"โบอิง"เจอปัญหาขัดข้องทางเทคนิค เลื่อนปล่อยนักบินอวกาศไป ISS ครั้งแรก
โบอิงระงับการปล่อยแคปซูลอวกาศที่บรรทุกนักบินอวกาศเที่ยวบินแรกไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ เพียง 2 ชั่วโมงก่อนถึงเวลาที่กำหนด หลังจากประสบปัญหาที่วาล์วบนจรวด
โบอิง ผู้ผลิตเครื่องบินยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ตัดสินใจระงับการปล่อยแคปซูล “ซีเอสที-100 สตาร์ไลเนอร์” (CST-100 Starliner) ที่บรรทุกนักบินอวกาศ 2 คนขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐฯ ไปยัง สถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ในการบินทดสอบครั้งแรกเมื่อคืนวันจันทร์ เพียงเกือบหนึ่งชั่วโมงหลังนักบินอวกาศ บุตช์ วิลมอร์ และซูนิ วิลเลียมส์ เข้าไปในแคปซูลอวกาศ และราวสองชั่วโมงก่อนถึงกำหนดเวลาที่จรวดแอตลาส 5 (Atlas V) จะทะยานขึ้นจากฐานปล่อยที่แหลมคานาเวอรัล ในรัฐฟลอริดา
นาซา แถลงว่า การตัดสินใจมีขึ้นหลังพบปัญหาที่วาล์วควบคุมออกซิเจนในส่วนท่อนบนของจรวดแอตลา แต่ยังไม่ได้ระบุว่าจะมีการทดสอบอีกครั้งเมื่อใด
การปล่อยแคปซูลอวกาศที่มีลูกเรือเที่ยวบินแรกของโบอิงประสบปัญหาล่าช้ามานานหลายปีแล้ว ในขณะที่บริษัทตั้งความหวังไว้สูงมากว่าจะสามารถแข่งขันกับสเปซเอ็กซ์ของอีลอน มัสก์ เพื่อชิงส่วนแบ่งข้อตกลงทางธุรกิจกับนาซาเพิ่มขึ้น
ในปี 2557 นาซาทำสัญญามูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์กับโบอิงและสเปซเอ็กซ์เพื่อพัฒนาแคปซูลสำหรับนาซาเพื่อส่งนักบินอวกาศและสัมภาระไปกลับสถานีอวกาศ และแคปซูล “ดรากอน” ของสเปซเอ็กซ์ ประสบความสำเร็จในการส่งนักบินอวกาศของนาซาไปยังสถานีอวกาศ ISS ในปี 2563 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่นักบินอวกาศนาซาถูกส่งขึ้นสู่อวกาศจากแผ่นดินสหรัฐฯ ด้วยยานอวกาศที่สร้างโดยเอกชน
ส่วนแคปซูล “สตาร์ไลเนอร์” เดินทางโดยไม่มีนักบินอวกาศไปถึง สถานีอวกาศ ISS ได้สำเร็จในปี 2565 หลังจากการปล่อยประสบความล้มเหลว 3 ครั้ง
ขณะที่การยกเลิกการปล่อยแคปซูลครั้งล่าสุดมีขึ้นในช่วงเวลายากลำบากของโบอิง ที่กำลังเผชิญการตรวจสอบมากมายเกี่ยวกับปัญหาความปลอดภัยในส่วนธุรกิจการผลิตเครื่องบิน