สัมพันธ์ตึงเครียดจีน-สหรัฐ หนุน"มาเลย์"เป็นฐานผลิตชิป
มาเลเซียมีส่วนแบ่งในตลาดบริการบรรจุ ประกอบ และทดสอบชิป อยู่ประมาณ 13% ของทั้งโลก แม้ปี 2566 ทั่วโลกจะมีความต้องการชิปค่อนข้างซบเซา
ท่ามกลางความพยายามของหลายประเทศที่จะลดการพึ่งพาชิป เพื่อเพิ่มทางเลือกและสร้างความคล่องตัวแก่ระบบซัพพลายเชนโลก ประกอบกับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและจีนเลวร้ายลงเรื่อยๆจากปัญหาชิป มาเลเซียก็ก้าวขึ้นมาเป็นฮอทสปอทสำหรับบริษัทผลิตเซมิคอนดักเตอร์โลก
ช่วง 5 ปีมานี้ ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ชั้นนำของโลกอย่าง อินเทล, โกลบอลฟาวด์ดรีส์และอินฟินีออน ต่างเข้าไปตั้งฐานการผลิต หรือไม่ก็ขยายกำลังการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในมาเลเซีย
“ประมาณ 50 ปีมานี้ โครงสร้างพื้นฐานของมาเลเซียได้รับการปรับปรุงดีขึ้นมาก โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตเซมิคอนดักเตอร์,การประกอบ,การทดสอบและการบรรจุ”เคนดริก ชาน จากกลุ่มนักคิดด้านนโยบายต่างประเทศของ LSE กล่าว
สำนักข่าวซีเอ็นบีซี รายงานว่า เซมิคอนดักเตอร์เป็นส่วนประกอบสำคัญที่พบได้ในทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ตโฟนไปจนถึงรถยนต์ โดยเป็นประเด็นพิพาทร้อนแรงในสงครามเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐกับจีน
บริษัทชิปจากสหรัฐประกาศการลงทุนหรือไม่ก็เปิดศูนย์การดำเนินงานใหม่ในมาเลเซียไปบ้างแล้ว อย่างกรณี อินเทล ประกาศไว้ตั้งแต่เมื่อเดือนธ.ค. ปี 2564 ว่าจะลงทุนกว่า 7 พันล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างโรงงานบรรจุและทดสอบชิปในมาเลเซีย และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการผลิตได้ในปีนี้
ส่วนโกลบอลฟาวด์ดรีส์ บริษัทผู้ผลิตชิปรายใหญ่อีกรายในสหรัฐ เปิดศูนย์การดำเนินงานในปีนังเมื่อเดือนก.ย.ที่ผ่านมา เพื่อสนับสนุนการดำเนินการผลิตทั่วโลก ควบคู่ไปกับโรงงานในสิงคโปร์ สหรัฐ และยุโรป
ด้านบริษัทอินฟินีออน ผู้ผลิตชิปจากเยอรมนี ประกาศเมื่อเดือนก.ค. 2565 ว่า บริษัทมีแผนสร้างศูนย์ผลิตชิปวงจรรวม (wafer fabrication) ที่เมืองคูลิมในรัฐเคดาห์ของมาเลเซีย ส่วนนิวเวย์ส (Neways) ซัพพลายเออร์หลักของบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ชิปจากเนเธอร์แลนด์อย่างอาเอสเอ็มเอล (ASML) ประกาศเมื่อเดือนที่ผ่านมาว่าจะสร้างโรงงานผลิตแห่งใหม่ในเมืองกลัง
“หยิงลัน ตัน” หุ้นส่วนผู้จัดการและผู้ก่อตั้งอินซิกเนีย เวนเจอร์ส พาร์ตเนอร์ส (Insignia Ventures Partners) กล่าวกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีว่า “มาเลเซียมีข้อได้เปรียบมาโดยตลอดในเรื่องแรงงานที่มีทักษะในการบรรจุ ประกอบ และทดสอบ แถมยังมีต้นทุนในการดำเนินงานที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับที่อื่น ทำให้มาเลเซียสามารถส่งออกโดยมีศักยภาพทางการแข่งขันที่ดีกว่า” นอกจากนี้ ค่าเงินริงกิตของมาเลเซียยังทำให้มาเลเซียดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้ด้วย
ทั้งนี้ หน่วยงานพัฒนาการลงทุนแห่งมาเลเซียเปิดเผยว่า มาเลเซียมีส่วนแบ่งในตลาดบริการบรรจุ ประกอบ และทดสอบชิป อยู่ประมาณ 13% ของทั้งโลก โดยแม้ปี 2566 ทั่วโลกจะมีความต้องการชิปค่อนข้างซบเซา แต่มาเลเซียก็ส่งออกอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์และวงจรรวมได้เพิ่มขึ้น 0.03% แตะ 8.14 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
นอกจากชาติตะวันตกอย่างสหรัฐแล้ว ประธานสมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์มาเลเซียเปิดเผยว่า บริษัทชิปจีนหลายแห่งก็เลือกมาเลเซียเป็นที่ตั้งโรงงานผลิตชิปด้วยเช่นกัน
ความเคลื่อนไหวเชิงกลยุทธ์นี้ตอกย้ำความมุ่งมั่นของจีนในการเพิ่มความสามารถพึ่งพาตนเองของเซมิคอนดักเตอร์ในภาคเทคโนโลยีที่สำคัญ ด้วยการเติบโตอย่างรวดเร็ว การลงทุนที่สำคัญ และความคิดริเริ่มที่ทะเยอทะยานของรัฐบาล บริษัทเซมิคอนดักเตอร์ของจีนกำลังท้าทายมากขึ้นทั้งต่อเกาหลีใต้ ไต้หวัน และสหรัฐ
จีน เป็นผู้บริโภคเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่สุดของโลก คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 50% ของการซื้อชิปทั่วโลก อุตสาหกรรมเทคโนโลยีในประเทศขนาดใหญ่ขับเคลื่อนความต้องการนี้
ส่วนการผลิต จีนเป็นผู้ผลิตชิปรายใหญ่ แต่ตามหลังเทคโนโลยีชิปขั้นสูงเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐ เกาหลีใต้ และไต้หวัน แต่จีนกำลังเพิ่มกำลังการผลิตในประเทศอย่างรวดเร็ว โดยมีเป้าหมายเพื่อการพึ่งตนเอง ความทะเยอทะยานนี้ได้รับแรงหนุนจากการลงทุนที่สำคัญของรัฐบาลและการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับห่วงโซ่คุณค่าทางเทคโนโลยี
ขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงการลงทุน การค้า และอุตสาหกรรมของมาเลเซีย เปิดเผยกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีว่า มาเลเซียมีแผนมุ่งเน้นการผลิตชิปในส่วนหน้า (front end) มากขึ้น ซึ่งการผลิตส่วนหน้าหมายถึงการผลิตชิปวงจรรวมและกระบวนการโฟโตลิโทกราฟี (photolithography) จากเดิมที่เน้นการผลิตในส่วนหลังอย่างการบรรจุและประกอบ
อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ทวิภาคีที่ร้าวลึกระหว่างสหรัฐและจีน ที่นำมาสู่การคว่ำบาตรจีน ทำให้อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของจีน เตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญด้วยความทะเยอทะยานที่จะสนับสนุนการผลิตในประเทศ และตั้งเป้าลดการพึ่งพาอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ นำเข้าลงอย่างมาก 70-80% ภายในสิ้นปีนี้