‘เมียนมา’เจอวิกฤติเงินเฟ้อ สงครามหนุนความต้องการ’ดอลลาร์’ กดค่าเงินจ๊าดร่วง
‘เมียนมา’เผชิญวิกฤติเงินเฟ้อรุนแรง จากสงครามกลางเมือง หนุนคนหนุ่มสาวต้องการ’ดอลลาร์’เลี่ยงการเกณฑ์ทหาร หลบหนีออกนอกประเทศ กด'เงินจ๊าด'อ่อนค่าลงเกือบ 70%
ประชาชนใน"เมียนมา"กำลังเผชิญกับปัญหา“เงินเฟ้อ”ที่รุนแรง สืบเนื่องมากจากความวุ่นวายทางการเมือง เศรษฐกิจที่ซบเซา และค่าเงินจ๊าดอ่อนค่า กลายเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ทำให้ราคาอาหารและขนส่งยังคงพุ่งสูงขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์เมียนมาในเดือนเมษายนที่ผ่านมา แม้รัฐบาลพยายามใช้นโยบายต่างๆ เพื่อควบคุมสถานการณ์แล้วก็ตาม
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เงินจ๊าดอ่อนค่า มาจากความต้องการ "สกุลเงินดอลลาร์” ที่เพิ่มสูงขึ้นภายในประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประชาชนที่ต้องการหลบหนีออกนอกประเทศ ซึ่งส่วนมากเป็นกลุ่มคนหนุ่มสาวที่อยู่เกณฑ์ที่จดต้อง"เกณฑ์ทหาร"
เวิลด์แบงก์คาดเงินเฟ้อปี 67 สูงถึง 20.1%
ธนาคารโลกคาดการณ์ในเดือนธันวาคม 2566 โดยคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อของเมียนมาร์ในปี 2567 จะสูงถึง 20.1% ซึ่งตัวเลขนี้ถือว่าสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พนักงานโรงแรมวัย 31 ปี ในย่างกุ้ง กำลังใกล้ถึงจุดวิกฤตในการรับมือกับราคาสินค้าที่พุ่งสูงขึ้น "เราไม่สามารถอยู่ได้ด้วยการลดค่าใช้จ่ายเพียงอย่างเดียว" หญิงคนนั้นกล่าว
ทั้งนี้ยังไม่มีทีท่าว่าราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่พุ่งสูงขึ้นจะลดลง ในย่างกุ้ง ราคาน้ำมันเบนซินพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ประมาณ 2,900 จ๊าดต่อลิตร ขณะที่ราข้าว หอมแดง และกระเทียม เพิ่มขึ้นมากกว่า 50% ในช่วงปีที่ผ่านมา
จ๊าดอ่อนค่าดันเงินเฟ้อพุ่ง
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นคือ ค่าเงินจ๊าดที่อ่อนค่าลง ล่าสุดอัตราแลกเปลี่ยนตามท้องตลาดอยู่ที่ประมาณ 4,000 จ๊าดต่อดอลลาร์ ซึ่งอ่อนค่าลงเกือบ 70% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนการยึดอำนาจของกองทัพเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564
ค่าเงินจ๊าดของเมียนมาร์อ่อนค่าลงใกล้เคียงกับช่วงที่อ่อนค่าที่สุดในปลายเดือนสิงหาคม 2565 แต่ต่างตรงที่ครั้งนี้ แม้รัฐบาลพยายามใช้นโยบายต่างๆ เพื่อพยุงค่าเงิน เช่น การผ่อนคลายการควบคุม หรือการขายเงินตราต่างประเทศ แต่ค่าเงินก็ยังคงอ่อนค่าลงตลอดปี 2567
สงครามกลางเมือง หนุนความต้องการ’ดอลลาร์’
ทางธนาคารกลางของเมียนมาร์ได้ดำเนินการแทรกแซงตลาดเพื่อพยุงค่าเงินจ๊าดมากกว่า 20 ครั้ง โดยวิธีการหลักคือ การขายเงินตราต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นดอลลาร์ บาทไทย หรือหยวนจีน
ในอดีตธนาคารกลางเคยใช้วิธีการเด็ดขาด เช่น การบังคับแลกเปลี่ยนเงินตรา และการกวาดล้างร้านรับแลกเงิน ธนาคารกลางเคยเว้นระยะห่างจากการซื้อขายเงินตราในตลาด
สกุลเงินของประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่งอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ แต่ในเมียนมาร์ต่างออกไป เพราะมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสงครามกลางเมืองยิ่งทำให้ค่าเงินจ๊าดอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว
ปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อสถานการณ์คือ การเกณฑ์ทหารซึ่งเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ทำให้คนหนุ่มสาวจำนวนมากเลือกหลบหนีออกนอกประเทศเพื่อเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร ส่งผลให้มีความต้องการเงินดอลลาร์และเงินบาทเพิ่มขึ้นเพื่อใช้ในการเดินทาง
"แม้การแทรกแซงตลาดของธนาคารกลางอาจส่งผลในช่วงแรกจากเสียงประกาศ แต่มันก็ 'จางหายไป' เนื่องจากผลกระทบของการเกณฑ์ทหาร" ผู้จัดการระดับสูงจากธนาคารต่างประเทศประจำย่างกุ้งกล่าว
ตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา การปะทะระหว่างกองทัพกับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ทวีความรุนแรงขึ้น และยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงในเร็วๆนี้
จ๊าดร่วงกระทบธุรกิจขยับราคาสินค้าขึ้น
เพื่อรับมือกับสถานการณ์ความวุ่นวายภายในประเทศ ในเดือนธันวาคม กองทัพได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยผ่อนคลายข้อบังคับเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ค่าเงินจ๊าดที่ร่วงลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อต้นทุนของธุรกิจภายในประเทศ พวกเขาจึงจำเป็นต้องปรับราคาสินค้าและบริการขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น "น้ำมันเบนซิน" เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของผลกระทบที่เกิดขึ้น ผู้ประกอบการธุรกิจนำต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมาบวกเข้ากับราคาน้ำมัน ทำให้ผู้บริโภคต้องแบกรับภาระ
รวมทั้ง ราคาของผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้า จึงมีราคาสูงขึ้นเป็นเท่าตัวหรือถึงสามเท่าตัวในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีปัญหาสินค้าทางการแพทย์ขาดแคลน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน
"ฉันปฏิเสธคำชวนออกไปทานข้าวข้างนอก และฉันยังต้องขายทองและเครื่องประดับที่มีอยู่ที่บ้านเพื่อนำเงินไปซื้อยารักษาโรค" หญิงวัย 29 ปีที่ป่วยเป็นโรคข้ออักเสบกล่าว
อ้างอิง nikkei