่า 40% ของชาวไนจีเรียตกอยู่ในภาวะยากจนมาก (ในขณะที่ชาวไทยเพียงราว 6% ตกอยู่ในภาวะเช่นนั้น)
ในภาวะปกติ ชาวไนจีเรียยากจนประสบปัญหาสาหัสอยู่แล้ว แต่ในขณะนี้พวกเขามีปัญหาเพิ่มขึ้นเนื่องจากเศรษฐกิจประสบวิกฤติร้ายแรง โดยเฉพาะด้านปัญหาเงินเฟ้อ เช่น ราคาข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักเพิ่มขึ้นเป็นกว่าสองเท่าในช่วงปีที่ผ่านมา ในขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมายยังคงอยู่ที่ราว 350 บาทต่อเดือนมากว่า 4 ปีแล้ว
ปัจจัยที่ทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจส่วนหนึ่งมาจากภายนอก รวมทั้งสงครามในยูเครน ซึ่งทำให้ราคาสินค้าโดยทั่วไปเพิ่มขึ้น แต่ส่วนใหญ่เกิดจากโครงสร้างภายในซึ่งรายได้จากการขายน้ำมันทำให้เกิดขึ้น
เช่น การควบคุมราคาสินค้ารวมทั้งราคาน้ำมัน โดยรัฐบาลใช้งบประมาณสนับสนุน เมื่อรัฐบาลขาดงบประมาณก็ใช้การพิมพ์ธนบัตรออกมาจ่าย หรือไม่ก็ยอมให้เพิ่มราคาสินค้าส่งผลให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อทันที
ปัจจัยเหล่านั้นสำคัญและมักได้รับการอ้างถึงเสมอ แต่มีอีกหนึ่งปัจจัยที่อุจจาระของปีศาจมีส่วนทำให้เกิดขึ้นทั้งในเวเนซุเอลาและในไนจีเรียซึ่งมักไม่ได้รับการอ้างถึง นั่นคือ ความฉ้อฉลซึ่งสูงมาก
ดัชนีชี้วัดความฉ้อฉลขององค์กรความโปร่งใสสากลให้คะแนนไนจีเรียเพียง 25 จาก 100 ความฉ้อฉลทำให้การใช้จ่ายงบประมาณรั่วไหลและไร้ประสิทธิภาพมานาน หากปัญหานี้ไม่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ชาวไนจีเรียจะหลุดพ้นจากความยากจนไม่ได้