‘ธนาคารกลางจีน’ ชะลอซื้อทองคำ หลังทุบสถิติตุนทอง 18 เดือนติด
การซื้อ‘ทองคำ’ของธนาคารกลางจีนลดลง 62%ในเดือนเมษายน หลังซื้อทองตุน 18 เดือนติดต่อกัน ท่ามกลางราคาทองคำแท่งที่พุ่งทำนิวไฮ ด้าน’โกลด์แมน แซคส์’มองว่าธนาคารกลางในตลาดเกิดใหม่ยังคงซื้อทองคำต่อไป
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ธนาคารกลางจีน (PBOC) ชะลอการซื้อ“ทองคำ”เนื่องจากราคาที่สูงเป็นประวัติการณ์ หลังทำสถิติเพิ่มปริมาณทองคำสำรองเป็นเดือนที่ 18 ติดต่อกันในเดือนเมษายน
ตามข้อมูลอย่างเป็นทางการที่เผยแพร่เมื่อวันอังคาร โดยธนาคารกลางจีน พบว่าในเดือนเมษายนมีการซื้อทองคำลดลง 62.5% อยู่ที่ 60,000 ทรอยออนซ์ ซึ่งลดลงจากการซื้อ 160,000 ออนซ์ในเดือนมีนาคม และลดลง 84.6% จากการซื้อ 390,000 ออนซ์ในเดือนกุมภาพันธ์
ธนาคารกลางจีนเป็นหนึ่งในผู้ซื้อทองคำรายใหญ่ที่สุดในตลาดโลกมาอย่างยาวนาน โดยสะสมทองคำแท่งอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2565 อย่างไรก็ตาม ราคาทองคำพุ่งสูงขึ้นจนทำสถิติใหม่ตลอดกุมภาพันธ์หลายครั้ง อาจทำให้ความต้องการซื้อทองคำของจีนลดลง
สภาทองคำโลก (World Gold Council) รายงานว่า การซื้อทองคำของธนาคารกลางทั่วโลกในไตรมาสแรกซึ่งนำโดยจีนนั้น แข็งแกร่งที่สุดเป็นประวัติการณ์ นักวิเคราะห์ตลาดบางคนชี้ว่า ราคาทองคำที่พุ่งขึ้น 12% ในปีนี้ ส่วนหนึ่งอาจมาจากแรงซื้อปริศนาจากสถาบันการเงินเหล่านี้
ธนาคารกลางทั่วโลกเดินหน้าตุน 'ทองคำ’
ธนาคารกลางมักเป็นผู้ซื้อทองคำเชิงยุทธศาสตร์ในระยะยาว และการซื้อทองคำแท่งโดยสถาบันการเงินในตลาดเกิดใหม่ยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีกมากตามการวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์
นักวิจัยจากโกลด์แมน แซคส์ระบุว่า"ธนาคารกลางในตลาดเกิดใหม่เป็นกำลังขับเคลื่อนเบื้องหลังการแห่ซื้อทองคำ"
ปัจจุบัน สัดส่วนการสำรองทองคำของธนาคารกลางในตลาดเกิดใหม่มีเพียง 6% ของทุนสำรองระหว่างประเทศทั้งหมด ซึ่งถือเป็นเพียงครึ่งเดียวของสัดส่วนในตลาดพัฒนาแล้ว
นอกจากนี้ ราคาทองคำยังได้รับแรงหนุนจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นของนักลงทุนเอเชีย โดยเฉพาะในจีน ซึ่งเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดีนักและตลาดที่ซบเซา รวมถึงความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ทวีความรุนแรงอันเนื่องมาจากความขัดแย้งในยูเครนและตะวันออกกลางยังได้กระตุ้นความต้องการซื้อทองคำในฐานะ “สินทรัพย์ปลอดภัย”
ขณะนี้ (8 พ.ค.67) ราคาทองคำสปอตอยู่ที่ 2,316.45 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และสัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กวันอังคาร (7 พ.ค.) ปิดลบ 7 ดอลลาร์ เนื่องจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์เป็นปัจจัยกดดันตลาด ขณะที่นักลงทุนยังคงจับตาสัญญาณต่าง ๆ ที่จะบ่งชี้ถึงแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด
อ้างอิง Bloomberg