AI แจ้งเกิด 9 มหาเศรษฐีหน้าใหม่ 2567 ‘แซม อัลท์แมน’ รวยรั้งท้าย
Forbes จัดอันดับ 9 มหาเศรษฐีใหม่แจ้งเกิดเพราะกระแส AI ปี 2567 หลัง ChatGPT ออกมาได้ไม่นาน ไม่ได้มีแค่ “เจนส์ หวง” จาก Nvidia แต่ยังมีเหล่าเจ้าพ่อเทคโนโลยีร่ำรวยเพราะบริษัทอยู่ในวงการ AI ที่โตขึ้นแบบก้าวกระโดด
ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ทำให้มูลค่าของทั้งบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จากทั้งราคาหุ้น รายได้ และกำไร ส่งผลให้เหล่าเจ้าพ่อเทคโนโลยีร่ำรวยขึ้นไปอีก
เว็บไซต์นิตยสารฟอร์บส (Forbes) เปิดเผยการจัดอันดับมหาเศรษฐีหน้าใหม่จำนวน 9 คน ที่แจ้งเกิดในวงการ AI หลังผ่านไปเพียงปีครึ่งที่ ChatGPT ประกาศความพิเศษให้โลกรู้ จน AI กลายเป็นสิ่งที่คนทั่วโลกพูดถึง ในวันที่จะเป็น "ยุคทองของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่กำลังมาแรง”แบบเต็มขั้น
“เจนส์ หวง” ผู้จุดประกายยุคทอง AI
จาก เจนส์ หวง ผู้ร่วมก่อตั้งและ CEO ของ Nvidia เป็นตัวอย่างเด่นชัดที่สุดเห็นได้ เพราะราคาหุ้นของ Nvidia พุ่งสูงขึ้นเกือ 300% ในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เขาติดอันดับ 20 คนที่รวยที่สุดในโลกเป็นครั้งแรก (อยู่ในอันดับที่ 20) ซึ่งบริษัทอื่น ๆ อีกหลายแห่งก็ได้อาศัยพลังแห่ง AI จนแจ้งเกิดเศรษฐีใหม่ในกลุ่มธุรกิจนี้ที่เราอาจไม่เคยได้ยินมาก่อน
Super Micro Computer ผู้ผลิตเซิร์ฟเวอร์ที่รองรับแอปพลิเคชัน AI ที่ใครจะไปรู้ว่าราคาหุ้นพุ่งขึ้นกว่า 10 เท่า สูงกว่า Nvidia เสียด้วยซ้ำ และมากกว่าบริษัทใด ๆ ในดัชนี S&P 500 ส่งผลให้ผู้ก่อตั้งร่วมสามีภรรยา ชาลส์ เหลียง และ ซาร่า หลิว กลายเป็นมหาเศรษฐีหน้าใหม่
ลิซ่า ซู CEO ของบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ Advanced Micro Devices (AMD) คู่แข่งคนสำคัญของ Nvidia ก็ได้ก้าวเข้าสู่กลุ่มมหาเศรษฐีในปีนี้เช่นกัน เนื่องจากราคาหุ้นของ AMD เพิ่มขึ้น 120%
บริษัทปัญญาประดิษฐ์ (AI) เอกชนก็ประสบความสำเร็จเช่นกัน โดยตัวเลขการระดมทุนของบริษัทสตาร์ทอัพที่เน้น AI ในปีที่แล้วสูงถึง 5 หมื่นล้านดอลลาร์ เงินทุนจำนวนมากสำหรับบริษัท AI เอกชนส่วนหนึ่งมาจากยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีดั้งเดิมอย่าง Microsoft, Amazon และ Alphabet ซึ่งหวังที่จะชนะใน สนามรบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่กำลังดุเดือด
ทั้งนี้ยังไม่มีใครบอกได้แน่ชัดว่า ฟองสบู่ของวงการ AI จะแตกหรือเงินทุนจะเหือดแห้งลงเมื่อไหร่ แต่ก็เริ่มมีสัญญาณเตือนบางอย่าง “Inflection AI” บริษัทที่ร่วมก่อตั้งโดยนักลงทุนมหาเศรษฐี Reid Hoffman ยุติการพัฒนาแชทบอทของบริษัท และผู้ร่วมก่อตั้งอีกสองคนพร้อมนักวิจัยคนอื่น ๆ ลาออกไปทำงานด้าน AI ที่ Microsoft ในเดือนมีนาคม
9 มหาเศรษฐีหน้าใหม่จากวงการ AI
1.ชาลส์ เหลียง (Charles Liang)
- มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 6.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
- แหล่งที่มาของความร่ำรวย: ฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์
- ประเทศ: สหรัฐอเมริกา
ชาลส์ เหลียง ร่วมก่อตั้งบริษัทโครงสร้างพื้นฐานไอที (IT infrastructure) อย่าง ซูเปอร์ไมโครคอมพิวเตอร์ (Super Micro Computer) ปัจจุบันเซิร์ฟเวอร์และระบบจัดเก็บข้อมูลของบริษัทเป็นที่ต้องการอย่างมากในกลุ่มบริษัทด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) และคลาวด์คอมพิวติ้ง
ทำให้รายได้ของ Super Micro ทำสถิติสูงสุดที่ 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีงบประมาณ 2566 และราคาหุ้นพุ่งสูงขึ้นกว่า 1,100% ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา แซงหน้าแม้กระทั่งบริษัทพาร์ทเนอร์ผู้ผลิตชิปของตัวเองอย่าง Nvidia, Intel และ AMD รวมทั้งซาร่า หลิว ภรรยาของชาลส์ เหลียง ดำรงตำแหน่งรองประธานอาวุโสที่ Super Micro และเป็นมหาเศรษฐีหน้าใหม่เช่นเดียวกัน
2. กวัก ดงชิน (Kwak Dong Shin)
- มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 2.9 พันล้านดอลลาร์
- แหล่งที่มาของความมั่งคั่ง: เซมิคอนดักเตอร์
- ประเทศ: เกาหลีใต้
ชิน ดำเนินธุรกิจ “ฮันมิ เซมิคอนดักเตอร์” (Hanmi Semiconductor) ผลิตอุปกรณ์ที่ใช้ในบรรจุภัณฑ์เซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในขั้นตอนสุดท้ายของการผลิตชิป โดยมีหนึ่งในลูกค้าหลัก คือ Samsung Electronics และ SK Hynix ธุรกิจกำลังเฟื่องฟูเนื่องมาจากความนิยมของ AI โดยมีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นมากกว่า 560% ในปีที่ผ่านมา
3.ชุนซากุ ซากามิ (Shunsaku Sagami )
- มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 1.9 พันล้านดอลลาร์
- แหล่งที่มาของความมั่งคั่ง: นายหน้า M&A
- ประเทศ: ญี่ปุ่น
สถาบันวิจัย M&A ทำหน้าที่เป็นตัวกลางจับคู่ระหว่างผู้ขายธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMBs) กับผู้ซื้อที่เหมาะสม สถาบันฯ ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อค้นหาผู้ซื้อที่มีศักยภาพสำหรับธุรกิจเหล่านี้
4.อีวาน จ้าว (Ivan Zhao)
- มูลค่าสุทธิ: 1.5 พันล้านดอลลาร์
- แหล่งที่มาของความมั่งคั่ง: แนวคิด
- ประเทศ: สหรัฐอเมริกา
โดยอีวาน จ้าว และ ไซมอน แลสต์ ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของ Notion บริษัทสตาร์ทอัพซอฟต์แวร์ด้าน productivity ได้ตัดสินใจที่จะเลิกจ้างพนักงานทั้งหมดและย้ายไปประเทศญี่ปุ่น แต่กลับมาเติบโตอีกครั้ง ปัจจุบัน Notion เป็นหนึ่งในบริษัทสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก มีมูลค่ากว่า 5 พันล้านดอลลาร์ โดยมีรายได้ประมาณ 250 ล้านดอลลาร์
5.เบร็ตต์ แอดค็อก (Brett Adcock)
- มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 1.4 พันล้านดอลลาร์
- แหล่งที่มาของความมั่งคั่ง: หุ่นยนต์
- ประเทศ: สหรัฐอเมริกา
แมทธิว แอดค็อค ก่อตั้งฟิกเกอร์(Figure)ในปี 2565 มุ่งมั่นพัฒนา "หุ่นยนต์อเนกประสงค์แบบมนุษย์" ที่ขับเคลื่อนด้วย AI เพื่อนำหุ่นยนต์มาสู่กำลังแรงงาน ในเดือนกุมภาพันธ์ บริษัทระดมทุนได้ 675 ล้านดอลลาร์จากนักลงทุนรายใหญ่ ซึ่งรวมถึงรวมถึง Jeff Bezos, Microsoft, Nvidia และ OpenAI ซึ่งแอดค็อค วัย 37 ปี ถือหุ้นประมาณ 50%
6.ลิซ่า ซู (Lisa Su)
- มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 1.3 พันล้านดอลลาร์
- แหล่งที่มาของความมั่งคั่ง: เซมิคอนดักเตอร์
- ประเทศ: สหรัฐอเมริกา
ลิซ่า ซู ซีอีโอของ แอดวานซ์ ไมโคร ดีไวซ์ (Advanced Micro Devices ) หรือ AMD นำพาบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ที่กำลังดิ้นรนให้กลายเป็นผู้เล่นหลักในอุตสาหกรรม AI ภายใต้การนำของเธอ หุ้นของ AMD พุ่งขึ้นมากกว่า 60 เท่า นับตั้งแต่เธอเข้ารับตำแหน่งในปี 2557
7.มิเชล แซตลิน (Michelle Zatlyn)
- มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 1.2 พันล้านดอลลาร์
- แหล่งที่มาของความมั่งคั่ง: ความปลอดภัยทางไซเบอร์
- ประเทศ: แคนาดา
คลาวด์แฟลร์(Cloudflare) บริษัทรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ชั้นนำจากซานฟรานซิสโก กำลังใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อปกป้องลูกค้าของตนและขัดขวางการโจมตีทางไซเบอร์
8.แซม อัลท์แมน (Sam Altman)
- มูลค่าสุทธิ: 1 พันล้านดอลลาร์
- แหล่งที่มาของความมั่งคั่ง: การลงทุน
- ประเทศ: สหรัฐอเมริกา
แซม อัลต์แมน อดีต CEO ของ OpenAI เป็นผู้จุดประกายการปฏิวัติ AI ด้วยการเปิดตัว ChatGPT ในปี 2565 แต่เขาไม่ได้ถือหุ้นใน OpenAI ซึ่งปัจจุบันคาดว่าจะมีมูลค่ากว่า 8 หมื่นล้านดอลลาร์
แทนที่จะรวยจาก OpenAI แต่อัลต์แมนกลับมีรายได้จากการลงทุนที่ชาญฉลาดในอดีต ที่เคยเป็นประธานของ Y Combinator ศูนย์บ่มเพาะสตาร์ทอัพชื่อดัง ในช่วงปี 2557 ซึ่งได้ลงทุนในบริษัทหลายแห่ง จนตอนนี้กลายเป็นบริษัทมหาชนมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ เช่น Stripe แพลตฟอร์มการชำระเงินออนไลน์, Reddit เว็บไซต์ข่าวสังคมออนไลน์ และ Helion สตาร์ทอัพพลังงานนิวเคลียร์ฟิวชัน
9.ฮาร์วีย์ โจนส์( Harvey Jones)
- มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 1 พันล้านดอลลาร์
- แหล่งที่มาของความมั่งคั่ง: Nvidia
- ประเทศ: สหรัฐอเมริกา
โจนส์ เป็นนักลงทุนและผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์ยาวนานในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ซึ่งเป็นสมาชิกคณะกรรมการผู้ก่อตั้งของ Nvidia
ปัจจุบันโจนส์ถือหุ้น Nvidia อยู่ที่ 0.03% แม้จะดูเป็นจำนวนน้อยแต่ด้วยการพุ่งทะยานของราคาหุ้น Nvidia ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 300% ในปีที่ผ่านมา ทำให้โจนส์กลายเป็นหนึ่งในผู้รับผลประโยชน์ที่ใหญ่ที่สุดจากการลงทุนในบริษัท