กู้ซื้อรถไม่ผ่านพ่นพิษ 'มาเลเซีย' แซง 'ไทย'  ขึ้นเบอร์ 2 ตลาดรถยนต์ใหญ่สุดในอาเซียน

กู้ซื้อรถไม่ผ่านพ่นพิษ 'มาเลเซีย' แซง 'ไทย'  ขึ้นเบอร์ 2 ตลาดรถยนต์ใหญ่สุดในอาเซียน

‘มาเลเซีย’ แซง ‘ไทย’ ขึ้นที่ 2 ตลาดรถยนต์ใหญ่สุดในอาเซียน! หลังยอดขายรถยนต์ในไทยเข้าสู่ ‘ขาลง’ ร่วง 25% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ พบยทอดขายแซงไทย 3 ไตรมาสติดต่อกันแล้ว 

สำนักข่าวนิกเคอิเอเชียรายงานว่า “มาเลเซีย” แซงหน้า “ไทย” กลายเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นรองเพียงแค่อินโดนีเซีย ซึ่งนับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในภูมิภาคนี้ที่กำลังกลายเป็นสมรภูมิสำคัญสำหรับผู้ผลิตรถยนต์ในเอเชีย

สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์เปิดเผยยอดขายรถยนต์ช่วงไตรมาส 1 ปีนี้ ใน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม พบว่ายอดขายรถยนต์ในมาเลเซียซึ่งอยู่อันดับ 3 มายาวนาน ได้เพิ่มขึ้นแซงหน้าไทยไปแล้ว โดยขยายตัว 5% เมื่อเทียบกับของไทยที่ลดลง 25% และยังเป็นยอดขายที่ดีกว่าเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกันอีกด้วย

กู้ซื้อรถไม่ผ่านพ่นพิษ \'มาเลเซีย\' แซง \'ไทย\'  ขึ้นเบอร์ 2 ตลาดรถยนต์ใหญ่สุดในอาเซียน

ตามข้อมูลของสมาคมยานยนต์แห่งมาเลเซีย เผยยอดขายว่ายอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้น 5% ในไตรมาสแรกของปี 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อยู่ที่ 202,245 คัน โดยเป็นการเติบโตต่อเนื่องมาจากยอดขายที่เพิ่มขึ้น 11% ในปี 2566 ซึ่งทำสถิติใหม่ที่ 799,731 คัน

การเติบโตอย่างต่อเนื่องเกิดจาก “มาตรการยกเว้นภาษีการขาย” สำหรับรถยนต์ที่ผลิตภายในประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล กลายเป็นแรงหนุนสำคัญให้กับแบรนด์รถยนต์แห่งชาติอย่าง Perodua และ Proton ซึ่งครองส่วนแบ่งการตลาดไปประมาณ 60%

การยกเว้นภาษีขายนี้เริ่มต้นขึ้นในปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด แม้ว่ามาตรการนี้จะสิ้นสุดลงในกลางปี 2565 แต่ยอดขายรถยนต์ที่ได้รับการยกเว้นภาษีตามคำสั่งซื้อก่อนหน้านั้น ยังคงส่งผลดีต่อตัวเลขยอดขายรวมในปี 2566 

สมาคมยานยนต์แห่งมาเลเซีย ระบุในแถลงการณ์ว่า "การเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่มากมาย รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้าที่มีราคาแข่งขันสูง ก็มีส่วนช่วยกระตุ้นยอดขายเช่นกัน"

ตลาดรถยนต์ไทยเข้าสู่ ‘ขาลง’

ขณะที่ยอดขายรถยนต์ใน“ไทย”กลับอยู่ในช่วง“ขาลง”แม้จะได้รับฉายาว่า "ดีทรอยต์แห่งเอเชีย" เนื่องจากเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยานยนต์ของภูมิภาค และครองอันดับ 2 ของตลาดรถยนต์ในอาเซียนมาอย่างยาวนานก็ตาม 

ยอดขายของไทยในไตรมาสแรกของปี 2567 ลดลงถึง 25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากปัญหา"หนี้ค้างชำระสินเชื่อรถยนต์"ที่เพิ่มขึ้น และภาวะการบริโภคที่ซบเซา แม้จะมีผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหม่จากจีนเข้ามาทำตลาด แต่สัดส่วนของรถยนต์ไฟฟ้าในตลาดไทยยังถือว่ามีน้อย

ก่อนหน้านี้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ไทย เผชิญปัญหาหนี้เสียและรถยึดจำนวนมาก  โดยเครดิตบูโรเผยว่า ปี 2566  ไทยมีปัญหาหนี้เสียสินเชื่อรถยนต์ 2.3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 28% จากปี 2565 และหนี้ค้างชำระไม่เกิน 90 วัน (SM): 2 แสนล้านบาท เนื่องจากหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น และราคารถยนต์มือสองที่ตกต่ำ ทำให้ธนาคารพาณิชย์และบริษัทจัดไฟแนนซ์เข้มงวดการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เช่น "เคเคพี"เน้นปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มรายได้ 30,000 บาทขึ้นไป และ"ธนาคารทิสโก้"ปรับเพิ่มเงินดาวน์ 20-30%

เบอร์ 1 อาเซียนก็ชะลอตัวแรง

ทางด้านตลาดรถยนต์เบอร์ 1 ในอาเซียนอย่าง “อินโดนีเซีย” ก็ชะลอตัวลงเช่นกัน ยอดขายรถยนต์ในไตรมาสแรกของปีนี้ ลดลง 24% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจซื้อรถยนต์ออกไป

ยอดขายรถยนต์ของอินโดนีเซียในปี 2566 อยู่ที่ประมาณ 1 ล้านคัน ซึ่งถือว่าลดลง 4% เมื่อเทียบกับปี 2565 และถือว่ายอดขายน้อยกว่าปี 2561 ถึง 30,000 คัน แม้ว่าสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์อินโดนีเซียจะตั้งเป้าหมายไว้ที่ 1.05 ล้านคัน แต่ยอดขายในปี 2566 ก็ยังไม่สามารถเป็นไปตามตามเป้าหมายที่วางไว้

ด้าน “เวียดนาม” ก็เผชิญกับตัวเลขยอดขายรถยนต์ที่ลดลง 16% ในไตรมาสแรกของปีนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สาเหตุหลักมาจาก“ภาวะเศรษฐกิจ”ภายในประเทศที่ซบเซาตั้งแต่ปีที่แล้ว เนื่องจากปัจจัยการส่งออกที่ชะลอตัว ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ในเวียดนามยังคงต่ำกว่ายอดขายปีที่แล้วถึง 2 หลัก

ส่วนตลาดรถยนต์ “ฟิลิปปินส์” กลับมีแนวโน้มเติบโต โดยมียอดขายในไตรมาสแรกเพิ่มขึ้น 13% ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นเป็นอันดับ 1 จากในบรรดา 5 ประเทศที่กล่าวมา หลังจากอัตราเงินเฟ้อลดลงเหลือประมาณ 4% ในช่วงปลายปี 2566 และสภาวะการใช้จ่ายของผู้บริโภคยังคงแข็งแกร่ง

คาดยอดขายรถอาเซียนปีนี้อาจ ‘หดตัว’

ดูเหมือนว่ารัฐบาลของประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่างพุ่งเป้าไปที่“ชนชั้นกลาง”ที่มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีผู้ผลิตรถยนต์จากจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และประเทศอื่น ๆ เข้ามาแข่งขันในภูมิภาคนี้มากขึ้น โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อยอดขายรถยนต์ในภูมิภาคนี้ คาดว่าจะเป็นเรื่องของ“เงินอุดหนุนจากรัฐ”และสภาพ”เศรษฐกิจมหภาค"

กู้ซื้อรถไม่ผ่านพ่นพิษ \'มาเลเซีย\' แซง \'ไทย\'  ขึ้นเบอร์ 2 ตลาดรถยนต์ใหญ่สุดในอาเซียน

อย่างไรก็ตาม สมาคมยานยนต์แห่งมาเลเซีย คาดการณ์ว่ายอดขายรถยนต์ในอาเซียนปีนี้อาจลดลง 7.5% แม้ว่ายอดขายของรถยนต์ไฮบริดและรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นก็ตาม

สมาคมยานยนต์แห่งมาเลเซีย คาดการณ์ว่า "การใช้จ่ายของผู้บริโภคอาจชะลอตัวลง" เนื่องจากหลายปัจจัย ได้แก่ ความกังวลเกี่ยวกับการปรับลดการอุดหนุนแบบเฉพาะกลุ่ม ค่าครองชีพที่สูงขึ้น และการประกาศใช้ภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย รวมทั้งค่าบริการที่สูงขึ้นสำหรับบริการบางประเภท เช่น ค่าซ่อแซมและบำรุงรักษารถยนต์