คาด ‘โลกเดือด’ ทำอาเซียนพึ่ง 'เครื่องปรับอากาศ' 300 ล้านเครื่อง ภายในปี 83
ผลวิจัยคาดว่า "โลกเดือด" หนุนประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้ "เครื่องปรับอากาศ" ทะยานสู่ 300 ล้านเครื่อง ภายในปี 2583
สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่า คลื่นความร้อนทำลายสถิติกำลังแผดเผาหลายภูมิภาคในเอเชีย หนุนให้ความต้องการเครื่องมือช่วยสร้างความเย็นเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะ “เครื่องปรับอากาศ”
ตามรายงานขององค์การพลังงานระหว่างประเทศ (ไออีเอ) ปี 2562 ระบุว่า ครัวเรือนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเครื่องปรับอากาศเพียง 15% เท่านั้น และแต่ละประเทศในภูมิภาคนี้ มีสัดส่วนการติดตั้งเครื่องปรับอากาศแตกต่างกันไป
โดยสิงคโปร์ และมาเลเซีย ติดตั้งเครื่องปรับอากาศประมาณ 80% ขณะที่อินโดนีเซีย และเวียดนาม ติดตั้งเครื่องปรับอากาศน้อยกว่า 10%
จากการคาดการณ์ บ่งชี้ว่า อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น และค่าจ้างที่มากขึ้น อาจหนุนให้การติดตั้งเครื่องปรับอากาศในภูมิภาคนี้เพิ่มสูงขึ้นจาก 40 ล้านเครื่องในปี 2560 สู่ระดับ 300 ล้านเครื่องภายในปี 2583
จำนวนเครื่องปรับอากาศที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้ต้องขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าในท้องถิ่น แต่บางประเทศยังคงประสบปัญหาการผลิตไฟฟ้าหยุดชะงัก จากอุปสรรคต่างๆ ในปัจจุบัน
โดยเมียนมาผลิตไฟฟ้าได้เพียงครึ่งหนึ่งของไฟฟ้าที่จำเป็นต้องใช้ในแต่ละวัน ซึ่งรัฐบาลทหารโทษว่าเป็นเพราะพลังงานน้ำอ่อน เนื่องจากฝนตกน้อย ผลผลิตก๊าซธรรมชาติต่ำ และการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานจากฝ่ายตรงข้าม
ส่วนประเทศไทย มีความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากผู้คนเลือกอยู่ในที่ร่มมากกว่า ตั้งแต่บ้านไปจนถึงออฟฟิศที่มีเครื่องปรับอากาศช่วยคลายร้อน
อย่างไรก็ตาม ไออีเอระบุว่า เครื่องปรับอากาศปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 1,000 ล้านตันต่อปี จากทั้งหมด 37,000 ล้านตันทั่วโลก แต่เครื่องมือชนิดนี้ยังคงเป็นตัวเลือกสำคัญที่ช่วยปกป้องสุขภาพของมนุษย์ โดยเฉพาะผู้ที่มีความอ่อนไหวต่อผลกระทบจากอากาศร้อนรุนแรงมากที่สุด อาทิ เด็ก, ผู้สูงอายุ, และผู้ที่มีข้อบกพร่องบางประการ
ด้วยความต้องการเครื่องปรับอากาศเพิ่มขึ้น ในปี 2566 หลายสิบประเทศจึงได้ลงนาม Global Cooling Pledge ของสหประชาชาติ เพื่อแสดงเจตจำนงร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยการพัฒนาประสิทธิภาพเครื่องปรับอากาศ และลดการปล่อยมลพิษจากเครื่องทำความเย็นทุกชนิด
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์