ทำไม ‘รัฐบาลสหรัฐ’ ฟ้อง ‘Apple’ ที่เป็นไอคอนอเมริกาและนายทุนพรรค

ทำไม ‘รัฐบาลสหรัฐ’ ฟ้อง ‘Apple’ ที่เป็นไอคอนอเมริกาและนายทุนพรรค

เปิดเหตุผลสำคัญ ทำไม “Apple” (แอปเปิ้ล) ถูกรัฐบาลสหรัฐฟ้องในสมัยปธน.โจ ไบเดน ทั้งที่เป็นบริษัทระดับตำนานอันเป็นที่เชิดหน้าชูตาของประเทศ และสนับสนุนพรรคเดโมแครตมาโดยตลอด

KEY

POINTS

  • Apple ได้สนับสนุนเงินให้พรรคเดโมแครตในวัฏจักรการเลือกตั้งปี 2567 จำนวนราว 31 ล้านบาท 
  • รัฐบาลสหรัฐฟ้อง Apple เพราะมองว่า บริษัทได้กีดกันแอปฯคู่แข่งด้วยการสร้าง “ระบบนิเวศแบบปิด” ขึ้นมาบน iPhone
  • ช่วงที่รัฐบาลสหรัฐฟ้อง Microsoft ในยุค 90 กรณีผูกขาด ต้องใช้เวลากว่า 3 ปีในการหาข้อยุติสำหรับทั้งสองฝ่าย และเพิ่มอีก 4 ปีในชั้นศาลอุทธรณ์
     

เป็นข่าวใหญ่โตในหน้าสื่อหลายสำนักเมื่อ “Apple Inc.” (แอปเปิ้ล) บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของสหรัฐ และเป็นดั่ง “ไอคอน” ของอเมริกาที่ภาคภูมิใจของประเทศ รวมถึงเป็นแบรนด์ที่มี “มูลค่ามากที่สุด” ในโลกด้วย แต่กลับถูกกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฟ้องในข้อหา “ผูกขาดตลาด” ซ้ำร้ายยังเป็นการถูกฟ้องในสมัยรัฐบาลไบเดน สังกัดพรรคเดโมแครตที่ Apple สนับสนุนเงินให้ตลอด

ถ้าดูข้อมูลจาก “Opensecrets” องค์กรไม่แสวงหากำไรในสหรัฐที่ติดตามการเงินและการล็อบบี้ของบริษัทเอกชนต่าง ๆ ในพรรคการเมืองอเมริกา และประสานงานข้อมูลกับสำนักข่าวอย่าง The Washington Post, Reuters, Fox News, CNN, The New York Times ฯลฯ จะพบว่า Apple ได้สนับสนุนเงินให้พรรคเดโมแครตในวัฏจักรการเลือกตั้งรอบปี 2567 จำนวน 860,114 ดอลลาร์ หรือราว 31 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 90.49%

ขณะที่พรรครีพับลิกัน Apple สนับสนุนเงินจำนวน 90,417 ดอลลาร์ หรือราว 3 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเพียง 9.51%

สำหรับเหตุผลที่กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฟ้อง Apple เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2567 เพราะมองว่า บริษัทผู้ผลิต iPhone รายนี้ได้กีดกันแอปฯคู่แข่งด้วยการสร้าง “ระบบนิเวศแบบปิด” ขึ้นมาบน iPhone ด้วยการจำกัดการให้บริการสตรีมมิ่งคลาวด์ของคู่แข่ง จำกัดความสามารถของอุปกรณ์เสริมที่ไม่ใช่ของ Apple เอง และขัดขวางการสร้าง Super App ที่ให้บริการแบบครบวงจรบนแพลตฟอร์มตัวเอง เพราะเกรงว่าผู้ใช้งานอาจย้ายไปแพลตฟอร์มคู่แข่งที่เหนือกว่าแทน จนดูเหมือนว่า บริษัทกำลังจำกัดทางเลือกของผู้บริโภค และผูกขาดตลาดสมาร์ทโฟน

ทำไมคดีฟ้อง Apple ถึงเกิดขึ้นในสมัยปธน.ไบเดน

นี่คือคำถามที่น่าขบคิดว่า ทำไมถึงเกิดขึ้นในรัฐบาลไบเดน ทั้งที่ Apple เลือกสนับสนุน “พรรคเดโมแครต” มาโดยตลอดในสัดส่วน 90.49% เมื่อเทียบกับพรรครีพับลิกัน

คำตอบคือ กระแสประชาชนไม่น้อยได้ไปในทิศทางว่า บริษัทเทคโนโลยีในสหรัฐ “ครอบงำตลาด” มากเกินไป และรัฐบาลควรเข้ามาควบคุม โดยผลโพล “Gallup” ซึ่งสำรวจความเห็นประชาชนอเมริกันในปี 2564 เทียบกับปี 2562 ที่เคยสำรวจ พบว่า ชาวอเมริกันที่มองบริษัทเทคฯยักษ์ใหญ่ใน “แง่บวก” นั้น คิดเป็น 1 ใน 3 โดย “ลดลง” จาก 2 ปีก่อน (2562) ซึ่งเคยอยู่ที่ 46% 

ขณะที่มุมมอง “เชิงลบ” ของประชาชนต่อบิ๊กเทคฯ ได้เพิ่มขึ้นจาก 33% เป็น 45% และมุมมอง “เชิงลบมาก” ได้สูงขึ้นจาก 10% เป็น 22%

ส่วนเปอร์เซ็นต์ชาวอเมริกันที่มองว่า รัฐบาลควรเข้ามาจัดการยักษ์เทคฯมากขึ้น ได้พุ่งขึ้นจาก 48% เป็น 57% 

กระแสเช่นนี้เพิ่มขึ้นทั้งฝั่งประชาชนที่เชียร์เดโมแครตและรีพับลิกัน จึงทำให้พรรคเดโมแครตใช้ช่วงจังหวะดังกล่าว เสนอร่างกฎหมายใหม่เพื่อต่อต้านการผูกขาด 2 ฉบับในปี 2564 ได้แก่

1. American Innovation and Choice Online Act (AICOA) กฎหมายนี้ได้ห้ามบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างเช่น อีคอมเมิร์ซ Amazon ในการสนับสนุน หรือให้สิทธิพิเศษแก่สินค้าแบรนด์ตนเอง “เหนือกว่า” สินค้ารายอื่นในตลาด เพราะเป็นการสร้างความไม่เท่าเทียมในการแข่งขัน

2. Open App Markets Act กฎหมายนี้ได้ห้ามเจ้าของร้านแอปพลิเคชันอย่าง Google และ Apple ไม่ให้บังคับผู้พัฒนาแอปฯ ให้ต้องจำกัดช่องทางชำระเงินอยู่เพียงระบบเดียวของ App Store

แม้ว่าร่างกฎหมายสองฉบับยังคงไม่ผ่านทั้งสองสภา และเผชิญอุปสรรคต่าง ๆ โดยในปัจจุบันอยู่ในช่วงสถานะ “การนำเสนอร่าง” (Introduced) แต่อย่างน้อยก็สะท้อนถึงการริเริ่มปฏิรูปการแข่งขันในตลาดให้เป็นธรรมมากขึ้น

ด้วยแรงกดดันประชาชนที่ต้องการเห็นมาตรการควบคุมยักษ์เทคฯ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน (Joe Biden) จึงได้ผลักดันนโยบายดังกล่าว โดยแต่งตั้งผู้กำกับด้านนี้ใน 3 หน่วยงาน ได้แก่ ทำเนียบรัฐบาล คณะกรรมาธิการการค้าแห่งสหพันธรัฐ (FTC) และกระทรวงยุติธรรม

อีกทั้งเมื่อปี 2564 ไบเดนได้ลงนามคำสั่งของฝ่ายบริหาร (Executive Order) ให้หน่วยงานภาครัฐหันมากำกับการแข่งขันในอุตสาหกรรมให้เกิดความเท่าเทียมมากขึ้น 

ไบเดนกล่าวในพิธีลงนามคำสั่งว่า “ระบบทุนนิยมที่ปราศจากการแข่งขัน ก็ไม่ใช่ทุนนิยม แต่เป็นการหาแต่ประโยชน์”

Apple มองอย่างไรกับการถูกฟ้องครั้งนี้

เฟรด เซนซ์ (Fred Sainz) โฆษกของบริษัท Apple มองว่า “คดีความนี้ได้คุกคามถึงตัวตนของเรา ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทแตกต่างจากคู่แข่งอื่น ๆ อีกทั้งศึกทางกฎหมาย ยังเพิ่มอำนาจรัฐบาลให้เข้าแทรกแซงการออกแบบเทคโนโลยีของเอกชน ซึ่ง Apple ไม่เห็นด้วย ดังนั้นบริษัทพร้อมสู้คดีนี้อย่างจริงจัง”

ดูเหมือนว่าคดีนี้จะไม่ใช่จบได้โดยง่าย เพราะถ้าย้อนดูศึกต่อสู้ระหว่างรัฐบาลสหรัฐที่เคยฟ้องร้อง Microsoft เมื่อช่วงยุค 90 ในกรณีผูกขาดที่คล้ายกัน ต้องใช้เวลากว่า 3 ปีในการหาข้อยุติสำหรับทั้งสองฝ่าย และเพิ่มอีก 4 ปีในชั้นศาลอุทธรณ์จากการที่อัยการระดับมลรัฐไม่พอใจผลไกล่เกลี่ย



อ้างอิง: thevergegallupopenbloombergcongresscongress(1)congress(2),
justicegov