จับตาอนาคตเมียนมา 3 แนวทาง รัฐบาลทหาร ‘หาบันไดลง’
จับตาอนาคตเมียนมา เมื่อรัฐบาลทหารยังควบคุมพื้นที่ทั้งหมดของประเทศไม่ได้ เมียนมามีโอกาสแตกออกเป็นรัฐอิสระ? แล้วใครจะช่วยเมียนมาแก้ไขวิกฤติได้บ้าง? รศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้วิเคราะห์ผ่านรายการ Deep Talk ได้อย่างน่าสนใจไว้แล้ว
สถานการณ์ในเมียนมายังคงน่าเป็นห่วง เมื่อรัฐบาลทหารยังไม่สามารถควบคุมพื้นที่ได้ทั้งหมด ในขณะที่กลุ่มชาติพันธุ์และฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเริ่มมีบทบาทและอำนาจมากขึ้น เมียนมาจะบริหารประเทศต่อไปอย่างไร และจะเกิดอะไรขึ้นบ้างในอนาคต
รศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญด้านการย้ายถิ่นและการพัฒนา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้วิเคราะห์ผ่านรายการดีปทอล์กได้อย่างน่าสนใจ ดังนี้
รศ.ดร.นฤมล เผยว่า ความขัดแย้งในเมียนมาร์ครั้งนี้แตกต่างจากครั้งก่อน ๆ ขณะนี้เมียนมาเปรียบเสมือนไข่ดาวที่ไข่ขาวกำลังถูกกินไปเรื่อยๆ เนื่องจากกลุ่มชาติพันธุ์ อาทิ กลุ่มกะฉิ่น กลุ่มอาระกันหรือ AA กลุ่มสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือเคเอ็นยู เริ่มมีบทบาทต่อต้านรัฐบาลทหารมากขึ้น และกลุ่มพันธมิตรอื่นๆที่เคยเงียบ ก็เข้ามามีส่วนร่วมในความขัดแย้งครั้งนี้ด้วย
อ.นฤมล อธิบายให้เห็นภาพกว้าง ๆ ไว้ว่า รัฐยะไข่ทางตะวันตกของประเทศที่อยู่ติดกับบังกลาเทศนั้น มีกลุ่มเอเอและพันธมิตรพยายามครอบครองพื้นที่ ถัดจากทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ จะเป็นรัฐชินที่ติดกับอินเดีย ถือเป็นฐานต่อต้านรัฐบาลทหารในช่วงแรกๆ และตอนนี้ทหารเมียนมาก็ยังคควบคุมพื้นที่นี้ไม่ได้ ถัดจากรัฐชินทางตอนเหนือจะเป็นรัฐสะกาย ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติหรือเอ็นยูจี มีความพร้อมประกาศเป็นรัฐอิสระแล้ว ส่วนรัฐกะฉิ่นที่ติดกับจีน เป็นรัฐที่ฝ่ายต่อต้านอาจสามารถดึงมาร่วมขบวนการได้
ส่วนรัฐฉาน (พื้นที่ทางตะวันออกของเมียนมา) ในตอนเหนือ ฝ่ายต่อต้านค่อนข้างควบคุมพื้นที่ได้แล้ว และรัฐฉานตอนใต้ (ใกล้กับจังหวัดแม่ฮ่องสอน) ซึ่งเป็นพื้นที่ของกลุ่มกะเหรี่ยง ก็พร้อมประกาศการปกครองตนเองได้เช่นกัน
ถัดลงมาทางใต้อีกจะเป็นรัฐมอญ ซึ่งรัฐนี้ทหารเมียนมายังคุมพื้นที่ได้อยู่ และในเขตตะนาวศรีทางตอนใต้สุด กลุ่มชาติพันธ์ุครอบครองพื้นที่เป็นส่วนใหญ่ได้
อย่างไรก็ตาม อ.นฤมลคาดว่า การแบ่งพื้นที่เป็นรัฐอิสระยังทำได้ยากได้เมียนมา
รศ.ดร.นฤมล บอกว่า รัฐฉานทางตอนใต้ เป็นพื้นที่ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด รองลงมาคือพื้นที่รัฐสะกายที่กลุ่มชาติพันธุ์เริ่มเจาะพื้นที่ไข่แดงได้แล้ว ขณะเดียวกันรัฐยะไข่ก็น่าเป็นห่วง เพราะกลุ่มชาติพันธ์ุในรัฐยะไข่พยายามดึงกลุ่มโรฮิงญาเข้ามามีส่วนร่วมในการแต่งตั้งพื้นที่เป็นสมาพันธรัฐใหม่ แต่ยังต้องจับตาดูต่อไป
ด้านจีน มีความระมัดระวังในการวางตัวกับรัฐกะฉิ่น จึงเป็นที่น่าจับตาด้านเศรษฐกิจในพื้นที่นี้ ท่ามกลางความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้น
ส่วนสาเหตุที่กองทัพเมียนมาไม่สามารถเข้าควบคุมในหลายพื้นที่ได้ เป็นเพราะกองทัพยึดได้ แต่ปกครองไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่ากองทัพพ่ายแพ้ด้านกำลังและอาวุธ แต่เป็นเพราะทหารชั้นผู้น้อยยอมแพ้ในการปฎิบัติหน้าที่
การเกณฑ์ทหารก็เป็นสิ่งที่น่าจับตา เพราะจะทำให้ประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ประชาชนที่ไม่เต็มใจเกณฑ์ทหาร จะหนีทหารและประเทศไทยอาจมีแรงงานผิดกฎหมายเข้าประเทศมากขึ้น
คาดการณ์อนาคตเมียนมา
อ.นฤมล คาดว่า โอกาสที่กลุ่มต่อต้านและกลุ่มชาติพันธ์ุจะโจมตีพื้นที่ไข่แดงของเมียนมา เช่น เมืองหลวงเนปิดอว์ และพื้นที่อื่นๆ ยังคงเป็นไปได้ยากมาก แต่พื้นที่ไข่แดงนั้นอาจได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจมากกว่าการยึดพื้นที่
ตามคาดการณ์ของ อ.นฤมล ระบุว่า วิกฤติเมียนมาจะบรรเทาลงจาก 3 ปัจจัย ได้แก่
1.เกิดการการเปลี่ยนแปลงจากภายในเมียนมาเอง และคนภายนอกสามารถช่วยได้ด้วยการหา exit stradegy หรือบันไดลง และการช่วยอื่นๆ ประกอบ เช่น การเจรจาสันติภาพ
การหาบันไดลงให้เมียนมานั้น คนภายนอกต้องดำเนินการทางการทูตควบคู่กับเศรษฐกิจร่วมด้วย เช่น การให้พื้นที่ปลอดภัยแก่กลุ่มที่อ่อนไหว โดยมีองค์กรนานาชาติเข้ามามีส่วนร่วม และรัฐบาลทหารเมียนมาให้สัญญาว่าจะให้ความร่วมมืออย่างดี
ในแง่เศรษฐกิจ ภาคเอกชนในอาเซียนอาจต้องเข้าไปเจรจาหรือมีข้อเสนอแนะแก่ภาคธุรกิจในเมียนมา แต่ควรมีรัฐบาลเป็นผู้นำในการดำเนินการ
2.ฝ่ายต่อต้านและทหารเมียนมาร์อาจสู้รบกันไปจนกว่าจะหมดหนทาง ซึ่งต้องจับตาดูต่อว่า ปัจจัยใดที่จะทำให้รัฐบาลทหารเมียนมาและฝ่ายต่อต้านตระหนักดีว่าควรยุติการสู้รบ เช่น วิกฤติเศรษฐกิจ หรือภัยพิบัติธรรมชาติ
3.อาเซียนจะมีส่วนช่วยแทรกแซง ซึ่งต้องจับตาดูว่า อาเซียนจะทำให้รัฐบาลทหารเมียนมาเปลี่ยนแปลงด้านใดบ้าง และต้องจับตาดูผลงานรัฐบาลไทย รวมถึงรัฐบาลลาว ที่เป็นประธานจัดการประชุมอาเซียนว่าจะยื่นข้อเสนอในการประชุมอาเซียนเกี่ยวกับวิกฤตินี้อย่างไร
หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญด้านการย้ายถิ่นย้ำ
“การไม่แทรกแซงไม่น่าจะทำให้อะไรเกิดขึ้น แต่ยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้าย”
จากทั้ง 3 ปัจจัย อ.นฤมลมองว่า ปัจจัยที่สามมีความเป็นไปได้ เพราะอยู่ภายในศักยภาพของอาเซียน สำหรับปัจจัยที่หนึ่งและสองอาจจะต้องพึ่งพาประเทศที่มีอำนาจมากกว่าอย่างจีนหรืออินเดีย
ส่วนโอกาสที่จะเมียนมาจะเป็นรัฐบาลผสมนั้นเป็นไปได้ยากมาก ขณะที่การเลือกตั้งก็อาจจะเกิดขึ้นได้ยากเช่นกัน เนื่องจากขึ้นอยู่กับการเข้าควบคุมพื้นที่ของรัฐบาลมินอ่องลาย และอาจได้เห็นเมียนมาเกิดการแบ่งพื้นที่เป็นเขตปกครองพิเศษ และเขตเศรษฐกิจพิเศษ
กลุ่มสิทธิ 397 กลุ่มร้องยูเอ็นแทรกแซงเกณฑ์ทหาร
ทางด้านสำนักข่าวอิระวดีรายงานว่า องค์กรภาคประชาสังคม 397 กลุ่มในเมียนมาได้รวมตัวกันออกแถลงการณ์เรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) เข้ามาช่วยแก้ปัญหากรณีที่รัฐบาลทหารเมียนมาบังคับใช้กฎหมายเกณฑ์ทหารเป็นครั้งแรก
ทั้งนี้ รัฐบาลทหารได้ประกาศเมื่อเดือนที่แล้วว่าจะบังคับใช้กฎหมายการเกณฑ์ทหารเป็นครั้งแรก หลังจากที่เริ่มมีกฎหมายนี้ออกมาเมื่อ 14 ปีก่อน โดยจะเกณฑ์ทหารชายอายุ 18-35 ปี และผู้หญิงอายุ 18-27 ปี โดยขยายอายุเป็น 45 ปีสำหรับผู้ชาย และ 35 ปีสำหรับผู้หญิงสำหรับแพทย์ วิศวกร และผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ
แถลงการณ์ระบุว่า การบังคับใช้กฎหมายเกณฑ์ทหารจะทำให้ความรุนแรงที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนจากฝีมือของรัฐบาลทหารเมียนมายิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยรัฐบาลทหารใช้วิธีเกณฑ์ทหารเป็นสงครามจิตวิทยาเพื่อข่มขู่ประชาชนให้ยอมจำนน บังคับให้ประชาชนฆ่ากันเองโดยขัดกับมโนธรรม และทำให้ความตึงเครียดทางชาติพันธุ์และศาสนาลุกเป็นไฟ
ทหารเกณฑ์จะถูกนำมาใช้งานในกองทัพเป็นโล่มนุษย์ คนเฝ้ายาม และนักรบแนวหน้า ซึ่งขัดกับข้อเรียกร้องของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ต้องการยุติความรุนแรงทั้งหมดในมติที่ 2669
องค์กรภาคประชาสังคมยังระบุด้วยว่า ยูเอ็นเอชซีอาร์ควรช่วยเหลือสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ในการรับประกันการคุ้มครองทางกฎหมายแก่ประชาชนที่หลบหนีการเกณฑ์ทหารและความโหดร้าย
กะเหรี่ยง KNU ยุประชาชนต่อต้านกฎหมายนี้
ทางด้านสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (เคเอ็นยู) ได้ออกแถลงการณ์ประณามการบังคับใช้กฎหมายเกณฑ์ทหารโดยระบุว่า จะยิ่งทำให้เมียนมาทั้งประเทศดำดิ่งสู่สงครามมากยิ่งขึ้น และทำให้การปกครองโดยเผด็จการทหารยิ่งยืดเยื้อออกไป
แถลงการณ์ระบุว่า รัฐบาลทหารไม่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว เนื่องจากกฎหมายนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อปกป้องประเทศจากการรุกรานของต่างชาติ และฟื้นฟูประเทศหลังภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งไม่ตรงกับวัตถุประสงค์
เคเอ็นยูยังกระตุ้นให้คนทั้งหมดในประเทศโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ต่อต้านกฎหมายนี้ด้วยการต่อต้านทางการเมือง หรือเข้าร่วมกับกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา