เป็นเขาที่ผูกขาด หรือเธอที่ไม่เคยพอ สรุปเกาเหลา ‘Apple’ VS ‘Spotify’
สรุปเรื่องราวขัดแย้งระหว่าง “Apple” กับ “Spotify” ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร และเหตุผลที่แต่ละฝ่ายอ้างความชอบธรรมเป็นอย่างไรบ้าง
กลายเป็นเรื่องดราม่าขึ้นมา เมื่อ “Apple” (แอปเปิ้ล) เจ้าของ App Store แซะ “Spotify” (สปอติฟาย) แอปฯสตรีมเพลงที่ใหญ่ที่สุดว่า “ไม่รู้จักพอ” เรื่องราวนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อคณะกรรมาธิการยุโรปตัดสินว่า Apple มีความผิดฐานละเมิดกฎหมายต่อต้านการผูกขาด จากการที่ Apple ออกระเบียบบังคับ 2 ข้อสำคัญ ดังนี้
1. ไม่ให้นักพัฒนาแอปฯ แจ้งผู้ใช้งาน iOS ว่า สามารถจ่ายค่าบริการในช่องทางอื่นได้ ไม่ให้เชื่อมโยงระบบชำระเงินไปยังภายนอก และต้องใช้ระบบชำระเงินผ่าน App Store
2. ไม่ให้นักพัฒนาแอปฯ แจ้งผู้ใช้งาน iOS ถึงบริการสมัครสมาชิกเพลงที่ถูกกว่า และมีทางเลือกที่หลากหลายกว่าที่อยู่นอก App Store
คณะกรรมาธิการยุโรปจึงมองว่า การกระทำเช่นนี้คล้ายกับการจำกัดทางเลือกผู้บริโภค และทำให้ผู้ใช้งานจ่ายค่าบริการด้วยราคาสูงเกินความจำเป็น จึงปรับ Apple ด้วยเงิน 1,800 ล้านยูโร หรือราว 70,000 ล้านบาท
Spotify ใช้พื้นที่ Apple แต่ไม่จ่ายค่าตอบแทน
เรื่องคดีที่ตัดสินนี้ เกิดขึ้นจากการที่ Spotify เคยร้องเรียนไปทางคณะกรรมาธิการยุโรปเรื่องการผูกขาดของ Apple ในปี 2562 นั่นจึงทำให้บริษัทผู้ผลิต iPhone รายนี้ไม่พอใจอย่างมาก และกล่าวว่า “Spotify ไม่เคยจ่ายค่าตอบแทนใด ๆ แก่ Apple” แต่ใช้พื้นที่ของบริษัท
เหตุผลที่ Apple กล่าวเช่นนี้ เพราะเมื่อผู้พัฒนาขายแอปฯได้สำเร็จ หรือมีผู้ใช้งานสมัครสมาชิกแอปฯ กิจกรรมที่เกิดขึ้นบน App Store เหล่านี้ ทาง Apple จะเก็บเป็นค่าธรรมเนียมที่ 15-30%
ขณะที่ Spotify แม้มีแอปฯ อยู่ใน App Store ก็จริง แต่ให้ผู้ใช้งานทำธุรกรรมข้างนอก App Store หรือบนเว็บไซต์ของบริษัทแทน ทำให้ Apple ไม่ได้ค่าธรรมเนียมดังกล่าว
Apple กล่าวในแถลงการณ์ถึง Spotify ต่อว่า ทางบริษัทได้ช่วยให้ Spotify เติบโตจนครองส่วนแบ่งตลาด 56% ในยุโรป เพราะ Spotify เหมือนใช้พื้นที่ App Store ในการเข้าถึงลูกค้าที่ใช้ iOS จำนวนมาก ซึ่งข้อมูล Apple ระบุไว้ว่า มีผู้เข้าชม App Store จากทั่วโลกโดยเฉลี่ยต่อสัปดาห์มากกว่า 650 ล้านคน
ไม่เพียงช่วยให้ Spotify เข้าถึงลูกค้าได้ง่าย Apple ยังมีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา พัฒนาระบบให้มีเสถียรภาพ รวมถึงทำให้ Spotify เข้าถึงการใช้งานร่วมกับ Siri, CarPlay, Apple Watch, AirPlay, วิดเจ็ต และอีกมากมายได้อย่างราบรื่น
Apple จะเคารพคณะกรรมาธิการยุโรป แต่ผลการตัดสินในครั้งนี้ไม่มีข้อเท็จจริงสนับสนุน จึงตัดสินใจที่จะยื่นอุทธรณ์ต่อไป
Spotify ชี้ Apple ปิดกั้นการสื่อสารกับลูกค้า
ส่วน Spotify โต้ตอบว่า "Apple ได้ปฏิเสธพวกเราในการสื่อสารกับลูกค้าไม่ว่าจะเป็นวิธีการอัปเกรด ราคาสมัครสมาชิก โปรโมชั่น ส่วนลดพิเศษต่าง ๆ ขณะที่ Apple Music ที่ให้บริการเหมือนกันกลับทำได้"
ไม่ว่าเรื่องราวเกาเหลาเหล่านี้จะจบเช่นไร แต่ที่สำคัญคือ “ผู้บริโภค” คือผู้ชนะ และกำลังได้รับการคุ้มครองมากขึ้น (อย่างน้อยก็ในยุโรป) เมื่อเหล่าบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอย่าง Apple, Google เสิร์ชเอนจินระดับโลก, Amazon อีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ ฯลฯ ที่ดูเหมือนครองเกือบทุกบริการในตลาด กำลังถูกจัดการผ่านกฎหมายต่อต้านการผูกขาดของยุโรปที่เข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ
อ้างอิง: cnbc, apple, apple(2), igeek