‘เกรงใจจีนลูกค้าเบอร์ 1’ จับตารัฐบาลไบเดน กล้าคว่ำบาตรน้ำมันอิหร่านหรือไม่
นักวิเคราะห์คาด รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ ไม่น่าคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันของอิหร่านอย่างรุนแรง เพื่อตอบโต้การโจมตีอิสราเอล ด้วยกังวลว่าหนุนให้ราคาน้ำมันแพงขึ้น ทั้งยังจะสร้างความไม่พอใจให้กับลูกค้าเบอร์หนึ่งอย่างจีน
สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงาน ไม่นานหลังจากรัฐบาลเตหะรานตอบโต้เอาคืนอิสราเอลเมื่อวันเสาร์ (13 เม.ย.) ผู้นำพรรครีพับลิกันในสภาผู้แทนราษฎรพากันกล่าวหาประธานาธิบดีโจ ไบเดน ว่าล้มเหลวในการบังคับใช้มาตรการที่มีอยู่ โดยสัปดาห์นี้พวกเขาจะผ่านร่างกฎหมายหลายฉบับคว่ำบาตรอิหร่านให้รุนแรงยิ่งขึ้น
นายสตีฟ สกาลีซ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวกับฟ็อกซ์นิวส์ เมื่อวันอาทิตย์ (14 เม.ย.) ว่า รัฐบาลทำให้อิหร่านขายน้ำมันได้ง่ายขึ้น สร้างรายได้ที่นำมาใช้เป็น “ทุนทำกิจกรรมของผู้ก่อการร้าย”
แรงกดดันทางการเมืองให้ลงโทษอิหร่านกลายเป็นปัญหาย้อนแย้งสำหรับรัฐบาลไบเดน กล่าวคือจะป้องกันไม่ให้การโจมตีดังกล่าวเกิดขึ้นอีกในอนาคตได้อย่างไร โดยไม่ทำให้ความตึงเครียดในภูมิภาคบานปลาย ไม่ทำให้น้ำมันแพงขึ้น หรือสร้างความขุ่นเคืองให้กับจีน ผู้ซื้อน้ำมันอิหร่านรายใหญ่สุด
รัฐบาลวอชิงตันพูดมาหลายเดือนแล้วว่า เป้าหมายแรกของสหรัฐคือทำให้ความขัดแย้งในกาซาจำกัดวงแค่ฮามาสกับอิสราเอล ไม่ยกระดับเป็นสงครามในภูมิภาค ซึ่งนั่นหมายถึงการกีดกันไม่ให้อิหร่านมาร่วมวง
นักวิเคราะห์หลายคนไม่แน่ใจว่า ประธานาธิบดีไบเดนจะใช้มาตรการสำคัญใดๆ เพิ่มเติมจากการคว่ำบาตรที่มีอยู่เพื่อเล่นงานการส่งออกน้ำมันอิหร่านซึ่งเป็นเส้นเลือดสำคัญหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจ
“ต่อให้ร่างกฎหมายเหล่านี้ผ่าน ก็ยากที่จะเห็นรัฐบาลไบเดนกระทำการรุนแรง เพื่อพยายามดำเนินการหรือบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรที่มี หรือออกมาตรการใหม่เพื่อตัดหรือควบคุม (การส่งออกน้ำมันอิหร่าน) อย่างจริงๆ จังๆ” สก็อต โมเดล อดีตซีไอเอ ปัจจุบันเป็นซีอีโอ Rapidan Energy Group กล่าว
- มาตรการคว่ำบาตรเวิร์ก-ไม่เวิร์ก
อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ใช้มาตรการคว่ำบาตรน้ำมันอิหร่านอีกครั้งในปี 2561 หลังสหรัฐถอนตัวจากข้อตกลงนานาชาติว่าด้วยโครงการนิวเคลียร์ของเตหะราน
รัฐบาลไบเดนพยายามเล่นงานบริษัทในจีน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอื่นๆ ที่หลบเลี่ยงมาตรการ
แม้มีความพยายามเหล่านั้น แต่ Rapidan ประเมินว่า แต่ละวันอิหร่านส่งออกน้ำมันทะลุ 1.6-1.8 ล้านบาร์เรล ไม่รวมคอนเดนเสท หรือน้ำมันมวลเบามากที่ก่อนถูกคว่ำบาตรอิหร่านเคยส่งออกถึงวันละเกือบ 2 ล้านบาร์เรล
ผลกระทบต่อราคาน้ำมันนี่เองเป็นเหตุผลหนึ่งทำให้ไบเดน จากพรรคเดโมแครต อาจไม่อยากควบคุมการส่งออกน้ำมันของอิหร่านรุนแรงนัก
คิมเบอร์ลีย์ โดโนแวน ผู้เชี่ยวชาญด้านการคว่ำบาตรและต่อต้านการฟอกเงิน กลุ่มคลังสมองสภาแอตแลนติก กล่าวว่า มาตรการคว่ำบาตรเกี่ยวข้องกับน้ำมัน ไม่ได้ถูกบังคับใช้อย่างเข้มงวดในช่วงสองปีที่ผ่านมา
“ดิฉันไม่คาดว่า รัฐบาลจะบังคับใช้มาตรการเข้มงวดขึ้นรับมืออิหร่านใช้ขีปนาวุธและโดรนโจมตีอิสราเอลเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ ส่วนใหญ่กังวลกันว่า (นั่น) อาจทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น ราคาน้ำมันที่สุดท้ายแล้วก็คือราคาในปั๊มสำคัญมากในปีของการเลือกตั้ง”
ด้านโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ กล่าวว่า รัฐบาลไบเดนไม่ได้ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรใดๆ ต่ออิหร่าน ยังเดินหน้าเพิ่มแรงกดดันต่อไป
- จีนลูกค้าเบอร์ 1 น้ำมันอิหร่าน
การบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรอย่างแข็งกร้าวอาจทำลายเสถียรภาพสหรัฐ-จีนได้เช่นกัน ซึ่งทางการจีนและสหรัฐ พยายามปรับปรุงหลังจากร้าวฉานเมื่อสหรัฐยิงโดรนต้องสงสัยสอดแนมของจีนตกขณะเข้ามาในดินแดนสหรัฐ
รอยเตอร์สรายงานว่า น้ำมันอิหร่านเกือบทั้งหมดที่เข้าไปในจีน ระบุว่ามาจากมาเลเซียหรือประเทศตะวันออกกลาง บรรทุกโดยเรือบรรทุกน้ำมันเก่าที่เรียกว่า “กองเรือมืด” ปิดเครื่องรับสัญญาณตอนขนถ่ายน้ำมัน ณ ท่าเรืออิหร่านเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจจับ
Vortexa Analytics ผู้เชี่ยวชาญด้านการติดตามเรือบรรทุกน้ำมัน ประเมินว่า ปี 2566 จีนต้องการน้ำมันดิบอิหร่านวันละ 1.11 บาร์เรล หรือราว 90% ที่อิหร่านส่งออก และ 10% ที่จีนนำเข้า
นักวิเคราะห์บางคนมองว่า รัฐบาลวอชิงตันอาจกระทำการบางอย่างตัดการส่งออกน้ำมันของอิหร่านส่วนหนึ่งเพื่อลดการตอบโต้จากอิสราเอลต่อการโจมตีของอิหร่านซึ่งทำให้ความขัดแย้งยกระดับ แต่จะไม่มีการกระทำใหญ่โต อาทิ คว่ำบาตรสถาบันการเงินใหญ่ของจีน โดยอาจจะพุ่งเป้าไปยังบริษัทจีนหรือชาติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการค้าน้ำมันดังกล่าวมากกว่า
“ถ้าคุณอยากเล่นงานการส่งออกน้ำมันของอิหร่าน แน่นอนคุณต้องลงมือจริงจังกับจีน คุณอยากเล่นงานแบงก์ใหญ่จริงเหรอ คุณจะทำสิ่งที่รัฐบาลหรือแม้แต่รัฐบาลทรัมป์ไม่ทำงั้นเหรอ?” แหล่งข่าววงในรายหนึ่งตั้งคำถาม
จอน อัลเตอร์แมน นักวิเคราะห์ตะวันออกกลางจากศูนย์เพื่อยุทธศาสตร์และการต่างประเทศศึกษา กล่าวว่า การคว่ำบาตรของวอชิงตันมีข้อจำกัด และคนที่ละเมิดก็พยายามหาช่องโหว่
“ผมอยากเห็นท่าที (ออกมาตรการ) ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจอิหร่าน แต่ผมไม่คาดว่าทำเนียบขาว หรือรัฐบาลใดๆ ในอนาคตจะสามารถปิดท่อน้ำมันอิหร่านได้อย่างสิ้นเชิง” อัลเตอร์แมนสรุป