‘เงินเยนอ่อนค่า’ ต่างชาติแห่ชอปปิงในญี่ปุ่น เหตุแบรนด์หรูถูกเหมือนลดราคา
เนื่องจากเงินเยนอ่อนค่าและแบรนด์หรูไม่ปรับขึ้นราคาตามค่าเงินที่เปลี่ยนแปลง จึงเปิดโอกาสให้นักชอปสินค้าลักซ์ชัวรีหลั่งไหลไปชอปปิงในญี่ปุ่น เพราะเหมือนซื้อมือหนึ่งในราคาที่ถูกกว่า!
เงินเยนอ่อนค่า และแบรนด์ระดับพรีเมียมไม่ปรับราคาสินค้าขึ้นตามค่าเงินที่เปลี่ยนแปลงไป สินค้าหรูในญี่ปุ่นจึงมีราคาถูกมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ เสมือนซื้อของแบบลดราคา ซึ่งโอกาสดี ๆ ที่ไม่มีบ่อย ๆ แบบนี้ นักชอปแบรนด์หรูทั่วโลกต่างหลั่งไหลไปชอปปิงในญี่ปุ่นเพียบ!
สำนักข่าวบลูมเบิร์กยกตัวอย่าง นาฬิกาข้อมือแบรนด์แทค ฮอยเออร์ (TAG Heuer) คอลเล็กชัน Carrera ในญี่ปุ่น แบบปลอดภาษี 10% มีราคาราว 5,087 ดอลลาร์ (1.87 แสนบาท) ถูกกว่าในนิวยอร์ก 1,350 ดอลลาร์ โดยในนิวยอร์กมีราคาอยู่ที่ 6,450 ดอลลาร์ (2.37 แสนบาท)
ราคาที่แตกต่างกันนี้ จึงดึงดูดนักชอปจากทั่วโลกแห่ไปชอปปิงในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งบางคนถึงขั้นอยากขายสินค้าหรูของตนเองเพื่อให้ได้กำไร และไม่มีได้มีเพียงสินค้าใหม่ที่ถูกกว่าประเทศอื่นเท่านั้น แต่สินค้าราคาถูกที่เหมือนลดราคานี้ พบเห็นได้ในร้านค้าจำหน่ายสินค้าหรูมือสองหลายแห่งด้วย
“ดาวน์ โจนส์” อินฟลูเอ็นเซอร์ที่มีผู้ติดตามราว 1 ล้านคนในอินสตาแกรม มีชื่อเสียงด้านการให้คำแนะนำในการใช้จ่ายเงิน ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการชอปสินค้าหรูในญี่ปุ่นกับผู้ติดตามเช่นกัน
แม้ธนาคารกลางญี่ปุ่นปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนก่อน นับตั้งแต่ปี 2550 เพื่อหนุนค่าเงิน แต่อัตราแลกเปลี่ยนเงินเยนและเงินดอลลาร์ยังคงต่างกันมาก โดยขณะนี้เงินเยนมีการซื้อขายอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 34 ปี เมื่อเทียบกับดอลลาร์
“เคียรา ลัมเบีย” นักศึกษาวัย 26 ปี จากกรุงเบอร์ลิน เผยหลังจากชอปปิงทั่วโตเกียวใน 1 วัน ว่า
“ทุกคนบอกว่าสินค้าญี่ปุ่นแพงมาก แต่ฉันไม่ได้รู้สึกว่ามันแพงอะไรขนาดนั้น”
ลัมเบียเล่าว่าในระหว่างชอปปิงเธอขนกระเป๋าใบใหญ่ 2 ใบ เดินทั่วย่านกินซ่า ซึ่งเป็นแหล่งชอปปิงแบรนด์หรูและสินค้าปลอดภาษียอดนิยม
ปัจจุบันย่านกินซ่าเต็มไปด้วยชาวต่างชาติ หากเดินเข้าไปในพื้นที่จะพบชาวต่างชาติที่ใช้ทั้งภาษาอังกฤษ สเปน และฝรั่งเศส
“มิลตัน เปดราซา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ)The Luxury Institute บริษัทให้คำปรึกษาด้านสินค้าและและบริการระดับพรีเมียม บอกว่า โดยปกติแล้ว ผู้ผลิตแบรนด์ลักซ์ชัวรีจะพยายามปรับราคาสินค้าทั่วโลก เพื่อป้องกันการเก็งกำไร ดังนั้น สินค้าหรูในบางประเทศมีราคาถูกได้ไม่นาน แต่การขึ้นราคาสินค้าในปีก่อน ๆ อาจทำให้บางบริษัทเกิดความลังเลในการเพิ่มค่าใช้จ่ายกับลูกค้าในปีต่อ ๆ มา
“แบรนด์ลักซ์ชัวรีต้องมีความระมัดระวัง เพราะพวกเขาขึ้นราคาครั้งใหญ่ไปแล้วในปี 2565 และ 2566 ยกเว้นบางแบรนด์ที่ได้รับความความสนใจอย่างมากอย่างแอร์เมส และชาแนล” เปดราซา กล่าว
ด้าน“เดโบราห์ เอตเคน” นักวิเคราะห์สินทรัพย์อาวุโสด้านสินค้าลักซ์ชัวรีทั่วโลก ของบลูมเบิร์กอินเทลลิเจนท์ เผยว่า แม้ผู้ผลิตสินค้าลักซ์ชัวรีสามารถปรับราคาสินค้าได้คงที่มากขึ้น ผ่านการออกสินค้าใหม่ และออกคอลเลกชันที่มีจำกัด แต่ความผันผวนของค่าเงินสามารถเปิดโอกาสให้นักชอปที่มีความเชี่ยวชาญ ใช้ประโยชน์จากการเข้าสู่ตลาดบางแห่งเพื่อชอปสินค้าหรูที่ราคาถูกกว่าได้