‘ปูติน’ ฉลองชัยเหนือนาซี ไม่วายโทษ 'ชาติตะวันตก' เสี่ยงสร้างความขัดแย้งทั่วโลก
"ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน" ฉลองชัยชนะเหนือกองทัพนาซีเยอรมนี ด้วยขบวนสวนสนามที่มีขนาดเล็กลง บ่งชี้ สงครามยูเครนตึงเครียด และกล่าวโทษชาติตะวันตกว่า "เสี่ยงสร้างความขัดแย้งทั่วโลก"
ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินเแห่งรัสเซีย กล่าวโทษชาติตะวันตกในงานเฉลิมฉลองที่สหภาพโซเวียตมีชัยเหนือนาซีเยอรมนี วันนี้ ว่า ชาติตะวันตกเสี่ยงสร้างความขัดแย้งทั่วโลก และย้ำว่าไม่มีใครมีสิทธิคุกคามมหาอำนาจนิวเคลียร์ใหญ่สุดของโลก
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ขณะที่กองทัพรัสเซียบุกโจมตีกองกำลังของยูเครนที่ได้รับการสนับสนุนจากชาติตะวันตก ปูติน โทษว่า “ชนชั้นสูงชาวตะวันตกที่หยิ่งผยอง” ลืมบทบาทของสหภาพโซเวียตที่สามารถล้มนาซีเยอรมนีได้ และชาติตะวันตกก่อให้เกิดความขัดแย้งทั่วโลก
“เรารู้ว่าความทะเยอทะยานที่สูงเกินไปจะนำไปสู่อะไร รัสเซียจะทำทุกอย่างเพื่อปกป้องความขัดแย้งทั่วโลก” ปูติน กล่าว ณ จัตุรัสแดง (Red Square) หลังเซอร์เก ชอยกู รัฐมนตรีว่ากระทรวงกลาโหม ตรวจแถวกองทหารเกียรติยศ
“แต่ขณะเดียวกัน เราจะไม่อนุญาตให้ใครมาคุกคามเรา กองกำลังทางยุทธศาสตร์พร้อมรบอยู่เสมอ” ปูตินย้ำ
ปูติน กล่าวด้วยว่า ชาติตะวันตกอาจลืมบทเรียนจากสงครามโลก ครั้งที่ 2 ในตะวันตกไปแล้ว แต่รัสเซียยังคงจำได้ว่าชะตากรรมของมนุษยชาตินั้นถูกชี้เป็นชี้ตาย ในการต่อสู้ครั้งใหญ่ใกล้กรุงมอสโก และเลนินกราด รวมถึงรเชฟ (Rzhev), สตาลินกราด, คูสค์, คาร์คีฟ, พื้นที่ใกล้มินสก์, สโมแลนสค์ และเคียฟ ทั้งยังย้ำว่า เกิดการสู้รบดุเดือด และนองเลือดตั้งแต่เมอร์มานสค์ ไปจนถึงคอเคซัส และไครเมีย
นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงประชาชนจีนที่ต่อสู้กับทหารญี่ปุ่นด้วย
ทั้งนี้ สหภาพโซเวียตสูญเสียประชาชน 27 ล้านคน จากสงครามโลก ครั้งที่ 2 รวมถึงประชาชนหลายล้านคนในยูเครน แต่ก็สามารถกดดันให้กองทัพนาซีล่าถอยไปยังกรุงเบอร์ลิน ซึ่งเป็นเมืองที่ “อดอล์ฟ ฮิตเลอร์” ผู้นำนาซีเยอรมันฆ่าตัวตาย และจากนั้นป้ายชัยชนะโซเวียต ก็ยกขึ้นเหนืออาคารไรชส์ทาค ในกรุงเบอร์ลิน เมื่อปี ค.ศ. 1945
การยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไขของนาซีเยอรมนี เกิดขึ้นในวันที่ 8 พ.ค.67 เวลา 23.01 น. ตามเวลายุโรป ในปี 1945 และกลายเป็นวันแห่งชัยชนะในยุโรป ทั้งในฝรั่งเศส, อังกฤษ และสหรัฐ ขณะที่กรุงมอสโกเข้าสู่วันที่ 9 พ.ค.1945 แล้ว และกลายเป็นวันแห่งชัยชนะของสหภาพโซเวียต ซึ่งชาวรัสเซียเรียกว่า “มหาสงครามแห่งความรักชาติ” (The Great Patriotic War) ในช่วงปี 1941-1945
ในการเฉลิมฉลองวันนี้ รัสเซียมีการเดินสวนสนาม แต่ขบวนสวนสนามมีขนาดลดลง บ่งชี้ถึงความตึงเครียดของสงครามในยูเครน ซึ่งขบวนสวนสนามเผยให้เห็นเพียงรถถังขนาดกลาง T-34 พร้อมด้วยเครื่องบินรบบินปล่อยควัน 3 สีซึ่งเป็นสีของธงไตรรงค์รัสเซีย
นอกจากนี้ยังมี Yars ขีปนาวุธเชิงยุทศาสตร์ข้ามทวีป ที่ได้รับการรับรองว่ามีความสามารถในการโจมตีเป้าหมายได้ทุกจุดทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม งานนี้ไม่มีผู้นำจากชาติตะวันตกเข้าร่วม แต่มีเพียงผู้นำจากเบลารุส, คาซัคสถาน, คีร์กีซสถาน, ทาจิกิสถาน, เติร์กเมนิสถาน, อุซเบกิสถาน, คิวบา , ลาว และกินี-บิสเซา
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์