‘สหรัฐ - อิสราเอล’ สัมพันธ์ไม่ลงรอย บ่อนทำลายยุทธศาสตร์ไบเดน ในตะวันออกกลาง
ดูเหมือนความสัมพันธ์พิเศษระหว่างสหรัฐกับอิสราเอล จะระหองระแหง เริ่มไม่เป็นประโยชน์ต่อวอชิงตัน เพราะไม่อาจควบคุมเป็นอย่างที่คิด สุ่มเสี่ยงอันตรายต่อสหรัฐและทั่วโลก
เมื่อเร็วๆนี้ ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ประกาศว่า “จะไม่มีทางกลับสู่สถานการณ์ (ตะวันออกกลาง) เหมือนก่อนวันที่ 6 ต.ค.” แต่ ณ เวลานี้ ไบเดนส่งสัญญาณปฏิเสธสถานะที่เรียกว่า “ความสัมพันธ์พิเศษระหว่าง สหรัฐ กับ อิสราเอล” ถ้าหากเกมเปลี่ยน ความสัมพันธ์จะเปลี่ยนแปลงด้วยหรือไม่
สายสัมพันธ์พิเศษสหรัฐ - อิสราเอล
สหรัฐมุ่งมั่นให้การสนับสนุนอิสราเอล ซึ่งมีความสอดคล้องกับนโยบายตะวันออกกลางของสหรัฐ นับตั้งแต่อิสราเอลก่อตั้งประเทศเมื่อปี 1948 ซึ่งประธานาธิบดีจอห์น เอฟ.เคนเนดี เคยให้นิยาม “ความสัมพันธ์พิเศษ” ในปี 1962 ไว้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างวอชิงตันกับรัฐนั้นๆ เทียบเคียงได้กับความสัมพันธ์ที่วอชิงตันมีให้กับอังกฤษ ในกิจการด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโลก
ตัดภาพมาในปี 2013 รองประธานาธิบดีไบเดนแย้งว่า นี่ไม่ใช่แค่ความมุ่งมั่นทางศีลธรรมที่มีมายาวนานเท่านั้น แต่เป็น “ความมุ่งมั่นทางยุทธศาสตร์” ซึ่งการดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหรัฐ ก็เป็นไปตามที่ไบเดนกล่าวไว้ว่า “ถ้าไม่มีอิสราเอล สหรัฐก็ต้องสร้าง(สัมพันธ์)ขึ้นใหม่ ในตะวันออกกลาง”
ถัดมาปี 2020 สมัยประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ สร้างความชัดเจนเพิ่มขึ้น โดยยอมรับว่า “เราไม่จำเป็นต้องอยู่ในตะวันออกกลาง นอกจากต้องการปกป้องอิสราเอล"
ถึงอย่างไร สหรัฐกับอิสราเอลมีความสัมพันธ์ที่ไม่อาจเปรียบเปรยกับประเทศไหนได้ ซึ่งอิสราเอลเป็นประเทศต้นๆ ที่ได้รับความช่วยเหลือทางการทหารจากสหรัฐเป็นจำนวนมาก หรือมากกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์ นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2
วอชิงตันยังคงให้เงินประมาณ 3.8 พันล้านดอลลาร์แก่อิสราเอลต่อปี นอกเหนือจากข้อตกลงด้านอาวุธอื่นๆ และผลประโยชน์ด้านความมั่นคง
ขณะที่ประเทศผู้รับความช่วยเหลือบางรายจากสหรัฐ เช่น อียิปต์และจอร์แดนได้รับเงินจำนวนมาก เพื่อแลกกับความสัมพันธ์มาตรฐานเดียวกับอิสราเอล
แม้ฉากหน้า สิ่งที่สหรัฐจะได้รับตอบแทนจากความสัมพันธ์พิเศษจะยังไม่ชัดเจน แต่การที่สหรัฐเดินหน้าสนับสนุนอย่างไม่ลดละนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความก้าวหน้าของผลประโยชน์สหรัฐ ในตะวันออกกลาง
ก่อนหน้านี้ ส.ว.ลินด์ซีย์ เกรแฮม กล่าวตรงไปตรงมาว่า อิสราเอลเป็นหูเป็นตาให้กับสหรัฐ ในตะวันออกกลาง
ปกป้องผิด ชีวิตเปลี่ยน
แม้สหรัฐกับอิสราเอลจะแบ่งปันข่าวกรองระหว่างกันอยู่บ้าง แต่ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมาที่เกิดในสงครามฉนวนกาซา ได้แสดงถึงผลกระทบ เชิงลบชัดเจนต่อความสัมพันธ์ของสหัฐและอิสราเอล
การที่วอชิงตันโอบกอดอิสราเอลไว้ กลับเป็นการบ่อนทำลายทางยุทธศาสตร์ของตนเองในตะวันออกกลาง ขณะเดียวกันก็ทำลาย ภาพลักษณ์ที่มีต่อประชาคมโลก สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของสหรัฐในการดำเนินนโยบายตะวันออกกลางอย่างชัดเจน
นับเป็นครั้งประวัติศาสตร์ได้เห็นหลายประเทศประสานเสียงรณรงค์ให้ลงโทษอิสราเอลที่โต้กลับโจมตีกาซาอย่างรุนแรง ซึ่งได้คร่าชีวิตคนเป็นจำนวนมาก จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขกาซาระบุว่า ยอดผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการอยู่ที่ประมาณ 32,000 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก
แต่สหรัฐมีท่าทีตรงข้าม โดยลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ ออกมาพูดเมื่อเร็วๆนี้ว่า มีผู้หญิงและเด็กเพียง 25,000 คนถูกสังหาร อันเป็นผลมาจากสงคราม เช่นเดียวกับไบเดนได้กังวลว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตดังกล่าวสูงเกินจริงหรือไม่
ขณะที่คนอื่นๆแย้งว่ายอดผู้เสียชีวิตน่าจะสูงกว่านั้นเสียอีกเนื่องจากการสู้รบเกิดขึ้นต่อเนื่องทำให้นักสำรวจไม่อาจบันทึกข้อมูลคนหลายพันคนได้จริง เพราะไม่ทราบชะตากรรม
โครงสร้างพื้นฐานในเมืองถูกทำลายทั้งระบบ ตลอดจนเกิดความอดอยากและโรคภัยแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ทำให้กาซาตกอยู่ในสถานการณ์เลวร้ายมาก ขณะเดียวกันรัฐบาลสหรัฐ เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ อย่าง ฝรั่งเศส จอร์แดนและอียิปต์กำลังส่งความช่วยเหลือทางอากาศเข้าไปในฉนวนกาซา โดยที่สหรัฐเองก็ได้ส่งทหาร 1,000 นาย เพื่อสร้างท่าเรือนอกชายฝั่งฉนวนกาซา หวังทำลายการปิดล้อมจากอิสราเอล ซึ่งเป็นพันธมิตรของสหรัฐ
อย่างไรก็ตามรัฐบาลของไบเดนยังคงจัดหาอาวุธขั้นสูง กระสุน รถถัง ปืนใหญ่ รวมถึงระเบิด คุณภาพสูงชนิดต่างๆ ให้กับอิสราเอลมากกว่า 100 รายการนับตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา
เมื่อเร็วๆนี้ สหรัฐได้ใช้สิทธิยับยั้งครั้งที่สาม ต่อที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) นับตั้งแต่มีความขัดแย้งเริ่มต้นขึ้น หรืออาจกล่าวได้ว่าสหรัฐเป็นประเทศเดียวที่ขัดขวางมติ UNSC เรียกร้องให้มีการหยุดยิงเพื่อมนุษยธรรมโดยทันที
นอกจากนี้ สหรัฐยังมีเงินช่วยเหลือทางทหารที่เพิ่งผ่านการพิจารณาวุฒิสภาให้กับอิสราเอลอีก 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์
ไบเดน ดำเนินนโยบายย้อนแย้ง
การดำเนินนโยบายสหรัฐที่ดูไม่สอดคล้องสถานการณ์กับทิศทางกระแสเสียงของโลก ไม่เพียงเป็นอุปสรรคต่ออำนาจของไบเดนเท่านั้น แต่ยังผูกมัดวอชิงตันกับนโยบายใดก็ตาม ภายใต้รัฐบาลขวาจัดของนายกรัฐมนตรีอิสราเอล เบนจามิน เนทันยาฮู
เป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจได้ว่าสงครามครั้งนี้จะไม่เลวร้ายลงอีก หากแต่ตัวชี้วัดทั้งหมดตอนนี้บ่งบอกไปในทิศทางเดียวกัน ตามที่อิสราเอลยืนยันว่า จะรุกคืบเข้าสู่เมืองราฟาห์ ทางตอนใต้ของฉนวนกาซา แม้ว่าสหรัฐจะคัดค้านก็ตาม เนื่องจากเมืองนั้นมีชาวปาเลสไตน์มากกว่า 1.5 ล้านคนหรือเกินกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรในกาซาที่หนีไปแล้ว
รัฐบาลไบเดนต่อต้านการรุกรานเมืองราฟาห์ เพราะอิสราเอลไม่มีแผนให้มั่นใจได้ว่า จะไม่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของพลเรือนในกาซาซึ่งไบเดนได้ให้สัมภาษณ์กับเอ็นเอสเอ็นเอ็นบีซีเกี่ยวกับ การล้ำเส้นแดงอันตราย ในปฏิบัติการทางทหารในฉนวนกาซา
โดยไบเดนกล่าวว่า เราไม่สามารถทำให้ชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตได้อีก 30,000 คน แต่จากนั้นเขาก็พูดขึ้นทันทีว่า การปกป้องอิสราเอลก็ยังคงมีความสำคัญ ดังนั้นจึงไม่กำหนดเส้นแดงอันตราย
นับถอยหลัง เนทันยาฮู เรืองอำนาจ
ในอีกด้านหนึ่ง อิสราเอลไม่ได้แสดงให้เห็นถึงกลยุทธ์ทางการเมืองในระยะยาวที่มีต่อฉนวนกาซา นอกเหนือจากการทำลายวงล้อมของกลุ่มฮามาส และสังหารพลเรือนในฉนวนกาซาไปจำนวนมาก
ขณะเดียวกันมีเนทันยาฮูต้องเผชิญกับการสูญเสียเสียงผู้สนับสนุนเป็นประวัติการณ์ และยังมีผู้ประท้วงอีกมาก เรียกร้องให้จัดเลือกตั้งล่วงหน้า นี่เป็นสัญญาณเหมือนจะรู้ว่าเวลาที่เนทันยาฮูอยู่ในอำนาจกำลังจะหมดลง
ตอนนี้ดูเหมือน ไบเดนจะ "ไม่สามารถหรือไม่เต็มใจ" ใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์พิเศษกับอิสราเอล รวมไปถึง “ไม่อาจโน้มน้าวใจเนทันยาฮู” ซึ่งก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีอิสราเอลเคยอวดอ้างความสามารถในการดีลความสัมพันธ์กับสหรัฐ
สงครามจะไปต่อ หรือหยุดชั่วคราว
เริ่มมีข้อมูลรั่วไหลจากทำเนียบขาวเกี่ยวกับ “ความไม่พอใจ” ของไบเดนต่อเนทันยาฮู “เพิ่มมากขึ้น” ขณะที่การเมืองในสหรัฐเอง ก็เริ่มมีเสียงสนับสนุนความต้องการให้หยุดการต่อสู้ชั่วคราวระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสมากขึ้น
เมื่อกลาง มี.ค.ที่ผ่านมา "ชัค ชูเมอร์" ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภาสหรัฐ ได้ประณามเนทันยาฮูต่อสาธารณะอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนว่า “เนทันยาฮูกำลังนำพาอิสราเอลหลงทาง” พร้อมเรียกร้องให้อิสราเอลเลือกตั้งใหม่
ท่ามกลางการจับตาท่าทีสหรัฐว่า เริ่มไม่พอใจอิสราเอลไม่ยอมโอนอ่อนผ่อนตามกระแสประชาคมโลก ล่าสุดก็มีสัญญาณบวกเกิดขึ้น ทำเนียบนายกรัฐมนตรีอิสราเอลแถลงในวันศุกร์(29มี.ค.)ว่า นายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล อนุมัติให้อิสราเอลเข้าร่วมการเจรจาหยุดยิงรอบใหม่ที่จะจัดขึ้นในกรุงโดฮาและกรุงไคโรแล้ว หลังจากที่การเจรจาได้หยุดชะงักก่อนหน้านี้
ข่าวนี้มีขึ้น หลังจากที่นายเนทันยาฮูตกลงที่จะส่งคณะเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอิสราเอลเดินทางไปยังสหรัฐ หลังจากที่ได้ตัดสินใจยกเลิกการเดินทางดังกล่าวก่อนหน้านี้ เนื่องจากไม่พอใจต่อการที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ผ่านมติเรียกร้องให้มีการหยุดยิงในฉนวนกาซา
อย่างไรก็ตาม การพูดปากเปล่า โดยไม่ลงมือทำจริง ก็ไม่อาจดำเนินการใดๆ สำเร็จได้
ที่มา : ForeignPolicy