การทูตซอฟต์พาวเวอร์ มาเลเซีย ‘รู้จักแล้วรักเอง’
อาหารเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่จะนำไปสู่การสร้างซอฟต์พาวเวอร์ เรื่องนี้มาเลเซียเพื่อนบ้านไทยก็ไม่เบาเหมือนกัน พิสูจน์ได้จากงานเทศกาลอาหารปีนังเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ประชาชนทั้งคนไทย ชาวมาเลเซียในประเทศไทย และชาวต่างชาติตอบรับล้นหลาม
ดาตุ๊ก โจจี ซามูเอล (H.E. Datuk Jojie Samuel) เอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำประเทศไทย เผยกับกรุงเทพธุรกิจว่า งานเทศกาลอาหารปีนัง ปีนี้จัดเป็นครั้งที่ 2 ด้วยความร่วมมือของชมรมมาเลเซีย ประเทศไทย (Kelab Thailand Malaysia: KMT) และสถานเอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำประเทศไทย หลังจากครั้งแรกในปี 2564 ที่ชมรมมาเลเซียประเทศไทยเป็นผู้จัด ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก
- ทำไมต้องเป็นปีนัง
ทูตกล่าวว่า คนไทยรู้จักปีนังดีและทางสถานทูตก็พยายามส่งเสริมเพราะที่นี่มีความหลากหลายด้านอาหารและวัฒนธรรมที่คนไทยคุ้นเคย
“ตั้งแต่อดีตจนกระทั่งทุกวันนี้คนไทยมักส่งลูกหลานไปเรียนปีนัง ด้วยเหตุนี้เราจึงพยายามฉายภาพปีนังเป็นเกตเวย์สู่มาเลเซีย” ทูตกล่าวพร้อมเสริมว่า คนมาเลเซียและไทยมากมายนิยมไปเที่ยวรอบๆ ปีนัง เช่น ลังกาวี เประ อีกทั้งการเดินทางจากปีนังไปอิโปห์ กัวลาลัมเปอร์ก็ทำได้ง่ายมาก ปีนังนั่งเครื่องบินจากกรุงเทพฯ ใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง 20 นาที ขับรถจากหาดใหญ่แค่สองชั่วโมง ใกล้มากๆ
“นั่งรถไฟไปปีนังแล้วยังได้ชื่นชมกับสถานที่ส่วนอื่นๆ ของมาเลเซียได้ด้วย”
- การทูตซอฟต์พาวเวอร์
แน่นอนว่าการจะดึงคนมาเที่ยว เครื่องมือแรกที่ใช้คืออาหารและวัฒนธรรม
“เราใช้สิ่งนี้เป็นหนทางเล็กๆ สำหรับการทูตซอฟต์พาวเวอร์ ก็พยายามเลียนแบบไทย แม้ทำได้ไม่เท่ากับซอฟต์พาวเวอร์ไทยที่โด่งดังมาก” ทูตมาเลเซียกล่าวแบบชื่นชมไทยอยู่ในที
งานเทศกาลอาหารปีนังมีเป้าหมายอยู่ที่การส่งเสริมอาหารปีนังของแท้ต้นตำรับและวัฒนธรรมของมาเลเซีย ภายในงานมีการแสดงโชว์ และนำเชฟชื่อดังจากปีนัง Pearly Kee มาสาธิตอาหารเปอรานากัน (Peranakan หรือลูกผสมมลายู-จีน) คล้ายกับที่ภูเก็ตที่คนไทยเรียกว่า บาบ๋า ย่าหยา
"เรามีร้านอาหารของคนมาเลเซียในกรุงเทพฯ หลายร้าน เราอยากให้คนสนใจปีนังมากขึ้น อยากกระตุ้นให้ไปเที่ยวมาเลเซีย นี่คือหนทางหนึ่งในการส่งเสริมการท่องเที่ยว"
- ความเหมือนในความต่าง
งานเทศกาลอาหารปีนังมีร้านอาหารมาร่วม 20 ร้าน ร้านค้าประเภทนอนฟู้ด 7 ร้าน ทูตซามูเอลบอกว่า ชอบอาหารทุกอย่างที่มาร่วมงาน ไม่ว่าจะเป็นนาซิกันดาร์ ฉ่าก๋วยเตี๋ยว หมี่ฮกเกี้ยน โกจา บอกไม่ได้ว่าชอบอะไรเป็นพิเศษ
แต่บางคนมองว่า ดูๆ ไปอาหารปีนังหลายอย่างก็คล้ายกับอาหารไทย แล้วทำไมคนไทยต้องชิมอาหารมาเลเซียด้วย
“ก็อย่างที่คนไทยพูดว่า same same but different เหมือนก็จริงแต่ส่วนผสมที่ใช้ส่วนใหญ่แตกต่าง บางอย่างต้องนำมาจากปีนัง ร้านอาหารมาเลเซียในไทยหลายแห่งต้องไปหาส่วนผสมจากปีนังเพื่อให้ได้รสชาติแท้ๆ”
ทูตยกตัวอย่างความคล้ายคลึงระหว่างอาหารไทยกับมาเลเซีย เช่น ผัดไทยคล้ายกับฉ่าก๋วยเตี๋ยว แต่ก็ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว ผัดไทยค่อนข้างเปียก ฉ่าก๋วยเตี๋ยวแห้ง เส้นที่ทำก็ต่างจากเส้นผัดไทย และส่วนผสมส่วนใหญ่มาจากปีนัง หรือสะเต๊ะคล้ายกับของไทยแต่น้ำจิ้มแตกต่างกันแน่นอน น้ำจิ้มสะเต๊ะของมาเลเซียทำจากซอสถั่วและส่วนประกอบอื่นๆ ที่บางตัวหาไม่ได้ในเมืองไทย ด้วยเหตุนี้ทูตจึงหวังว่าจะมีผู้ประกอบการขายส่วนผสมอาหารมาเลเซียในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นตลาดที่ดี
- อัตลักษณ์มาเลเซีย
มาเลเซียเป็นชาติพหุวัฒนธรรม แล้วอัตลักษณ์ของชาติคืออะไรกันแน่ เรื่องนี้ทูตมีคำตอบ
"อัตลักษณ์คือสิ่งที่เราพูดกันในมาเลเซียว่า Malaysia truly Asia มีความเป็นเอเชียจริงๆ อยากรับประทานอาหารจีนไม่ต้องไปเมืองจีน อยากรับประทานอาหารอินเดียไม่ต้องไปอินเดีย อยากรับประทานอาหารมาเลย์ก็ไม่ต้องไปที่อื่น ไม่ต้องไปอินโดนีเซีย ทุกอย่างมีในมาเลเซีย"
ไม่เพียงเท่านั้นมาเลเซียยังได้รับอิทธิพลจากยุคอาณานิคมไม่ว่าจะเป็นโปรตุเกส เนเธอร์แลนด์ และอังกฤษ มาเลเซียมีอาหารเหล่านี้ด้วย ชี้ให้เห็นถึงพหุเชื้อชาติ พหุศาสนา พหุวัฒนธรรม ไม่ว่าจะไปปีนัง กัวลาลัมเปอร์ อิโปห์ ผู้มาเยือนจะได้ลิ้มลองอาหารต่างๆ จากวัฒนธรรมแตกต่าง
- ปีท่องเที่ยวมาเลเซีย 2569
นายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม และรัฐมนตรีการท่องเที่ยวมาเลเซียร่วมกันประกาศแคมเปญปีท่องเที่ยวมาเลเซีย 2569 เป้าหมายหลักคือต้องการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากจีน อินเดีย และภูมิภาคอาเซียน รวมถึงโลกตะวันตกที่มีเที่ยวบินตรงมายังมาเลเซีย
“นักท่องเที่ยวที่มาเขาอยากได้เที่ยวบินตรง ซึ่งเราก็เข้าใจและพยายามเปิดเที่ยวบินตรงไปยังประเทศที่ยังไม่มี” ทูตกล่าวถึงปัจจัยเรื่องเที่ยวบิน ที่ตอนนี้เที่ยวบินตรงไกลสุดของมาเลเซียคือกัวลาลัมเปอร์-ลอนดอน และมี code sharing ไปแฟรงค์เฟิร์ตและอัมสเตอร์ดัม คาดว่ามาเลเซียแอร์ไลน์ แอร์เอเชีย และบาติกแอร์ ที่บินไปหลายที่ในออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และภูมิภาคอาเซียน จะขยายเส้นทางบินไปยังที่อื่นๆ ด้วย
- ปลื้มไอเดียนายกฯ เศรษฐา 1 วีซ่า 6 ประเทศ
ด้านความร่วมมือส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างมาเลเซียกับไทยนั้น ทูตกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศได้หารือกันเมื่อช่วงปลายเดือน พ.ย. ตอนที่นายกฯ อันวาร์มาเยือนด่านสะเดา
นายกฯ เศรษฐากล่าวว่า “คุณรู้มั้ยมาเลเซียมีศักยภาพมากมาย วัฒนธรรมหลากหลาย แหล่งท่องเที่ยวมากมาย แต่เรายังส่งเสริมน้อย” ทูตกล่าวและว่า ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงเห็นชอบช่วยมาเลเซีย ในแง่การส่งเสริม ทำงานร่วมกับหน่วยงานวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของมาเลเซีย ทำโปรแกรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในสองประเทศ
ทูตยอมรับว่าไทยมีทรัพยากรมากกว่า มาเลเซียจะใช้ความเชี่ยวชาญจากไทยส่งเสริมการท่องเที่ยวมาเลเซีย และเมื่อเร็วๆ นี้ไทยเพิ่งเสนอนโยบาย 6 ประเทศ 1 วีซ่า ซึ่งมาเลเซียก็จะได้ประโยชน์ด้วย
"ก็สนับสนุนแนวคิดของนายกฯ เศรษฐานะครับ เชื่อมั่นว่าความสำเร็จไม่ใช่แค่กับไทย แต่สำหรับมาเลเซียและภูมิภาคโดยรวมด้วย แนวคิดริเริ่มของนายกฯ เศรษฐาดีมาก นายกฯ ของผมยินดีซัพพอร์ตเต็มที่"
- ชวนผู้ประกอบการขยายธุรกิจ
นอกจากประชาสัมพันธ์อาหารมาเลเซียแล้ว งานเทศกาลอาหารปีนังยังเป็นแพลตฟอร์มส่งเสริมให้ผู้ประกอบการขยายธุรกิจ งานนี้อาจใช้เป็นมาตรวัดความชอบอาหารของคนไทยได้ด้วย
"ผมทราบมาว่าคนไทยชอบกินหวาน เผ็ด และรสจัด แต่ก็มีอาหารบางอย่างที่หารับประทานในไทยไม่ได้ เช่น นาซิกันดาร์ ซึ่งเป็นข้าวรับประทานกับเนื้อวัว แกะ หรือไก่ทอดและผัก ก็ต้องดูว่าแบบไหนคนไทยชอบหรือไม่ชอบ ถือเป็นการสำรวจตลาดให้ผู้ประกอบการมาเปิดร้านอาหารในกรุงเทพฯมากขึ้น อาหารเป็นสิ่งที่ทุกคนชอบ เป็นตัวช่วยให้เราเชื่อมโยงกับคนอื่นๆ"
ก่อนจากกันทูตมาเลเซียได้ฝากข้อความถึงคนไทย มาชิมอาหารปีนัง ชมการแสดงทางวัฒนธรรมแล้ว อยากให้ไปเที่ยวมาเลเซียด้วย แค่ข้ามพรมแดนก็ถึง
" มาเลเซียเป็นประเทศสุขสงบ พหุวัฒนธรรมและศาสนา จากภาคเหนือสุดถึงใต้สุดของมาเลเซียใช้เวลาขับรถราวสี่ชั่วโมงครึ่ง ถนนดี คนไทยหลายคนชอบไปกัวลาลัมเปอร์ เป็นสวรรค์ของการชอปปิง บ้างก็ชอบไปเที่ยวเกนติงไฮแลนด์ เที่ยวสวนสนุกและกาสิโน นอกเหนือจากเมืองใหญ่เรายังมีเมืองเล็กๆ ให้สัมผัส มาเที่ยวมาเลเซียกันนะครับยินดีต้อนรับ ไม่ต้องใช้วีซ่า รู้จักมาเลเซียแล้วจะรักมาเลเซีย”ท่านทูตกล่าวทิ้งท้าย จริงหรือไม่จริงอย่างที่ท่านทูตว่า ต้องไปพิสูจน์ด้วยตนเอง เริ่มต้นที่ปีนังก่อนเลย