เปิดลิสต์ 'ซัพพลายเออร์' อาวุธอิสราเอล ใครระงับส่งออกแล้วบ้าง

เปิดลิสต์ 'ซัพพลายเออร์' อาวุธอิสราเอล ใครระงับส่งออกแล้วบ้าง

เปิดรายชื่อ "ซัพพลายเออร์" รายใหญ่รายย่อย ที่คอยส่งอาวุธให้อิสราเอล ซึ่งตอนนี้ระงับส่งมอบอาวุธสำคัญหลายชนิดแล้ว และบางรายเลิกส่งมอบอาวุธตั้งแต่เกิดสงคราม หลังกังวลว่า อาวุธที่จัดหาให้จะเกี่ยวข้องกับ "การละเมิดกฎหมายด้านมนุษยธรรม"

หลังฮามาสโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2566 และเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการทำสงครามของอิสราเอลในกาซา พันธมิตรรายใหญ่หลายแห่งเริ่มระงับการส่งออกหรือส่งออกอาวุธให้กับอิสราเอลลดลง เนื่องจากกังวลเกี่ยวกับการนำอาวุธไปใช้ละเมิดกฎหมายด้านมนุษยธรรม และเมื่อเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอลบุกด้านผ่านแดนราฟาห์ ตามที่ให้คำมั่นไว้ ยิ่งทำให้สหรัฐ ซึ่งเป็นพันธมิตรรายใหญ่ที่สุดที่คอยส่งมอบอาวุธให้ ต้องระงับความช่วยเหลือทางทหารในทันที

สำนักรอยเตอร์ได้รวบรวมซัพพลายเออร์รายใหญ่รายย่อย พบซัพพลายเออร์งดส่งอาวุธ-ส่งอาวุธให้อิสราเอลลดลงแล้ว 6 ประเทศ !

สหรัฐระงับส่งระเบิด 3,500 ลูก

อาวุธที่ "สหรัฐ" ซับพลายเออร์รายใหญ่ที่สุด ระงับส่งออกให้กับอิสราเอล ประกอบไปด้วย ระเบิดหนัก 2,000 ปอนด์ จำนวน 1,800 ลูก และระเบิดหนัก 500 ปอนด์ จำนวน 1,700 ลูก ซึ่งสหรัฐตัดสินใจระงับอาวุธนี้ เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับการนำระเบิดไปใช้โจมตี "ราฟาห์" เมืองที่มีชาวปาเลสไตน์หลบภัยสงครามกว่าล้านคน

ที่ผ่านมาสหรัฐส่งมอบอาวุธให้อิสราเอล เนื่องจากในปี 2559 ทั้งสองประเทศได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ 10 ปี ฉบับที่ 3 ซึ่งครอบคลุมการส่งมอบความช่วยเหลือทางทหารมูลค่า 38,000 ล้านดอลลาร์ ในระหว่างปี 2561-2571 รวมถึงมอบเงินช่วยเหลือ 33,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อซื้ออาวุธทางทหาร และส่งมอบระบบป้องกันขีปนาวุธ 5,000 ล้านดอลลาร์

ตามข้อมูลของสถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศแห่งสตอกโฮล์ม (Stockholm International Peace Research Institute: SIPRI) ระบุว่า อิสราเอลได้รับการช่วยเหลือทางทหารจากสหรัฐแล้ว 69% ในระหว่างปี 2562-2566

เยอรมนีลดส่งออกอาวุธ

ในปี 2566 ยอดอนุมัติส่งออกอาวุธทางทหารของเยอรมนีให้แก่อิสราเอล เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 326,500 ล้านยูโร มากกว่าปี 2565 เกือบ 10 เท่า เนื่องจากรัฐบาลเบอร์ลินให้ความสำคัญกับการอนุมัติส่งออกอาวุธเป็นอันดับต้น ๆ หลังฮามาสโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ต.ค.

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์การทำสงครามในกาซาของอิสราเอลตั้งแต่ต้นปี 2567 “รัฐบาลเยอรมนี” ซัพพลายเออร์อันดับ 2 รองจากสหรัฐ อนุมัติส่งออกอาวุธที่ใช้ทำสงครามให้แก่อิสราเอลน้อยลงมาก และมูลค่าจัดส่งอาวุธอยู่ในระดับเพียง 32,449 ยูโร

ข้อมูลจากสำนักข่าว German press agency dpa ระบุว่า ซัพพลายที่เยอรมนีส่งมอบให้อิสราเอล เป็นชิ้นส่วนประกอบสำหรับระบบป้องกันการโจมตีทางอากาศ และอุปกรณ์ด้านการสื่อสาร รวมถึงปืนต่อต้านรถถังแบบพกพา 3,000 กระบอก และกระสุนปืนกึ่งอัตโนมัติ 500,000 นัด

Dpa เผยด้วยว่า อาวุธส่วนใหญ่ที่​เยอรมนีอนุมัติส่งออกเป็นยานพาหนะทางบก และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนา การประกอบ การบำรุงรักษา และการซ่อมแซมอาวุธต่าง ๆ

ทั้งนี้ ในช่วงปี 2562-2566 เยอรมนีส่งมอบความช่วยเหลือทางทหารให้แก่อิสราเอลแล้ว 30%

“อิตาลี” งดส่งอาวุธตั้งแต่เกิดสงคราม

แหล่งข่าวกระทรวงการต่างประเทศอิตาลี ออกมายืนยันเมื่อวันที่ 9 พ.ค. ว่า อิตาลี หนึ่งในซัพพลายเออร์รายใหญ่สุดอันดับ 3 ของอิสราเอล ระงับอนุมัติส่งมอบอาวุธใหม่ นับตั้งแต่เกิดสงครามในกาซา และล็อตสุดท้ายจัดส่งเมื่อเดือน พ.ย. 2566

เนื่องจากภายใต้กฎหมายอิตาลี ระบุว่า อิตาลีไม่สามารถส่งออกอาวุธไปยังประเทศใด ๆ ที่กำลังทำสงคราม รวมถึงประเทศที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

กุยโด โครเซตโต รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม เผยว่า อิตาลียังคงส่งมอบอาวุธให้กับอิสราเอล แต่เป็นอาวุธที่ผ่านการอนุมัติมาก่อนแล้ว และตรวจสอบแล้วว่า อาวุธเหล่านั้นไม่ได้นำไปใช้โจมตีประชาชนในกาซา โดยในเดือน ต.ค. 2566 อิตาลีส่งอาวุธมูลค่า 1.3 ล้านดอลลาร์ให้กับอิสราเอล มากกว่าเดือนเดียวกันในปี 2565 3 เท่า

ทั้งนี้ อิตาลีส่งมอบความช่วยเหลือให้อิสราเอลราว 1% ในช่วงปี 2562-2566 รวมถึงเฮลิคอปเตอร์ และปืนใหญ่กองทัพเรือ

“ฝ่ายค้านอังกฤษ” ร้องรัฐบาล “ถอนใบอนุญาตส่งมอบอาวุธ”

อังกฤษไม่ใช่ซัพพลายเออร์รายใหญ่ที่สุดของอิสราเอล และรัฐบาลอังกฤษไม่ได้ส่งมอบอาวุธให้อิสราเอลโดยตรง แต่ให้ใบอนุญาตบริษัทต่าง ๆ จำหน่ายอาวุธได้ ซึ่งส่วนใหญ่ส่งชิ้นส่วนประกอบไปให้ซัพพลายเชนในสหรัฐ เช่น ชิ้นส่วนเครื่องบิน F-35

ในปี 2566 อังกฤษอนุมัติใบอนุญาตส่งออกเพื่อจำหน่ายอุปกรณ์ทางทหารให้แก่อิสราเอลมูลค่าอย่างน้อย 42 ล้านปอนด์ ซึ่งใบอนุญาตดังกล่าวอนุมัติให้ส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์หลายประเภท อาทิ อากาศยานไร้คนขับ กระสุนอาวุธขนาดเล็ก และชิ้นส่วนประกอบสําหรับเครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ และปืนไรเฟิลจู่โจม

แม้ข้อมูลดังกล่าว ช่วยให้เห็นภาพว่าอังกฤษมีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดส่งอาวุธให้อิสราเอล แต่ “ริชี ซูแน็ก” นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เผยกับรัฐสภาเมื่อวันพฤหัสบดี (9 พ.ค.) ว่า อังกฤษเป็นหนึ่งในประเทศที่ควบคุมการออกใบอนุญาตเข้มงวดที่สุดในโลก และมีการพิจารณาคำแนะนำเกี่ยวกับความมุ่งมั่นของอิสราเอลต่อกฎหมายด้านมนุษยธรรม

ขณะที่พรรคฝ่ายค้านออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเพิกถอนใบอนุญาตส่งออก เนื่องจากยอดผู้เสียชีวิตในกาซาพุ่งสูงขึ้น และเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยการพิจารณาทางกฎหมายที่ใช้ประเมินว่า อาวุธใดสามารถส่งออกได้

“แคนาดา” งดออกใบอนุญาตส่งมอบอาวุธ

รัฐบาลแคนาดาเผยเมื่อวันที่ 20 มี.ค. ว่า ได้ยุติให้ใบอนุญาตส่งออกอาวุธแก่อิสราเอลตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. และยังคงระงับต่อไปจนกว่ารัฐบาลออตตาวาจะมั่นใจว่าอาวุธเหล่านั้นนำไปใช้ตามกฎหมายด้านมนุษยธรรม

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ฮามาสโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ต.ค. แคนาดาได้ออกใบอนุญาตส่งมอบอาวุธใหม่ 28.5 ล้านดอลลาร์แคนาดา ซึ่งมากกว่ามูลค่าใบอนุญาตส่งออกของปีก่อน

“เนเธอร์แลนด์” ระงับส่งชิ้นส่วนเครื่องบินรบ

รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ ได้ระงับจัดส่งชิ้นส่วนเครื่องบินรบ F-35 ให้แก่อิสราเอลเมื่อเดือน ก.พ. หลังศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ชิ้นส่วนที่ส่งมอบมีความเสี่ยงนำไปใช้ในสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดกฎหมายด้านมนุษยธรรม

อ้างอิง: Reuters