50 ปี สัมพันธ์ ‘อาเซียน-ออสเตรเลีย’ 72 ปีการทูต ‘ออสเตรเลีย-ไทย’
พ.ศ.2567 เป็นหมุดหมายความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับออสเตรเลียและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียใต้ เพราะเป็นปีครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-ออสเตรเลีย และยังเป็นปีมงคลครบ ‘6 รอบ’ หรือ 72 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างออสเตรเลียและไทย
สิ่งนี้มีผลอะไรต่อประเทศออสเตรเลียและไทย และจะทำงานร่วมกันในภูมิภาคเพื่อจัดการความท้าทายต่าง ๆ และเปิดรับโอกาสร่วมกันได้อย่างไร
แอนเจลา แมคโดนัลด์ เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย ระบุ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาตั้งแต่วันที่ 4 - 6 มีนาคม ผู้นำจากประเทศต่าง ๆ ในประชาคมอาเซียน ติมอร์-เลสเต และออสเตรเลียได้ร่วมกันวิเคราะห์ทำความเข้าใจคำถามเหล่านี้ ณ การประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ ในเมลเบิร์น บรรดาผู้นำหารือวิสัยทัศน์ที่เรามีร่วมกัน และความร่วมมือเพิ่มเติมในด้านต่าง ๆ ในภูมิภาคของเรา
การประชุมสุดยอดนี้ไม่ได้มีเพียงการเจรจาระหว่างผู้นำประเทศและรัฐมนตรี แต่ยังมุ่งประสานความร่วมมือและสานสัมพันธ์ระหว่างผู้นำภาคธุรกิจ ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพภูมิอากาศและพลังงาน ผู้นำรุ่นใหม่ และผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชนต่างๆ ให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น
ซีอีโอจาก 100 บริษัทในอาเซียนรวมทั้งไทยและออสเตรเลียพูดคุยถึงโอกาสเพิ่มการค้าและการลงทุน การประชุมและบูธต่างๆ จัดแสดงธุรกิจเพื่อให้คำปรึกษาและแบ่งปันความเชี่ยวชาญกับธุรกิจ SME สัญชาติออสเตรเลียที่สนใจจะร่วมทำการค้ากับประเทศต่างๆ ในอาเซียน นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงเทคโนโลยีด้านพลังงานสะอาดของออสเตรเลียอีกด้วย
การเสวนา ‘Climate and Clean Energy Transition Forum’ หรือการเปลี่ยนผ่านมาสู่พลังงานสะอาดเพื่อสภาพภูมิอากาศมีสาระสำคัญถึงการเพิ่มความร่วมมือในด้านนี้ซึ่งสำคัญต่อความรุ่งเรืองของภูมิภาคของเราเป็นอย่างยิ่ง ผู้นำยุคใหม่ได้ร่วมกันแบ่งปันวิสัยทัศน์ที่มีต่อภูมิภาคอาเซียน และผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐและภาคเอกชนร่วมหารือความร่วมมือทางทะเล ณ งานเสวนาเชิงนโยบาย Track 1.5 ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกระหว่างอาเซียนและออสเตรเลีย
ในเชิงทวิภาคี ห้วงสัปดาห์นี้มีความสำคัญเช่นกัน นายแอนโทนี อัลบาเนซี นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย พบกับ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไทย และนางเพนนี หว่อง รัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลียพบกับ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศของไทย การประชุมเหล่านี้กระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างเราให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นไปอีก
ดิฉันดีใจที่เห็นท่านนายกรัฐมนตรีไทยใส่ถุงเท้าลายโคอาล่าที่ท่านผู้สำเร็จราชการแห่งเครือรัฐออสเตรเลียมอบให้ขณะมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อย่างที่ทราบกันดีว่าท่านผู้สำเร็จราชการฯ เป็นพระสหายร่วมชั้นกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่วิทยาลัยวิชาการทหารดันทรูน ตั้งแต่ พ.ศ. 2515-2518
ความเชื่อมโยงระหว่างผู้คนของเรามีมาอย่างลึกซึ้ง ในออสเตรเลียมีคนไทยกว่า 80,000 คนอาศัยอยู่ และเป็นส่วนสำคัญของชุมชนต่าง ๆ ทั่วทั้งออสเตรเลีย และไทยต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวออสเตรเลียปีละหลายแสนคน ความเชื่อมโยงของผู้คนนี้ขยายไปถึงระดับภูมิภาค
มีชาวออสเตรเลียมากกว่าหนึ่งล้านคนที่มีเชื้อสายมาจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลียเองก็เป็นชาติพหุวัฒนธรรมที่ผู้คนกว่าครึ่งเกิดในต่างประเทศหรือมีพ่อแม่ที่เกิดในต่างประเทศ
ประชาคมอาเซียนและไทยมีความสำคัญยิ่งต่อออสเตรเลีย ไม่ใช่เพียงเพราะสายสัมพันธ์ระหว่างผู้คนของเรา แต่ยังเป็นเพราะความก้าวหน้ารุ่งเรือง เสถียรภาพ และความมั่นคงที่เรามีร่วมกันอีกด้วย
ในห้วงการประชุมสุดยอดสมัยพิเศษ นายแอนโทนี อัลบาเนซี นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียได้ประกาศนโยบายหลายด้านเพื่อวางรากฐานงานที่ออสเตรเลียและประชาคมอาเซียนจะทำร่วมกันต่อไปอีก 50 ปีข้างหน้า อาทิ
1) จัดตั้งศูนย์อาเซียน-ออสเตรเลีย เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในภาคธุรกิจ การศึกษา วัฒนธรรม และชุมชนต่างๆ ระหว่างออสเตรเลียและประเทศต่าง ๆ ในประชาคมอาเซียน ศูนย์อาเซียน-ออสเตรเลียจะทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม แวดวงวิชาการ และภาคประชาสังคม เพื่อสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ที่ส่งเสริมการค้าและการลงทุน ความร่วมมือระหว่างโรงเรียน มหาวิทยาลัย และผู้นำยุคใหม่ รวมถึงโครงการด้านวัฒนธรรมต่าง ๆ
2) จัดตั้งกองทุนการเงินเพื่อการลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Investment Financing Facility) มูลค่า 2,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ที่จะให้เงินกู้ยืม การค้ำประกัน การเพิ่มเงินทุน และประกันแก่โครงการต่างๆ ที่จะกระตุ้นการค้าและการลงทุนของออสเตรเลียในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอาเซียน
3)แต่งตั้งผู้นำภาคธุรกิจสัญชาติออสเตรเลีย ที่จะช่วยให้ออสเตรเลียและประเทศสมาชิกอาเซียนปลดล็อกโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ สำหรับประเทศไทยเอง นายปีเตอร์ ฟ็อกซ์ ผู้บริหารบริษัทลินฟ็อกซ์ จะช่วยขยายเครือข่ายการค้าแบบสองทาง (Two-way trade) ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ลินฟ็อกซ์เป็นบริษัทขนส่งสินค้าที่ให้บริการในประเทศไทยมากว่า 30 ปี ในปีพ.ศ.2565-2566 การค้าแบบสองทางระหว่างออสเตรเลียและไทยพุ่งสูงถึง 30,800 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 25 จากปีก่อน แต่เรายังทำให้ตัวเลขนี้โตได้อีก ซึ่งการประกาศนโยบายใหม่จะช่วยสนับสนุนการเติบโตนี้
4) โครงการความร่วมมือด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Partnerships for Infrastructure) จัดตั้งโดยรัฐบาลออสเตรเลียตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 มีส่วนช่วยด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ครอบคลุมและสามารถตั้งรับปรับสู้ผ่านโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพในภูมิภาคนี้ รัฐบาลออสเตรเลียจัดตั้งกองทุนมูลค่า 140 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลียเพื่อสนับสนุนโครงการนี้ต่อไปอีกสี่ปีจนถึง เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2571
5) ดำเนินโครงการหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง-ออสเตรเลีย (The Mekong-Australia Partnership) ซึ่งช่วยจัดการความท้าทายด้านการพัฒนาที่เรามีร่วมกันในภูมิภาคนี้ รวมถึงการสร้างความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำ การตั้งรับปรับสู้ต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง การต่อต้านและทลายอาชญากรรมข้ามชาติ การสร้างเศรษฐกิจให้ยืดหยุ่นและเท่าทันต่อแรงกดดันภายนอก และการสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ผู้พิการ และความครอบคลุมทางสังคม
โครงการนี้จะดำเนินมาสู่ระยะที่สองด้วยเงินทุน 222.5 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย โดยมีระยะโครงการ 5 ปี เพื่อเดินหน้าสนับสนุนภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงต่อไป
6) ให้ทุนระดับปริญญาโทเพิ่มเติม 75 ทุน และทุนอุดหนุนอื่น ๆ อีก 55 ทุน ภายใต้โครงการ ‘Australia for ASEAN scholarships’ โดยในจำนวนนี้ จะมอบทุนระดับปริญญาโท 7 ทุน และทุนอุดหนุนอื่น ๆ อีก 5 ทุนให้กับผู้เข้าร่วมโครงการชาวไทย
7) นางเพนนี หว่อง รัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลีย ยังได้ประกาศจัดตั้งกองทุนจำนวน 40 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย เพื่อยกระดับความเป็นหุ้นส่วนทางทะเลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของออสเตรเลีย ซึ่งจะช่วยจัดการภาคพื้นทะเลในภูมิภาค
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและออสเตรเลียมีความสำคัญต่อความร่วมมือออสเตรเลียกับประชาคมอาเซียน อาเซียนถือกำเนิดในประเทศไทยนี่เองใน พ.ศ. 2510 ดิฉันได้มีโอกาสไปบางแสนจังหวัดชลบุรีเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีการเริ่มหารือถึงการก่อตั้งอาเซียนขึ้นเมื่อกว่า 50 ปีมาแล้ว และออสเตรเลียก็ได้เป็นประเทศคู่เจรจาอาเซียนประเทศแรกใน พ.ศ. 2517
ออสเตรเลียมีความสัมพันธ์กับอาเซียนมาเป็นเวลา 50 ปี และ 72 ปีกับไทย ในขณะที่เรากำลังมองไปข้างหน้า ดิฉันมั่นใจว่าความเชื่อมโยงต่าง ๆ ระหว่างเราคือการเป็นหุ้นส่วนเพื่ออนาคตโดยแท้จริง