เทียบ นศ.ประท้วงสงคราม 'อิสราเอล VS เวียดนาม’ สะเทือนเก้าอี้ 'ปธน.สหรัฐ' มากแค่ไหน
การประท้วงต่อต้านอิสราเอลตามมหาวิทยาลัยหลายแห่งทั่วสหรัฐ ก่อให้เกิดประเด็นเปรียบเทียบการประท้วงต่อต้านสงครามเวียดนามในสมัยก่อน แม้ปัจจุบันรุนแรงน้อยกว่า แต่จับกุมนักศึกษาแล้วกว่า 2,000 คน และสร้างความกังวลว่า ฐานเสียงคนรุ่นใหม่อาจสะเทือนเก้าอี้ปธน.สหรัฐ !
เมื่อวันเสาร์ (4 พ.ค.) ที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบ 54 ปี “เหตุกราดยิงที่มหาวิทยาลัยเคนต์” ซึ่งเป็นวันที่กองกำลังป้องกันชาติในรัฐโอไฮโอ ใช้กำลังปราบปรามการชุมนุมต่อต้านสงครามเวียดนามในมหาวิทยาลัย ส่งผลให้นักศึกษาเสียชีวิต 4 ราย บาดเจ็บ 9 ราย และก่อให้เกิดความไม่สงบทั่วประเทศ
ขณะที่การประท้วงต่อต้านอิสราเอลของนักศึกษาอเมริกันในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา มีความแตกต่างกับเหตุกราดยิง 4 พ.ค. ในหลายด้าน แม้ยังไม่มีผู้เสียชีวิต แต่มีการจับกุมนักศึกษาแล้วกว่า 2,000 คน
สหรัฐสูญทหาร vs กาซาสูญพลเรือน
ในปี 2513 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สงครามเวียดนามดำเนินมาแล้ว 5 ปี ขณะนั้นประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน จากพรรครีพับลิกัน ได้ประกาศขยายสงครามไปยังกัมพูชา และช่วงสิ้นปี 2513 มีการเกณฑ์ชายหนุ่มอเมริกันไปเกือบ 1.8 ล้านคน และสูญเสียกองกำลังเกือบ 30,000 นาย
ขณะที่สงครามในกาซา สหรัฐไม่ได้ส่งกองทัพลงพื้นที่ แต่พลเมืองสหรัฐจำนวนมากสูญเสียครอบครัวจากสงครามนี้
กลุ่มติดอาวุธอิสลาม “ฮามาส” บุกโจมตีชายแดนอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ต.ค. คร่าชีวิตพลเรือนไป 1,200 คน และจับตัวประกันไปอีก 253 คน ส่วนการโจมตีของอิสราเอลคร่าชีวิตชาวปาเลสไตน์มากกว่า 35,000 ราย และประชาชนพลัดถิ่น 2.3 ล้านคน
นักศึกษาหลายสิบมหาวิทยาลัยทั่วสหรัฐจึงออกมาประท้วง เพื่อต่อต้านการทำสงครามของอิสราเอล และเรียกร้องให้สถาบันการศึกษาเลิกลงทุนกับบริษัทที่สนับสนุนการทำสงครามในกาซา
เห็นสงครามผ่านออฟไลน์ - ออนไลน์
ความเคลื่อนไหวต่อต้านสงครามเวียดนาม ส่วนหนึ่งมีผลมาจากสื่อโทรทัศน์ที่รายงานและเผยแพร่ภาพ การนำร่างทหารที่เสียชีวิตจากสงคราม กลับสหรัฐในทุก ๆ วัน (ปัจจุบันสหรัฐงดเผยแพร่ภาพเหล่านี้แล้ว)
ขณะที่ “คริสเตียนนา ลีฮี” อดีตสมาชิกคณะกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และอาจารย์จากมหาวิทยาลัยแมคแดเนียล ในรัฐแมรีแลนด์ บอกว่า การชุมนุมของนักศึกษาอเมริกันในปัจจุบัน เกิดขึ้นจากการรับรู้ข่าวสารสงครามที่กำลังดำเนินอยู่แบบ "เรียลไทม์" ผ่านโทรศัพท์ของตนได้ 24 ชั่วโมง
ความสูญเสียเปลี่ยนใจผู้สนับสนุน
จำนวนผู้เสียชีวิตและความเสียหายเป็นวงกว้างในกาซา ทำให้ความคิดเห็นของสาธารณชนต่อเหตุการณ์ดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไป
กลุ่มคนที่สนับสนุนการโจมตีของอิสราเอล ลดลงจาก 50% ในเดือน พ.ย. 2566 สู่ระดับ 36% ในเดือน มี.ค. 2567
ขณะที่การลงนามให้งบประมาณช่วยเหลืออิสราเอลเพิ่มเติม 14,000 ล้านดอลลาร์ ก็เผชิญกับคำวิพากวิจารณ์มากมาย และส่งผลให้ผู้ลงคะแนนเสียงหลายแสนคนในการเลือกตั้งขั้นต้นของพรรคเดโมแครตไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เลือกกาช่อง “uncommitted” ซึ่งหมายถึง ไม่เลือกผู้สมัครรายใดให้เข้าชิงปธน.สหรัฐ เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อการจัดการสงครามในกาซาของรัฐบาลไบเดน
ด้าน "เบอร์นี แซนเดอร์ส" สมาชิกวุฒิสภา ได้เปรียบเทียบเหตุการณ์ชุมนุมปัจจุบันกับช่วงสงครามเวียดนาม ว่า สมัยนั้นประธานาธิบดีลินดอน จอห์นสัน ตัดสินใจไม่ลงสมัครเลือกตั้งในปี 2511 ท่ามกลางความโกรธเกรี้ยวของประชาชนที่ไม่พอใจเกี่ยวกับการทำสงครามในเวียดนาม
แซนเดอร์ส เผย ตนมีความกังวลเป็นอย่างมาก ว่า สิ่งที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐ ดำเนินการอยู่ จะสร้างความบาดหมาง ซึ่งไม่ได้สร้างความบาดหมางแค่กับกลุ่มคนรุ่นใหม่ แต่รวมถึงฐานเสียงเดโมแครตจำนวนมาก
ชุมนุมรุนแรง vs ชุมนุมสงบ
“เควิน ครูส” ศาสตรจารย์จากมหาวิยาลัยพรินซ์ตัน กล่าวว่า กลุ่มประท้วงในปี 2513 ขยายตัวได้มากและรุนแรงมากขึ้น โดยบางกลุ่มสามารถดึงดูดคนมาร่วมชุมนุมได้หลักหมื่น ไปจนถึงหลักแสน และผู้ประท้วงบางคนในสมัยนั้นมีความรุนแรง ไม่เหมือนกับการประท้วงอย่างสงบของกลุ่มนักศึกษาสหรัฐในขณะนี้
โดยกลุ่มผู้ประท้วง ได้เผาอาคารของกองกำลังฝึกอบรมเจ้าหน้าที่สำรอง (ROTC) ก่อนเกิดเหตุกราดยิงสลายชุมนุมในวัน 4 พ.ค. 2513
นอกจากนี้ เหตุกราดยิงสลายชุมนุมในวันดังกล่าว จุดชนวนให้เกิดการประท้วงต่อต้านสงครามเวียดนามทั่วสหรัฐ โดยมีคนออกมาประท้วงเกือบ 100,000 คนในกรุงวอชิงตันดีซี และลามไปถึงเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งมีคนออกมาประท้วงราว 100,000 คนเช่นกัน
ครูสบอกว่า การตอบสนองต่อการประท้วงของมหาวิทยาลัยโคลัมเบียไม่นานมานี้ ก่อให้เกิดการประท้วงที่มีขนาดเล็กกว่า และการประท้วงในมหาวิทยาลัยอาจจบลง หากบรรดาผู้บริหารปล่อยผ่านไปอย่างเงียบ ๆ จนถึงช่วงฤดูร้อน
ท่าทีรัฐบาล เรียกพวกสนับสนุน vs ทำเป็นหูหนวก
ไม่นานหลังจากเกิดเหตุกราดยิงในม.เคนต์ ปธน.นิกสันได้เชิญกลุ่มแรงงานก่อสร้าง หรือที่เรียกว่า “Hard Hat Riot” ซึ่งประกอบไปด้วยแรงงานก่อสร้าง 400 คน และพนักงานออฟฟิศ 800 คน ไปพูดคุยที่ทำเนียบขาว ซึ่งกลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มที่โจมตีผู้ประท้วงสงครามเวียดนามในนิวยอร์กซิตี้ราว 1,000 คน
ขณะที่การแสดงความเห็นของปธน.ไบเดน ต่อการชุมนุมประท้วงที่รุนแรงตามมหาวิทยาลัยในช่วงที่ผ่านมานั้น หลายคนมองว่าเขาเป็นผู้นำที่ “หูหนวก” ต่อสงครามในกาซา
เช่นเดียวกับที่นักเคลื่อนไหวชาวอเมริกันเชื้อสายอาหรับและชาวมุสลิมมองว่า ทำเนียบขาวไม่รับฟังความวิตกกังวลของพวกเขาเกี่ยวกับการสนับสนุนอิสราเอล
แบ่งแยกระหว่างวัย เสี่ยงหนุน “ทรัมป์เป็นปธน.” สมัย 2
“เจมส์ คาร์วิลล์” นักยุทธศาสตร์พรรคเดโมแครตวัย 79 ปี เตือนเมื่อวันอาทิตย์ (5 พ.ค.) ว่า กลุ่มนักศึกษาประท้วงอาจช่วยหนุนโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ เป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ได้ หากเกิดการแบ่งแยก
ผลสำรวจของยูกอฟ (YouGov) ที่เผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดี (2 พ.ค.) แสดงให้เห็นว่า ผู้ใหญ่ 53% รู้สึกว่าการตัดสินของผู้บริหารมหาวิทยาลัยเพื่อระงับการชุมนุมและขับไล่ผู้ประท้วงสนับสนุนปาเลสไตน์เป็น "สิ่งที่ถูกต้อง” หรือ “ยังไม่รุนแรงพอ” และในกลุ่มวัย 65 ปีขึ้นไป เห็นด้วยมากถึง 60%
ด้าน “ดิลารา ซายีด” ประธานแนวร่วมพลเมืองมุสลิม (Muslim Civic Coalition) องค์กรไม่แสวงหากำไรในชิคาโก บอกว่า พรรค (เดโมแครต) ยังคงไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งรุ่นใหม่และคนผิวสี
"แอบบาส อลาเวียห์" อดีตผู้ช่วยระดับอาวุโสของรัฐสภาสหรัฐ และผู้จัดชุมนุม ที่ช่วยรณรงค์กา "Uncommitted" ไม่เลือกใครเข้าชิงปธน. บอกว่า ผู้นำพรรคมีความเสี่ยงสร้างความผิดพลาดเหมือนกับสงครามเวียดนาม
อย่างไรก็ตาม “มีอา เอห์เรนเบิร์ก” โฆษกหาเสียงของไบเดน กล่าวว่า การหาเสียงของไบเดนนั้น กำลังเร่งดึงดูดผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงอย่างแข็งขัน
ด้าน “จิม ซอกบี” ผู้ประท้วงในสมัยสงครามเวียดนาม และผู้ก่อตั้งสถาบันอาหรับอเมริกัน เผยว่า ความแตกแยกระหว่างคนรุ่นใหม่และรัฐบาล อาจปะทุในช่วงประชุมใหญ่ประจำปีของพรรคเดโมแครตในเดือน ส.ค. แต่มีโอกาสน้อยที่จะสร้างความท้าทายต่อรัฐบาลไบเดน
อ้างอิง: Reuters