เรียนต่อออสเตรเลียยากขึ้น? ออสซี่จ่อเข้มงวดวีซ่านศ. หวังลดจำนวนต่างชาติ
ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 23 มี.ค. เป็นต้นไป ออสเตรเลียเตรียมยกระดับความเข้มงวดด้านกฎระเบียบวีซ่านักเรียน หวังช่วยลดจำนวนชาวต่างชาติที่ทำตลาดเช่าอสังหาริมทรัพย์วิกฤติ
ออสเตรเลียเตรียมบังคับใช้มาตรการวีซ่าที่เข้มงวดมากขึ้นกับนักเรียนและนักศึกษาชาวต่างชาติในสัปดาห์นี้ เนื่องจากจำนวนการย้ายถิ่นฐานแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งมีแนวโน้มทำให้ตลาดเช่าอสังหาริมทรัพย์ยิ่งตึงตัวมากขึ้นอีก
ตั้งแต่วันเสาร์ (23 มี.ค.) เป็นต้นไป วีซ่านักเรียนนักศึกษาและบัณฑิตจะมีข้อกำหนดด้านภาษาอังกฤษเพิ่มเข้ามา และรัฐบาลจะมีอำนาจในการระงับผู้ให้บริการด้านการศึกษา หากสถาบันละเมิดกฎระเบียบการรับนักเรียนต่างชาติ
แคลร์ โอเนล รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย แถลงว่า การดำเนินการด้านกฎระเบียบวีซ่าในสัปดาห์นี้จะช่วยลดจำนวนการย้ายถิ่นฐาน โดยมาตรการรับนักเรียนใหม่จะช่วยลดจำนวนนักเรียนต่างชาติที่อยากไปทำงานในออสเตรเลียได้ อีกทั้งรัฐบาลจะเพิ่มข้อกำหนด “ไม่มีสิทธิพำนักต่อ” ในวีซ่าท่องเที่ยวมากขึ้นด้วย
ความเคลื่อนไหวดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากออสเตรเลียได้ดำเนินการหลายอย่างเพื่อยกเลิกมาตรการที่ออกในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ของรัฐบาลก่อนหน้า ซึ่งรวมถึงการให้ชั่วโมงทำงานที่ไม่จำกัดแก่นักศึกษาต่างชาติ
รัฐบาลออสเตรเลียเพิ่มจำนวนผู้ย้ายถิ่นฐานในปี 2565 เพื่อช่วยบรรเทาความขาดแคลนแรงงานให้กับธุรกิจต่าง ๆ หลังการแพร่ระบาดโควิดทำให้ต้องควบคุมพรมแดนเข้มงวด และส่งผลให้ประเทศขาดแคลนนักเรียนต่างชาติและแรงงานอื่น ๆ เป็นเวลาเกือบ 2 ปี แต่แรงงานและนักเรียนต่างชาติที่หลั่งไหลเข้าประเทศกะทันหันนั้น ทำให้เกิดความกดดันต่อตลาดเช่าอสังหาฯที่ตึงตัวอยู่
ข้อมูลจากสำนักสถิติแห่งชาติออสเตรเลียที่เผยแพร่วันนี้ ระบุว่า จำนวนผู้ย้ายถิ่นฐานเข้าประเทศเพิ่มขึ้น 60% แตะระดับ 548,800 คน เป็นประวัติการณ์ ตั้งแต่ต้นปี 2566 จนถึงวันที่ 30 ก.ย. 2566 ซึ่งสูงกว่าช่วงต้นปี 2566 ถึงสิ้นเดือน มิ.ย. ที่มีผู้ย้ายถิ่น 518,000 คน
โดยรวมแล้ว ตั้งแต่ต้นปี 2566 จนถึงเดือน ก.ย. 2566 ประชากรออสเตรเลียเพิ่มขึ้น 2.5% เติบโตเร็วสุดเป็นประวัติการณ์ สู่ระดับ 26.8 ล้านคนในช่วงเวลาดังกล่าว
การย้ายถิ่นฐานจำนวนมากที่ได้แรงหนุนมาจากนักศึกษาประเทศอินเดีย จีน และฟิลิปปินส์นั้น ได้เพิ่มอุปทานแรงงานในตลาด และบรรเทาความกดดันด้านค่าจ้าง แต่ทำให้ตลาดอสังหาฯให้เช่าตึงตัว เนื่องจากมีอสังหาฯให้เช่าน้อยเป็นประวัติการณ์อยู่แล้ส ทั้งยังทำให้ต้นทุนค่าก่อสร้างแพงขึ้นจนกระทบการสร้างที่อยู่อาศัยใหม่
อ้างอิง: Rueters