'KFC' ต้านกระแส 'มุสลิมคว่ำบาตร' ไม่ไหว ปิดกว่า 100 สาขาในมาเลเซีย
"เคเอฟซี" ต้านกระแสมุสลิมคว่ำบาตรธุรกิจเอี่ยวอิสราเอลไม่ไหว "ปิดสาขาในมาเลเซียแล้วกว่า 100 แห่ง" ในพื้นที่ ที่มีชาวมุสลิมจำนวนมาก
เคเอฟซี (KFC) แฟรนไชส์ฟาสต์ฟู้ดสัญชาติอเมริกัน ปิดทำการหลายสาขาในมาเลเซียชั่วคราว โดยระบุว่า “ธุรกิจกำลังเผชิญกับอุปสรรคทางเศรษฐกิจที่ท้าทาย” ในขณะที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ยังคงคว่ำบาตรธุรกิจหลายแห่งที่มีความเชื่อมโยงกับอิสราเอลมานานหลายเดือน
บริษัท คิวเอสอาร์ แบรนด์ส (QSR Brands) ที่บริหารแฟรนไชส์เคเอฟซีในมาเลเซียมาตั้งแต่ปี 2516 เผยว่า บริษัทได้ใช้มาตรการเชิงรุกปิดทำการหลายสาขา เพื่อจัดการกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และหันไปให้ความสำคัญกับพื้นที่ ที่มีส่วนร่วมสูง หรือพื้นที่ ที่มีคนเข้าร้านมากกว่า
บริษัทระบุในแถลงการณ์ที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ (29 เม.ย.67) ว่า “พนักงานที่ได้รับผลกระทบจากการปิดสาขา ได้รับโอกาสทำงานในสาขาอื่นๆ ที่มีคนพลุกพล่านมากกว่า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามเพิ่มประสิทธิภาพของบริษัท”
อย่างไรก็ตาม คิวเอสอาร์ แบรนด์ส ไม่ได้เปิดเผยว่าปิดสาขาเคเอฟซีไปกี่แห่ง
แต่จากการตรวจสอบสาขาเคเอฟซีที่เปิดให้บริการในมาเลเซีย ผ่านกูเกิล (Google) พบว่า มีสาขาที่ปิดทำการชั่วคราวมากกว่า 100 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในรัฐที่มีชาวมุสลิมจำนวนมาก เช่น รัฐกลันตัน, รัฐเกดะห์, และรัฐเตรังกานู ทางตอนเหนือของคาบสมุทรมลายู
โดยหนังสือพิมพ์หนานหยางซางเป้า ของมาเลเซีย รายงานว่า เคเอฟซี 108 แห่ง หยุดดำเนินการแล้ว ซึ่งร้านในรัฐกลันตันได้รับผลกระทบหนักที่สุด เนื่องจากมีสาขาเกือบ 80% หรือราว 21 สาขาได้รับผลกระทบ
ทั้งนี้ จากข้อมูลของบริษัท ระบุว่า เคเอฟซีมีพนักงานราว 18,000 คน ในมาเลเซีย ซึ่งพนักงาน 85% เป็นมุสลิม
เคเอฟซี ประสบปัญหาเดียวกับฟาสต์ฟู้ดคู่แข่งอย่าง “แมคโดนัลด์” และแฟรนไชส์กาแฟ “สตาร์บัคส์” รวมถึงเชนร้านอาหารสัญชาติอเมริกันอื่นๆ ที่ตกเป็นเป้าของการคว่ำบาตรในมาเลเซีย เนื่องจากสงครามอิสราเอลในกาซา และส่งผลกระทบต่อธุรกิจมาเลเซียอย่างมากในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
ในเดือนมี.ค. บริษัทเจ้าของแฟรนไชส์สตาร์บัคส์ในมาเลเซีย ได้ขอร้องให้ชาวมาเลย์เลิกแบนธุรกิจ และย้ำว่า การบริหารกิจการส่วนใหญ่ดำเนินโดยชาวมุสลิม ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่า 80% ของพนักงานทั้งหมด
ขณะที่แมคโดนัลด์ ได้ยื่นฟ้องขบวนการคว่ำบาตรที่สนับสนุนปาเลสไตน์ เมื่อเดือนม.ค. ที่ปลุกปั่นสาธารณชนให้เกิดความเกลียดชังต่อแบรนด์ และสร้างความเสียหายให้ธุรกิจ เดิมทีแมคโดนัลด์ได้เรียกร้องค่าเสียหายไป 1,300 ล้านดอลลาร์ แต่คดีดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการแล้ว
รัฐบาลมาเลเซียเองก็เข้ามามีส่วนร่วมต่อต้านธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอิสราเอลด้วย โดยออกมาเตือนเมื่อเดือน มี.ค. ในช่วงเดือนรอมฎอนว่า รัฐบาลจะดำเนินมาตรการเข้มงวดกับใครก็ตามที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด ด้วยการจำหน่ายอินทผลัมจากอิสราเอล
ทั้งนี้ จากข้อมูลของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในกาซา เผยว่า ความขัดแย้งในกาซาที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตแล้วเกือบ 35,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลเรือน และประชาชนต้องพลัดถิ่น 2.3 ล้านคน
อ้างอิง: South China Morning Post พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์