สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชนห่วงสลายการชุมนุม นศ.ในสหรัฐ
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชนออกแถลงการณ์ ข้อห่วงใยต่อการสลายการชุมนุมนักศึกษามหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา พร้อมเรียกร้องรัฐบาลวอชิงตันดำเนินการจริงจังเพื่อสันติภาพในดินแดนปาเลสไตน์
ตามที่ในคืนวันอังคารที่ 30 เมษายน 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจมหานครนิวยอร์กซิตี้ได้เข้าสลายการชุมนุมและจับกุมกลุ่มนักศึกษาที่ชุมนุมประท้วงการใช้กำลังของรัฐบาลเนทัน ยาฮู แห่งอิสราเอลและเพื่อสนับสนุนชาวปาเลสไตน์รวมถึงการที่เจ้าหน้าที่เข้ายึดเต็นท์ที่นักศึกษาใช้ปักหลักพักค้างแรมในมหาวิทยาลัยโคลัมเบียเป็นเวลาเกือบ 2 สัปดาห์ ซึ่งการประท้วงของนักศึกษาเกิดขึ้นหลายครั้งในมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนทั่วประเทศ ทั้งที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน แคลิฟอร์เนีย มินนิโซตา และพิตส์เบิร์ก จุดประสงค์หลักในการประท้วงของนักศึกษา คือ การแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกับชาวปาเลสไตน์ที่เป็นพลเรือน หญิง เด็กและผู้ป่วยต้องพลัดถิ่นหรือถูกสังหาร นักศึกษาผู้ประท้วงในมหาวิทยาลัยชั้นนำอย่าง มหาวิทยาลัยเยล หรือ โคลัมเบีย ต้องการให้มหาวิทยาลัยของตนเลิกรับเงินบริจาคจากบริษัทผู้ผลิตและส่งอาวุธให้กับทางการเนทัน ยาฮู แห่งอิสราเอล เพื่อแสดงการสนับสนุนชาวปาเลสไตน์ โดยตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2567 เป็นต้นมาสำนักงานตำรวจนิวยอร์กได้เข้าสลายแคมป์ของนักศึกษาที่ชุมนุมและได้จับกุมนักศึกษาไปมากกว่า 100 คน
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) มีความเห็นว่าการชุมนุมของนักศึกษานั้นเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ได้รับรองไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1. สิทธิในเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบมุ่งคุ้มครองการชุมนุมของบุคคลโดยไม่ใช้ความรุนแรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งการชุมนุมที่มีีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงออกซึ่งการเรียกร้องให้รัฐยุติการใช้กำลังรุนแรงต่อพลเรือน เด็ก สตรี และผู้เจ็บป่วย และเป็นการใช้สิทธิในการชุมนุมโดยสงบ
2. บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะชุมนุมโดยสงบไม่ว่าจะเป็นพลเมืองของรัฐนั้น ๆ หรือไม่ใช่พลเมืองของรัฐก็ตาม สิทธิดังกล่าวสามารถถูกใช้ได้โดยบุคคลในสถานะต่าง ๆ เช่น คนสัญชาติของรัฐต่างประเทศ แรงงานข้ามชาติ (ไม่ว่าจะได้ลงทะเบียนตามกฎหมายหรือไม่ก็ตาม) ผู้แสวงหาที่ลี้ภัย (asylum seekers) ผู้ลี้ภัย และบุคคลไร้รัฐ
3. กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 21 คุ้มครองการชุมนุมโดยสงบ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ไหนก็ตาม ทั้งการชุมนุมกลางแจ้ง ในร่ม หรือในโลกออนไลน์ ในพื้นที่สาธารณะหรือเอกชน หรือเกิดในพื้นที่ดังที่ได้กล่าวมาหลายพื้นที่ร่วมกัน การชุมชุนดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้หลาย รูปแบบ เช่น การประท้วง (demonstrations) การต่อต้าน (protests) การประชุม (meetings) การเดินขบวน (processions) การรวมตัว (rallies) การยึดพื้นที่ประท้วง (sit-ins) การรวมตัวจุดเทียน (candlelit vigils) และแฟลชม็อบ (flash-mobs) การชุมนุมเหล่านี้อยู่ภายใต้การคุ้มครองของมาตรา 21 ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมที่อยู่กับที่ เช่น การ ปักหลังประท้วง (pickets) หรือ เป็นการชุมนุมที่มีการเคลื่อนที่ เช่น การเดินขบวนประท้วง (processions or marches)
4. ถ้าการชุมนุมนั้นเป็นการชุมนุมโดยสงบ การอาศัยเพียงข้อเท็จจริงที่ว่าผู้จัดการชุมนุม หรือผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตาม ข้อเรียกร้องตามกฎหมายภายในประเทศเกี่ยวกับการชุมนุมบางประการ ไม่อาจทําให้ผู้เข้าร่วมการชุมนุมหลุดพ้นจากความคุ้มครองของมาตรา 21 รวมถึงการกระทําอารยะขัดขืนร่วมกัน หรือการรณรงค์ด้วยการกดดัน (direct-action) ย้อมได้รับความคุ้มครองภายใต้มาตรา 21 หากกระทําโดยปราศจากความรุนแรง
สสส.ขอคัดค้านการกีดกันและการสลายการชุมนุมของนักศึกษามหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาดังกล่าว โดยทางการมหาวิทยาลับและทางการใดๆของรัฐบาลท้องถิ่น มลรัฐ หรือรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกา เนื่องจากเป็นการละเมิดต่อหลักการดังกล่าว
สสส.ขอเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาและผู้บริหารของรัฐและมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้อง เปิดโอกาสให้บุคคล กลุ่มนักศึกษาและบุคคลในรัฐแต่ละรัฐภายในสหรัฐอเมริกาสามารถอุปโภค (enjoy) การใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมอันเป็นพื้นฐานของสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกได้อย่างเต็มที่ภายใต้กรอบของการชุมนุมโดยสงบด้วย
ทั้ง สสส. ยังขอเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาดำเนินการอย่างจริงใจและจริงจังเพื่อให้เกิดสันติภาพในดินแดนปาเสสไตน์ ยุติการสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์ให้แก่ทางการเนตัน ยาฮู และดำเนินการด้วยมาตรการที่จำเป็นให้ทางการเนตัน ยาฮู ยุติการเข่นฆ่า ขับไล่ ชาวปาเลสไตน์ที่เป็นพลเรือน เด็ก สตรี และผู้ป่วย กับทั้งเปิดทางให้องค์การบรรเทาทุกข์นานาชาติ เข้าไปช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวปาเลสไตน์โดยทันที ด้วยความเชื่อมั่นในศักดิ์ศรีมนุษย์ สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
กรุงเทพมหานคร
4 พฤษภาคม 2567