เกาหลีใต้คุมเข้ม Shrinkflation ห้ามผู้ผลิตแอบลดปริมาณ เอาเปรียบผู้บริโภค

เกาหลีใต้คุมเข้ม Shrinkflation ห้ามผู้ผลิตแอบลดปริมาณ เอาเปรียบผู้บริโภค

'เกาหลีใต้' จ่อลงดาบผู้ผลิตอาหารและของใช้ หากเอาเปรียบแอบลดปริมาณโดยไม่แจ้งผู้บริโภค ถือเป็นการขึ้นราคาแบบหนึ่ง ขณะที่สหรัฐพยายามผลักดันการออกกฎหมายป้องกัน Shrinkflation ในปีนี้

การลดปริมาณผลิตภัณฑ์โดยยังคงราคาไว้เท่าเดิม (shrinkflation) เป็นกลยุทธ์ที่ผู้ผลิตในหลายประเทศเลือกใช้ตั้งแต่ช่วงภาวะเงินเฟ้อระบาดหนักราว 1-2 ปีก่อน แต่แม้ว่าเงินเฟ้อจะบรรเทาลงมาแล้ว ผู้ผลิตบางรายกลับยังมีการใช้วิธีนี้อยู่ ซึ่งแทบไม่ต่างอะไรกับการขึ้นราคาสินค้า เพียงแต่ไม่ได้แจ้งให้ผู้บริโภคทราบเท่านั้น  

ล่าสุดหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการค้าใน "เกาหลีใต้" ได้เข้ามาดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้เกิดการเอาเปรียบผู้บริโภคแล้ว

รอยเตร์สรายงานว่า คณะกรรมาธิการการค้าโดยธรรมแห่งเกาหลีใต้ (FTC) กำหนดให้บรรดาผู้ผลิตอาหารและซัพพลายเออร์ต้องแจ้งต่อลูกค้าหากมีการลดขนาดของผลิตภัณฑ์ มิฉะนั้นจะถูกปรับเป็นเงินสูงสุด 10 ล้านวอน (เกือบ 2.7 แสนบาท)

FTC ระบุว่า ทางหน่วยงานได้พิจารณาว่า การลดปริมาณผลิตภัณฑ์ในขณะที่ยังคงราคาไว้เท่าเดิมหรือ shrinkflation ของธุรกิจบางราย ถือเป็นการทำธุรกรรมที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งต้องได้รับบทลงโทษ

เหล่าผู้ผลิตอาหารแปรรูปส่วนใหญ่และผู้ผลิตของใช้ในครัวเรือน เช่น กระดาษชำระ แชมพู และผงซักฟอก จะต้องแสดงข้อความแจ้งบนฉลากสินค้าเป็นเวลา 3 เดือน หากมีการลดปริมาณผลิตภัณฑ์ในลักษณะที่ทำให้ราคาต่อหน่วยสูงขึ้น

กฎระเบียบดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในเดือน ส.ค. นี้ โดยหลังจากพ้นระยะเวลาผ่อนผันเป็นเวลา 3 เดือน ผู้ที่ละเมิดกฎระเบียบดังกล่าวจะถูกปรับเป็นจำนวน 5 ล้านวอนสำหรับการละเมิดครั้งแรก และ 10 ล้านวอนสำหรับการละเมิดครั้งที่ 2

"การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทต่าง ๆ ลดขนาด มาตรฐาน น้ำหนัก หรือคุณภาพของผลิตภัณฑ์ลงโดยไม่มีการแจ้งต่อผู้บริโภคอย่างเพียงพอ จนทำให้ผู้บริโภคแบกรับผล กระทบของราคาที่เพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัว" FTC ระบุในแถลงการณ์

สำหรับใน "สหรัฐ" มีการถกเถียงถึงประเด็น Shrinkflation มานานแล้ว และคาดว่าจะมีการผลักดันร่างกฎหมาย Shrinkflation Prevention Act ออกมาในปีนี้ โดยเป็นร่างกฎหมายที่ผลักดันโดยกลุ่ม สว.พรรคเดโมแครต นำโดยสว.อเลิซาเบธ วอร์เรน ซึ่งให้เหตุผลว่าแม้เศรษฐกิจจะเผชิญภาวะเงินเฟ้อหนักในปีที่แล้ว แต่บรรดาผู้ผลิตสินค้ากลับทำกำไรกันเพิ่มขึ้นมากจากการผลักภาระให้ผู้บริโภค