ฮอทสปอตท่องเที่ยวเวียดนาม “ฮับ”การลงทุนจากต่างชาติ

ฮอทสปอตท่องเที่ยวเวียดนาม “ฮับ”การลงทุนจากต่างชาติ

ปี 2566 อ่าวฮาลองรองรับนักเดินทางต่างชาติ 2.6 ล้านคน แต่จังหวัดกว่าง นินห์ ของเวียดนาม ซึ่งเป็นที่ตั้งของอ่าวฮาลองยังมีข้อดีอีกอย่างคือเป็นแหล่งลงทุน

ตอนนี้แหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของเวียดนามกลายเป็นศูนย์กลางการลงทุนของบรรดานักลงทุนจากต่างชาติ ขณะที่ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีน ประกอบกับโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ ทำให้ตอนเหนือของจังหวัดกว่าง นินห์ ซึ่งตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศกลายเป็นดาวจรัสแสงในสายตานักลงทุนอย่างมาก

เว็บไซต์นิกเคอิ เอเชีย นำเสนอรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยกล่าวถึงอ่าวฮาลอง ที่อยู่ทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม เป็นส่วนหนึ่งของอ่าวตังเกี๋ย มีชายฝั่งยาวถึง 120 กิโลเมตรเศษ และกว้างใหญ่ด้วยพื้นที่มากกว่า 1,500 ตารางกิโลเมตร เป็นหาดที่นอกจากจะมีทิวทัศน์สวยงามแล้ว ยังเต็มไปด้วยเกาะหินปูนรูปร่างแปลกและแตกต่างกันไป จนกลายเป็นความน่าอัศจรรย์ของธรรมชาติ ซึ่งมีมากกว่า 1900 เกาะ

 อ่าวฮาลอง เป็นอีกสถานที่หนึ่งในเวียดนามที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ได้รับการรับรองจากองค์การยูเนสโก ตั้งแต่ปี 2537

ในปี 2566 อ่าวฮาลองมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวชมความงามของสถานที่ต่างๆประมาณ 2.6 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 21% ของนักท่องเที่ยวอินบาวด์โดยรวมของเวียดนาม แต่จังหวัดกว่าง นินห์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของอ่าวฮาลองนั้นยังมีข้อดีอีกอย่างคือเป็นแหล่งลงทุนโดยตรงของต่างชาติ(เอฟดีไอ)รายใหญ่สุด แซงหน้ากรุงฮานอย,โฮจิมินห์ ซิตี้ และฮอตสปอตเศรษฐกิจอื่นๆ อานิสงส์จากความพยายามสร้างความหลากหลายแก่ระบบซัพพลายเชนโลกและท่าเรือใหม่ในเมืองที่อยู่ใกล้ๆ

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติเวียดนามระบุว่า เมื่อปีที่แล้ว กว่าง นินห์แซงหน้าจังหวัดอื่นๆและอยู่ในกลุ่ม5เมืองใหญ่ที่สุดของประเทศ   ที่ได้รับเอฟดีไอมูลค่า 3.1 พันล้านดอลลาร์ ตามมาด้วยอันดับสองคือจังหวัดท้าย บิ่ญ ที่ดึงดูดเอฟดีไอ 2.68 พันล้านดอลลาร์ และอันดับสามคือบั๊ก ซาง 1.53 พันล้านดอลลาร์ 

ส่วนในไตรมาสแรกของปี 2567 นี้ คาดว่าจังหวัดกว่าง นินห์จะรองรับเอฟดีเอเพิ่มอีก 1 พันล้านดอลลาร์ และมีแนวโน้มที่จะได้รับเอฟดีไอมากกว่า 3 พันล้านดอลลาร์ในไตรมาสที่สองของปีนี้

จังหวัดกว่าง นินห์ ซึ่งมีพรมแดนทั้งทางบกและทางทะเลร่วมกับจีน เริ่มอยู่ในความสนใจของบรรดานักลงทุนต่างชาติ นับตั้งแต่สหรัฐ-จีนมีความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความที่อยู่ใกล้กับจีนและมีชายฝั่งทะเลยาว 250 กิโลเมตร นักลงทุนจึงมองว่าจังหวัดนี้มีความเหมาะสมที่จะตั้งฐานการผลิตหากบริษัทต้องย้ายฐานการผลิตออกจากจีน

ฮอทสปอตท่องเที่ยวเวียดนาม “ฮับ”การลงทุนจากต่างชาติ


 

นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าพลังงานลมและแอลเอ็นจีในจังหวัดนี้เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงไม่นานมานี้ สิ่งนี้สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานครั้งใหญ่ขณะที่กว่าง นินห์อุดมไปด้วยแหล่งแร่ รวมถึงแหล่งถ่านหินที่มีมากกว่า 90% ขณะที่อุตสาหกรรมต่างๆ เช่น เทคโนโลยีโซลาร์ เซลล์ ,อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และปิโตรเคมีในจังหวัดนี้กำลังขยายตัว 

เทคโนโลยีโซลาร์เซลล์ของบริษัทจิงโก โซลาร์ พีวี เวียดนาม น่าจะเป็นโปรเจคใหญ่สุดและเป็นโปรเจคเชิงสัญลักษณ์มากที่สุดในบรรดาโปรเจคทั้งหลาย มีทุนจดทะเบียนโดยรวมกว่า 34.65 ล้านล้านด่อง(1.5 พันล้านดอลลาร์)โดยมีบริษัทจีนแห่งหนึ่งเป็นเจ้าของเงินทุน

ส่วนจังหวัดที่ได้รับเม็ดเงินเอฟดีไอสูงสุดสามจังหวัดในปี 2566 ล้วนตั้งอยู่รายล้อมไฮฟอง 1ใน5เมืองที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม โดยไฮฟองเองอยู่ในอันดับ4 ด้วยมูลค่าเอฟดีไอ 1.48 พันล้านดอลลาร์

การเปิดท่าเรือน้ำลึก Lach Huyen International Port ในปี 2561 ในไฮฟองนำความเจริญมาสู่เมืองและพื้นที่รอบๆ ท่าเรือขนาดใหญ่แห่งแรกในตอนเหนือเป็นท่าเรือน้ำลึก 14 เมตร ก่อนที่ท่าเรือแห่งนี้จะเปิดตัว ภูมิภาคดังกล่าวมีแค่ท่าเรือตื่นๆที่เรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่ไม่สามารถเข้ามาจอดได้

ทางด่วนหมายเลข 04 เชื่อมกับกรุงฮานอย เปิดตัวในเวลาเดียวกัน ตามมาด้วยการเปิดตัวทางด่วนหมายเลข 06 ที่ไปยังเมืองหม่องก๋าย ติดพรมแดนจีนเป็นเหมือนลมใต้ปีกที่ช่วยหนุนจังหวัดกว่าง นินห์ได้อย่างมาก 

อีกตัวแปรที่ช่วยให้เศรษฐกิจของเมืองเฟื่องฟูคือ วินกรุ๊ป กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่สุดของเวียดนาม ซึ่งมีสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลและได้รับสิทธิพิเศษด้านการลงทุน ได้สร้างโรงงานผลิตรถไฟฟ้าวินฟาสต์ขึ้นที่ไฮฟอง

 ช่วง2-3ปีที่ผ่านมา ศูนย์กลางการลงทุนของเวียดนามอยู่ที่กรุงฮานอย และโฮจิมินห์ซิตี้ สองเมืองใหญ่ที่สุดของประเทศ แต่ต้นทุนด้านแรงงานและราคาค่าเช่า ราคาที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมปรับตัวขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีมานี้เช่นกัน

ซูเฟ็กซ์ เทรดดิง บริษัทญี่ปุ่นที่คอยให้การช่วยเหลือบริษัทสัญชาติเดียวกันในการเข้ามาทำธุรกิจในเวียดนาม นิคมอุตสาหกรรมกรุงฮานอยเก็บค่าเช่าต่อตารางเมตรที่ 100-170 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจาก 90-120 ดอลลาร์ ในปี 2562 ส่วนราคาเช่าในโฮจิมินห์ ซิตี้อยู่ที่ 160-270 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจาก 130-160 ดอลลาร์ 

ขณะที่ค่าเช่าในกว่าง นินห์อยู่ที่ 80-100 ดอลลาร์ เทียบกับ 60-70 ดอลลาร์ก่อนเกิดการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดนก

สำนักงานสถิติเวียดนามระบุว่า ต้นทุนด้านบุคลากรนอกเมืองใหญ่ปรับตัวลดลง โดยเงินเดือนเฉลี่ยในกรุงฮานอยในปี 2565 อยู่ที่ 8.86 ล้านด่อง (385 ดอลลาร์)ในโฮจิมินห์ ซิตี้อยู่ที่ 9.1 ล้านด่อง แต่ในจังหวัดกว่าง นินห์ อยู่ที่ 7.03 ล้านด่อง

“พื้นที่รอบๆไฮฟองยังคงเป็นที่ยอดนิยมในหมู่บริษัทต่างชาติ ส่วนจังหวัดที่อยู่รอบๆ เช่น กว่าง นินห์ และท้าย บิ่ญ มีต้นทุนด้านแรงงานถูกกว่าและมีสิ่งอำนวยความสะดวกเกือบดีเท่าไฮฟอง”ฮิโรคาสุ สึชิยะ ผู้จัดการทั่วไป  Japan of DEEP C นิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีทั้งในเมืองไฮฟองและกว่าง นินห์ และเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตของเพกาตรอน และยูเอสไอ ซัพพลายเออร์ของแอปเปิ้ล กล่าว

ฮอทสปอตท่องเที่ยวเวียดนาม “ฮับ”การลงทุนจากต่างชาติ