บ.ต่างชาติสูญรายได้ 107,000 ล้านดอลล์ หลังถอนธุรกิจจากรัสเซีย

บ.ต่างชาติสูญรายได้ 107,000 ล้านดอลล์ หลังถอนธุรกิจจากรัสเซีย

บ.ต่างชาติอ่วม สูญรายได้ 107,000 ล้านดอลล์ หลังถอนธุรกิจจากรัสเซีย ตอกย้ำว่า ธุรกิจระดับโลกได้รับผลกระทบทางการเงินครั้งใหญ่จากสงครามยูเครน

จากการวิเคราะห์ของรอยเตอร์เกี่ยวกับแถลงการณ์ของบริษัทต่าง ๆ พบว่า การถอนธุรกิจออกจากรัสเซียตั้งแต่ปี 2565 ที่รัสเซียรุกรานยูเครน ทำให้บริษัทต่างชาติสูญรายได้มากกว่า 107,000 ล้านดอลลาร์ และสูญรายได้เพิ่มขึ้นอีก 1 ใน 3 ตั้งแต่เดือน ส.ค. ปีก่อน ตอกย้ำว่าธุรกิจระดับโลกได้รับผลกระทบทางการเงินครั้งใหญ่จากสงครามยูเครน และแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจรัสเซียสูญเสียแรงหนุนจากบริษัทชาติตะวันตกเช่นกัน

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อวันพฤหัสบดี (28 มี.ค.) ว่า ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ผู้เพิ่งชนะเลือกตั้งแบบถล่มทลายนั้น ยังคงดำเนินการหลายอย่างที่ทำให้รัสเซียถูกชาติตะวันตกโดดเดี่ยวมากขึ้นอีก ซึ่งรวมถึงการยึดทรัพย์สินเพิ่มและการสร้างความกดดันทางการเมือง

โดยรัฐบาลมอสโกต้องการกดราคาขายสินทรัพย์ต่างชาติ ให้ต่ำกว่าราคาประเมินในตลาดอย่างน้อย 50% และมีกฎเกณฑ์ในการขายสินทรัพย์เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งตั้งแต่การรัสเซียรุกรานยูเครนจนถึงปีนี้บริษัทเชลล์, เอชเอสบีซี, โพลีเมทัล อินเตอร์เนชันแนล, และYandex NV ได้ประกาศขายทรัพย์สินทั้งหมดแล้วเกือบ 10,000 ล้านดอลลาร์ และมีการลดราคาสินทรัพย์สูงสุดที่ 90%

เมื่อสัปดาห์ก่อน บริษัท Danone เผยว่า ได้รับอนุมัติตามกฎระเบียบให้กำจัดทรัพย์สินของตนเองในรัสเซีย ซึ่งทำให้บริษัทสูญสินทรัพย์ไปทั้งสิ้น 1,300 ล้านดอลลาร์

ตามข้อมูลของนักวิเคราะห์จากสถาบันการจัดการเยล (Yale School of Management) ระบุว่า ปัจจุบัน มีบริษัทมากกว่า 1,000 รายถอนธุรกิจออกจากรัสเซียแล้ว แม้บริษัทต่างชาติอีกหลายร้อยแห่ง เช่น Auchan บริษัทค้าปลีกสัญชาติฝรั่งเศส และเบเนตอง แบรนด์แฟชั่นสัญชาติอิตาลี ยังคงดำเนินธุรกิจหรือธุรกิจยังคงหยุดชะงักอยู่ในรัสเซีย

การตอบโต้ของรัสเซีย

หลังจากรัสเซียรุกรานยูเครน ชาติตะวันตกได้ยึดทรัพย์รัสเซียราว 300,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมีทั้งทองคำและเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ

รัสเซียจึงให้คำมั่นว่าจะตอบโต้ข้อเสนอของคณะกรรมาธิการยุโรปที่แนะให้ใช้กำไรจากสินทรัพย์รัสเซียที่ถูกยึด และเตือนถึงหายนะที่จะตามมา ทั้งยังบอกว่าความพยายามที่จะใช้เงินทุนหรือผลตอบแทนของทรัพย์สินรัสเซียถือเป็น “การโจรกรรม”

“เอียน แมสซีย์” หัวหน้าฝ่ายข่าวกรอง EMEA จาก S-RM ที่ปรึกษาด้านความเสี่ยงระดับโลกบอกว่า “ทรัพย์สินของชาติตะวันตกในรัสเซียไม่มีความปลอดภัยอีกต่อไป ตราบใดที่รัฐบาลเครมลินยังคงเปิดศึกกับรัสเซีย”

ขณะนี้รัสเซียได้เข้าควบคุมสินทรัพย์ของบริษัทตะวันตกชั่วคราวอยู่หลายแห่ง รวมถึงบริษัท Fortum, Carlsberg, OMV และ Uniper ด้านสำนักข่าว RIA ของรัฐบาลรัสเซีย คาดว่า ชาติตะวันตกอาจสูญเสียทรัพย์และการลงทุนอย่างน้อย 288,000 ล้านดอลลาร์ หากรัฐบาลมอสโกต้องการตอบโต้

RIA วิเคราะห์โดยอ้างอิงข้อมูล ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การลงทุนโดยตรงของสหภาพยุโรป (อียู), กลุ่มประเทศ G7, ออสเตรเลีย และสวิตเซอร์แลนด์ในรัสเซียจนถึงสิ้นปี 2565 มีมูลค่าอยู่ที่ 228,000 ล้านดอลลาร์ โดยอียูลงทุนราว 223,300 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่ง 98,300 ล้านดอลลารเป็นการลงทุนของไซปรัส และ50,100 ล้านดอลลาร์เป็นของเนเธอร์แลนด์ ขณะที่เยอรมนีลงทุน 17,300 ล้านดอลลาร์

รอยเตอร์ไม่สามารถยืนยันข้อมูลของ RIA ได้

อย่างไรก็ตาม วิธีตอบโต้ที่แข็งกร้าวของรัฐบาลมอสโก กลับทำร้ายรัสเซียด้วยเช่นกัน

“เจเรมี ซักเกอร์” ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการคว่ำบาตร และประธานฝ่ายปฏิบัติด้านความมั่นคงแห่งชาติ ของสำนักงานกฎหมาย Dechert

ในสหรัฐ บอกว่า ลูกค้าจากหลายอุตสาหกรรมที่เป็นพาร์ตเนอร์กับธุรกิจของเขาจำนวนมาก ตัดสินใจถอนธุรกิจออกจากรัสเซียทั้งหมดอย่างน่าตกใจ และอาจไม่เต็มใจกลับไปทำธุรกิจในรัสเซียอีก แม้สงครามจะสิ้นสุดก็ตาม

ด้วยเหตุนี้ทำให้รัสเซียสูญเสียเทคโนโลยีสำคัญ และประเทศอาจไม่สามารถสนับสนุนการผลิตเทคโนโลยีขั้นสูงได้อีกต่อไป

 

ธุรกิจสำคัญยังอยู่

ตามพระราชกฤษฏีกาปี 2565 ของรัสเซีย ระบุว่า นักลงทุนจากประเทศที่ “ไม่เป็นมิตร” (และประเทศที่คว่ำบาตรรัสเซียต่อการทำสงครามกับยูเครน) ห้ามขายหุ้นในโครงการพลังงานที่สำคัญ รวมถึงหุ้นธนาคาร โดยไม่ได้รับการอนุมัติจากประธานาธิบดี

ขณะที่ผู้ผลิตสินค้าและของใช้ในชีวิตประจำวันยังไม่ได้ถอนธุรกิจออกจากรัสเซีย โดยอ้างว่ารัสเซียต้องใช้ผลิตภัณฑ์ของตนในทุกวันทั้งนี้ บริษัทที่ยังดำเนินธุรกิจในรัสเซีย ได้แก่ เป๊ปซี่, เนสท์เล่, ยูนิลิเวอร์,Auchan,Reckitt, และMondelez International

ส่วน Intesa Sanpaolo กำลังเผชิญกับระบบราชการที่ฉุดให้บริษัทออกจากรัสเซียได้ยาก