ชิงความเป็นใหญ่ใน 'สงครามชิป' มูลค่า 13 ล้านล้านบาท ประเทศไหนอัดเงินเยอะสุด?

ชิงความเป็นใหญ่ใน 'สงครามชิป' มูลค่า 13 ล้านล้านบาท ประเทศไหนอัดเงินเยอะสุด?

ทั่วโลกตั้งแผนยุทธศาสตร์ มุ่งหน้าชิงความเป็นใหญ่ในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ จ่ออัดฉีดเงินทุนกว่า 13 ล้านล้านบาท หลังความต้องการชิปพุ่ง หวั่นความกังวลด้านความมั่นคง จุดชนวนการแข่งขันที่ดุเดือดกับ 'จีน'

สหรัฐและพันธมิตรต่างกำลังแข่งขันกับ "จีน" เพื่อแย่งชิงความเป็นผู้นำด้าน "เซมิคอนดักเตอร์" หรือ "ชิป" ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ยุคใหม่ โดยมีการอัดฉีดเงินอุดหนุนภายในประเทศมูลค่ามหาศาลเป็นตัวขับเคลื่อน ยิ่งทำให้การแข่งขันกับจีนเพื่อครองความเป็นผู้นำด้านชิปทวีความรุนแรง

บลูมเบิร์กรายงานว่า คลื่นลูกแรกของเงินอุดหนุนมีมูลค่าราว 8.1 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2.6 ล้านล้านบาท ได้ถูกโถมเข้าสู่ภาคการผลิตชิป เพื่อสนับสนุนให้บริษัทต่างๆ อย่าง อินเทล (Intel) และ TSMC (Taiwan Semiconductor Manufacturing Company) เพื่อให้สามารถผลิตชิปประสิทธิภาพสูงรุ่นใหม่ได้

 

เงินทุนมหาศาลเหล่านี้เป็นเพียง ส่วนหนึ่งของแผนการลงทุนมูลค่าราว 3.8 แสนล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 12.3 ล้านล้านบาท ที่รัฐบาลทั่วโลกเตรียมไว้สำหรับการสนับสนุนอุตสาหกรรมชิป

3 ประเทศให้เงินอุดหนุน ‘ชิป’ มากสุด

ชิงความเป็นใหญ่ใน \'สงครามชิป\' มูลค่า 13 ล้านล้านบาท ประเทศไหนอัดเงินเยอะสุด?

จีน เป็นประเทศที่จัดสรรเงินทุนสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมชิปมากที่สุด โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 1.42 แสนล้านดอลลาร์ โดยรวมการลดหย่อนภาษีแล้ว

 

ตามมาด้วยสหรัฐ ได้จัดสรรเงินทุนสำหรับกฎหมายว่าด้วยชิปและวิทยาศาสตร์ (Chips and Science Act) ซึ่งยอดเงินทั้งหมดที่รวมการปล่อยเงินกู้คิด และรวมการลดหย่อนภาษีเป็นเม็ดเงินกว่า 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์หรือราว 2.7 ล้านล้านบาท โดยตั้งงบประมาณสำหรับเงินทุน 3.9  หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งได้ใช้ไปแล้วกว่า 3.2  หมื่นล้านดอลลาร์

ส่วน ''เกาหลีใต้" ถือเป็นประเทศที่จัดสรรเงินทุนมากที่สุดเป็นอันดับ 3 โดยมีมูลค่ากว่า 5.5 หมื่นล้านดอลลาร์โดยรวมการลดหย่อนภาษีแล้ว 

จุดชนวนสงครามชิป

การอัดฉีดเงินอุดหนุนเพิ่มขึ้นหลังจากที่ “ความต้องการ”ชิปที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการนำไปใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แทบทุกชนิด เช่น สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ และรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเพิ่มขึ้นพร้อมกับความกังวลด้านความมั่นคง เนื่องจากจีนกลายเป็นผู้ผลิตชิปสำคัญของโลก ส่งผลให้สหรัฐและทั่วโลกต้องการลดการพึ่งพาจีน

จิมมี่ กู๊ดริช ที่ปรึกษาอาวุโสด้านจีนและเทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์ประจำ RAND Corp. กล่าวว่าการแข่งขันทางเทคโนโลยีกับจีนได้เดินทางมาถึงจุดหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของเซมิคอนดักเตอร์ ทั้งสองฝ่ายต่างกำหนดให้เรื่องนี้เป็นหนึ่งในเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ระดับชาติอันดับต้นๆ

รวมทั้งยังเป็นการจุดชนวนการแข่งขันระหว่างสหรัฐกับพันธมิตรในยุโรปและเอเชีย ทุกฝ่ายต่างต่างมุ่งแย่งชิงส่วนแบ่งจากความต้องการอุปกรณ์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) และคอมพิวเตอร์ควอนตัม