‘ปูติน’ ไม่ใช่นักการเมือง แต่อันธพาล กับผลเลือกตั้ง ปธน.รัสเซีย หนึ่งเดียว

‘ปูติน’ ไม่ใช่นักการเมือง แต่อันธพาล กับผลเลือกตั้ง ปธน.รัสเซีย หนึ่งเดียว

“ชาวรัสเซีย” ไปลงคะแนนเลือกตั้งประธานาธิบดี คาด “ผลลัพธ์มีเพียงหนึ่งเดียว” นั่นคืออะไร เพราะไม่เพียงมีความหมายต่อคนในประเทศเท่านั้น ยังรวมถึงสงครามในยูเครน และโลก

KEY

POINTS

  • เลือกตั้งรัสเซียปี 2567 จริงแล้วเป็นเพียงการเลือกสองขั้ว นั่นคือ “เอาหรือไม่เอาปูติน”
  • ปูตินในฐานะผู้สมัครอิสระ เผชิญกับผู้แข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจาก 3 พรรคการเมือง หากแต่ระหว่างนี้ไม่มีใครกล้าวิพากษ์วิจารณ์เขาเลย
  • การลงคะแนนเสียงเป็นโอกาส  เพื่อแสดงให้เห็นถึงความไม่พอใจต่อปูติน และสงคราม

ชาวรัสเซียออกไปใช้สิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้งประธานาธิบดี คาดว่า “ผลลัพธ์มีเพียงหนึ่งเดียว” และไม่เพียงมีความหมายต่อคนในประเทศเท่านั้น ยังรวมถึงสงครามยูเครน และโลก

เมื่อ “อเล็กเซ นาวาลนี” ผู้นำฝ่ายค้านรัสเซีย เสียชีวิตโดยไร้เหตุผลในเรือนจำเมื่อหนึ่งเดือนก่อนที่รัสเซียจัดเลือกตั้งในวันที่ 15 - 17 มี.ค.2567 ขณะที่ผู้สมัครฝ่ายค้าน “บอริส นาเดซดิน” ถูกคณะกรรมการการเลือกตั้งรัสเซีย ห้ามไม่ให้ลงสมัครรับเลือกตั้งเมื่อต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา อันเป็นการจบเกมการลงแข่งขันของนาเดซดินไป

เหตุการณ์ดังกล่าว เหมือนกำจัดเสี้ยนหนามที่จะเป็นอุปสรรคต่อ “วลาดิมีร์ ปูติน” ที่วางแผนอยู่ในตำแหน่งประธานาธิบดีรัสเซียต่อเนื่องและยาวไปอีก 6 ปี

การเลือกตั้งรัสเซียปี 2567 นักวิเคราะห์เชิงลึกได้จับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกลไกทางการเมือง เช่นเดียวกับความคิดเห็นในสังคมรัสเซีย

"ยูเลีย นาวาลนี" ภรรยาผู้นำพรรคฝ่ายค้าน แสดงความเห็นไว้ว่า หากต้องการเอาชนะปูติน หรืออย่างน้อยลงโทษเขา จะต้องตระหนักให้ดีว่า "ปูตินเป็นใคร"

"ปูตินไม่ใช่นักการเมือง เขาคืออันธพาล" อเล็กเซ นาวาลนีเคยว่าไว้ก่อนนี้ และยูเลียได้หยิบขึ้นกล่าวย้ำอีกครั้งว่า ปูตินเป็นผู้นำมาเฟีย คุณจะเข้าใจความโหดร้ายของเขา รวมถึงชอบความรุนแรง โอ้อวด และพูดคำโกหกที่พร้อมทำให้เข้าใจผิด แต่คนในรัสเซียทุกคนรู้ดีว่า คำกล่าวอ้างเป็นนักสู้เพื่อความยุติธรรมสูงส่ง และค่านิยมดั้งเดิม เป็นเพียงเครื่องมือให้กับอาชญากรมืออาชีพ

"น่าเสียดายที่คนชาติตะวันตกจำนวนมากเกินไป มองปูตินเป็นผู้นำทางการเมืองที่ถูกต้องตามกฎหมาย และเห็นว่าทุกการกระทำของเขาเป็นตามตรรกะทางการเมือง นี่คือความผิดครั้งใหญ่ที่ก่อความผิดพลาดครั้งใหม่ ซึ่งทำให้ปูตินหลอกลวงคู่ต่อสู้ครั้งแล้วครั้งเล่า" ยูเลียกล่าว

เทียบคะแนนเสียงปูติน ในช่วง 20 ปี

แม้การจัดเลือกตั้งประธานาธิบดีเป็นไปตามรูปแบบคล้ายๆกันในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา อย่างการลงคะแนนเลือกตั้งเมื่อปี 2561 พาเวล กรูดินิน จากพรรคคอมมิวนิสต์ได้คะแนนเสียงอันดับสองอยู่ที่ 11.8% เทียบกับปูตินผู้คว้าชัยชนะที่ 76.7%

การเลือกตั้งครั้งนั้น เกิดขึ้นท่ามกลางการกล่าวหาว่ามีเหตุการณ์บังคับลงคะแนนเสียง และละเมิดกฎหมายเลือกตั้ง โดยฝ่ายค้านได้เผยแพร่ภาพคลิปวิดีโอที่เหมือนรัฐบาลจะเผยให้เห็นหีบเลือกตั้งที่อัดแน่นด้วยใบกระดาษลงคะแนน

หากย้อนกลับไป ปูตินชนะเลือกตั้งในปี 2555 โดยได้เสียงสนับสนุน 64.35% ปี 2547 ได้เสียงสนับสนุน 71.91% และปี 2543 ได้เสียงสนับสนุน 53.44% ของคะแนนเสียงทั้งหมด

ปูติน ปธน.เต็งหนึ่ง หาเสียงอย่างไร

เลือกตั้งรัสเซียต่างจากสหราชอาณาจักรที่พรรคการเมืองเลือกนายกรัฐมนตรี ส่วนประธานาธิบดีรัสเซียได้รับเลือก โดยการโหวตจากประชาชนโดยตรง นั่นหมายถึงหากไม่มีผู้สมัครคนไหนได้รับคะแนนเสียงเกิน 50% ก็จะให้จัดเลือกตั้งรอบ 2 ระหว่างผู้สมัครสองคน ที่ได้รับความนิยมสูงสุด ในอีก 3 สัปดาห์ต่อมา

โดยทั่วไปแล้ว การเปิดรับสมัครผู้ลงชิงชัยประธานาธิบดีรัสเซีย จะสิ้นสุดภายในเดือน ก.พ.ของปีจัดการเลือกตั้ง และจะให้เริ่มรณรงค์หาเสียงได้ในเดือน ก.พ.และ มี.ค. ก่อนถึงวันลงคะแนนเลือกตั้ง

หลายปีก่อนจะได้เห็นผู้ลงสมัครชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีรัสเซียได้ดีเบตทางสถานีโทรทัศน์ ซึ่งมีครั้งหนึ่งที่เกิดเหตุชุลมุน เมื่อคาเสเนีย โซบาชาร์ก ได้สาดน้ำใส่คู่แข่ง วลาดีมีร์ ซีรินนอฟสกี ระหว่างตอบโต้การดีเบตอย่างฉุนเฉียว

สำหรับปูตินแล้ว ไม่ได้เข้าร่วมการดีเบตครั้งนั้น และในปีนี้ก็ปฏิเสธจะเข้าร่วมด้วย ท่ามกลางนักวิเคราะห์มองว่า ทั้งที่การหาเสียงไม่ได้ทำให้ยุ่งมากนัก บางทีอาจเพราะรู้ว่าได้รับชัยชนะอยู่แล้ว

 

เปิดหน้าผู้สมัครชิง ปธน.รัสเซีย ปี67

ผู้นำเต็งหนึ่งครั้งนี้คือ วลาดีมีร์ ปูติน วัย 71 ปี ซึ่งเป็นผู้นำทางการเมืองรัสเซียมาตั้งแต่ 2542 และครั้งนี้เขาลงสมัครเลือกตั้งอีกครั้งเพื่อให้อยู่ในอำนาจยาวนาน ตามที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ เปิดทางให้เขาสามารถอยู่ต่อได้อีก 2 สมัยหลังจากปี 2567

ปูตินในนามผู้สมัครอิสระ เผชิญกับผู้แข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจาก 3 พรรคการเมือง หากแต่ระหว่างนี้ไม่มีใครกล้าวิพากษ์วิจารณ์เขาเลย

ส่วนผู้สมัครอีกสามคนที่ได้ไฟเขียวจากคณะกรรมการการเลือกตั้งรัสเซียได้แก่ “เลโอนิด ลัสกี้” จากพรรคลิเบอรัล ดีโมเครติคที่มีแนวคิดชาตินิยมสุดโต้ง  “วลาดิสลาฟ ดาวานคอฟ” จากพรรคนิวพีเพิล และ “นิโคไล คาลิโทนอฟ” จากพรรคคอมมิวนิสต์ โดยพวกเขาล้วนสนับสนุนโดยรวมของรัสเซีย รวมถึงการรุกรานยูเครน

 

แผนฉลองชัยชนะจัดไว้ล่วงหน้าไหม

ทีมหาเสียงของปูตินยังไม่มีการประกาศอีเว้นท์ใดๆ เพื่อเตรียมฉลองชัยชนะเลือกตั้งของเขา แน่นอนอาจไม่มีสิ่งนี้เกิดขึ้นจนกว่าจะลงคะแนนเสียงแล้ว

เมื่อปี 2561 ปูตินฉลองชัยชนะเลือกตั้งร่วมกับผู้สนับสนุนเขาที่กรุงมอสโก ท่ามกลางอุณหภูมิที่ต่ำกว่าจุดเยือกแข็งในจัตุรัสมาเนซานาย่า ใกล้กับทำเนียบเครมลิน เพื่อขอบคุณทุกคะแนนเสียง และยังร่วมกันร้องเพลงชาติรัสเซีย

ที่แน่ๆเชื่อว่า จะมีการชุมนุมในวันที่ 18  มี.ค.นี้ เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 10 ปีของการผนวกดินแดนไครเมียเข้ากับรัสเซีย

 

เลือกตั้งรัสเซีย ส่งผลสงครามยูเครน

นักวิจารณ์หลายคน เช่นเดียวกับฝ่ายค้านรัสเซียส่วนใหญ่มองว่า การเลือกตั้งปี 2567 เป็นการลงประชามติที่มีต่อสงครามยูเครน

“อับบาส กัลยามอฟ” นักวิเคราะห์การเมือง ซึ่งเคยเป็นนักร่างสุนทรพจน์ให้กับปูติน กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ แม้มีหลายตัวเลือก แต่จริงแล้วเป็นเพียงการเลือกเพียง "สองขั้ว" นั่นคือ “เอาหรือไม่เอาปูติน” ขณะเดียวกันอาจกล่าวได้ว่า เป็นการลงประชามติประเด็นสงคราม เพราะการลงคะแนนให้ปูติน จะถือเป็นการสนับสนุนทำสงคราม

ฝ่ายค้านมองว่า การลงคะแนนเสียงเป็นโอกาส  เพื่อแสดงให้เห็นถึงความไม่พอใจต่อ "ปูติน และสงคราม"

 

เสี่ยงชุมนุมต้านอำนาจปูติน

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐาลมีความเสี่ยงมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะนักเคลื่อนไหวที่ออกมาเดินขบวนมักถูกจับกุมและคุมขัง โดยก่อนหน้าที่นาวัลนีจะเสียชีวิต เขาเรียกร้องให้ชาวรัสเซียที่มีสิทธิเลือกตั้งไปลงคะแนนเสียงพร้อมเพรียงกันในเวลาเที่ยงของวันที่ 17 มี.ค. ซึ่งการต่อแถวยาวในช่วงเวลานั้น หวังแสดงพลังประท้วงไปด้วย

ขณะที่ทำเนียบเครมลินเตือนว่า ใครก็ตามที่ทำอย่างนั้น จะถูกดำเนินการตามกฎหมาย

ในเรื่องนี้ หลายคนแม้กลัวจะถูกจับกุม แต่ผู้คนหลายหมื่นก็รวมตัวกันในกรุงมอสโก เพื่อร่วมอาลัยนาวาลนี โดยฝูงชนร่วมกันปรบมือและตะโกนร้องเรียกชื่อเขา นี่เป็นเพียงส่งสัญญาณหนึ่ง จากประชาชนต่อปูตินด้วยหรือไม่

 

 

ที่มา : Washington Post, Sky News