‘ไทย’ มอง ‘จีน’ มีอิทธิพลศก.ที่สุดในอาเซียน สัดส่วนทะลุ 70% เป็นรองแค่ ‘ลาว’
ผลสำรวจความเห็นชี้ ‘ไทย-ลาว’ มอง ‘จีน’ มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจมากที่สุดในอาเซียน ทิ้งห่าง ‘สหรัฐ’ มากกว่า 5 เท่า และยังเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการสำรวจที่คนอาเซียนเลือกจีนมากกว่าสหรัฐหากต้องเลือกข้าง
สถาบันคลังสมองในสิงคโปร์ ISEAS-Yusof Ishak Institute ได้เปิดเผยรายงานประจำปีที่มีชื่อว่า State of Southeast Asia 2024 เมื่อเดือน เม.ย. ว่า ในการสำรวจมุมมองกลุ่มตัวอย่างถึงอิทธิพลทางเศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจที่มีต่ออาเซียนนั้นพบว่า “ไทย” เชื่อว่า “จีน” มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจต่ออาเซียนมากที่สุดในสัดส่วนถึง 70.6% เป็นรองเพียงแค่ ‘ลาว’ ที่ให้น้ำหนักจีนมากถึง 77.5%
ลาวกับไทยยังเป็นเพียงแค่ 2 ชาติในอาเซียนที่ให้น้ำหนักกับอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนในสัดส่วนมากกว่า 70% ขึ้นไป และทิ้งห่างชาติมหาอำนาจอื่นๆ ที่ถูกเปรียบเทียบอิทธิพลทางเศรษฐกิจในอาเซียน เช่น สหรัฐ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป โดยเฉพาะ “สหรัฐ” นั้นถูกมองว่ามีอิทธิพลในสัดส่วนเพียง 8.1% และ 11.4% ตามลำดับ
ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนต่างมีมุมมองในทิศทางที่คล้ายกัน มีเพียง “ฟิลิปปินส์” ชาติเดียวเท่านั้นให้น้ำหนักจีนไม่ถึง 50% โดยอยู่ที่ 30.7% ซึ่งใกล้เคียงกับอิทธิพลเศรษฐกิจจากสหรัฐที่ 27.9%
อย่างไรก็ตาม สัดส่วนดังกล่าวยังเป็นเพียงผลสำรวจวามเห็นกลุ่มตัวอย่างประชาชนเกือบ 2,000 คนที่เป็นตัวแทนจาก 5 กลุ่ม ใน 10 ชาติอาเซียนเท่านั้น
นอกจากนี้เมื่อดูในรายละเอียดเพิ่มเติมยังพบว่า แม้กลุ่มตัวอย่างในไทยจะเชื่อว่าจีนมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจต่ออาเซียนมากที่สุดโดยทิ้งห่างประเทศอื่นๆ ไปหลายเท่า แต่เมื่อถามถึง “ความยินดี/เป็นกังวล” ต่ออิทธิพลนั้นกลับพบว่า ไทยมีสัดส่วนความกังวลมากถึง 80.3% เมื่อเทียบกับความยินดีที่ 19.7% ซึ่งสอดคล้องกับลาวที่สัดส่วน 72.7% และ 22.6% ตามลำดับเช่นกัน
รายงานยังพบข้อมูลที่น่าสนใจกับคำถามที่ว่า “หากถูกบีบให้ต้องเลือกข้างระหว่างจีนและสหรัฐ จะเลือกใคร” ซึ่ง 50.5% ของผู้ตอบแบบสอบถามเลือกจีน และ 49.5% เลือกสหรัฐ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่เริ่มมีการทำรายงานประจำปีดังกล่าวที่จีนเฉือนชนะสหรัฐจากคำถามเดียวกันนี้
ผลสำรวจนี้ซึ่งจัดทำระหว่างเดือน ม.ค.-ก.พ.ปีนี้ ยังนับเป็นการพลิกมุมมองคนในอาเซียนอย่างรุนแรงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งมีผู้เลือกสหรัฐถึง 61.1% และเลือกจีนเพียง 38.9% เท่านั้น
รายงานระบุว่า หนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้ประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียนเลือกหันหาจีนมากขึ้นมาจากนโยบายขนาดใหญ่ โครงการลงทุน และข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจของจีนในภูมิภาคนี้ นำโดยข้อตกลงความริเริ่มสายแถบและถนน (BRI) เม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) รวมทั้งจีนยังมีความสนใจที่จะเข้าเป็นสมาชิกข้อตกลง CPTPP ทำให้จีนยิ่งมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจและการค้าในภูมิภาคนี้ยิ่งขึ้น
ทุกผลสำรวจตอกย้ำอิทธิพลจีน
ก่อนหน้านี้ในปี 2565 องค์กร Doublethink Lab ซึ่งเป็นองค์ศึกษาด้านอิทธิพลจีนร่วมกับเครือข่าย China in the World ก็ได้เปิดเผยผลสำรวจดัชนีไชน่าอินเด็กซ์ (China Index) ซึ่งพบว่า "ประเทศไทย: อยู่ในอันดับที่ 4 ของประเทศที่ได้รับอิทธิพลจีนมากที่สุดในโลก เป็นรองเพียงแค่ปากีสถาน กัมพูชา และสิงคโปร์ ตามลำดับจากทั้งหมด 82 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ โดยการสอบถามผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับกิจกรรมต่าง ๆ ของจีนในประเทศนั้น ๆ
ทั้งนี้ ไทยมีการเปิดเผยหรือแสดงถึงอิทธิพลจีนอยู่ที่ 70% มีความกดดันจากประเทศจีน 23% และได้รับผลกระทบจากจีน 52%
ขณะที่รายงาน “ภาพรวมมหาอำนาจเอเชีย: จีนและสหรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ในปี 2566 ของสถาบันโลวี (Lowy Institute) กลุ่มคลังสมองออสเตรเลียพบว่า ตั้งแต่ปี 2561 สหรัฐสูญเสียอิทธิพลสี่ด้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้กับจีนอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ เครือข่ายกลาโหม อิทธิพลทางการทูต และอิทธิพลทางวัฒนธรรม โดยในปีดังกล่าวจีนมีอิทธิพลนำสหรัฐในสัดส่วน 52 ต่อ 48 ครั้นถึงปี 2565 จีนนำต่อที่ 54 ต่อ 46