สอนให้ทำงานหนัก แต่ไม่สอนให้ลงทุน 'คนญี่ปุ่น' ถูกหลอกพุ่ง 7 เท่า

สอนให้ทำงานหนัก แต่ไม่สอนให้ลงทุน 'คนญี่ปุ่น' ถูกหลอกพุ่ง 7 เท่า

คดีหลอกลวงการลงทุนใน 'ญี่ปุ่น' พุ่งขึ้น 7 เท่า ผู้เชี่ยวชาญชี้หลายคนมีความรู้เป็นศูนย์ หลังระบบเศรษฐกิจแบบญี่ปุ่นเน้นสอนให้คนทำงานหนักในยุค 'เงินฝืด' แต่ไม่ได้สอนเรื่องการลงทุนในยุค 'เงินเฟ้อ'

KEY

POINTS

  • คดีหลอกลวงการลงทุนในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 7 เท่า ในไตรมาสแรกปีนี้ อยู่ที่ประมาณ 1,700 คดี คิดเป็นมูลค่าความเสียหายเฉลี่ยเคสละ 13 ล้านเยน
  • อาชญากรฉวยโอกาสที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเปลี่ยนแปลงจากยุค "เงินฝืด" สู่ยุค "เงินเฟ้อ" ทำให้ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากต้องเอาเงินเก็บออกมาลงทุน ทั้งที่ไม่ค่อยมีประสบการณ์ในการลงทุนมาก่อน
  • ครัวเรือนญี่ปุ่นมีการลงทุนในตลาดหุ้นเพิ่มขึ้น 29.2% ในเดือนธ.ค. 2566 แต่ในภาพรวม ยังถือเป็นประเทศที่มีอัตราครัวเรือนถือครองเงินสดมากที่สุดในโลก
  • รัฐบาลเตรียมออกมาตรการป้องกันนักลงทุนรายย่อยเดือนหน้า 

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานอ้างข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่นว่า คดีหลอกลวงการลงทุนในญี่ปุ่นช่วงไตรมาสแรกปีนี้พุ่งขึ้นถึง 7 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ราว 1,700 คดี คิดเป็นมูลค่าความเสียหายเฉลี่ยเคสละ 13 ล้านเยน (ราว 3 ล้านบาท)

รายงานระบุว่า อาชญากรในญี่ปุ่นต่างฉวยโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ในประเทศอย่างรวดเร็ว จากยุค "เงินฝืด" สู่ยุค "เงินเฟ้อ" ทำให้ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากต้องเอาเงินเก็บออกมาลงทุนทั้งที่ไม่ค่อยมีประสบการณ์ในการลงทุนมาก่อน 

คาซึฮิเดะ ไซโจ ประธานสมาคมผู้ตกเป็นเหยื่อหลอกลวงการลงทุนกล่าวว่า หลายคนไม่รู้แม้แต่หลักการเบื้องต้นเรื่องโอกาสผลตอบแทนสูงก็มีความเสี่ยงสูงไปด้วย (high risk, high return)

"สำหรับเหล่ามิจฉาชีพแล้ว มันคือการหลอกลวงให้เชื่อว่า no risk, high return คนญี่ปุ่นมัวแต่ถูกสอนให้ทำงานหนักและเก็บออมเงิน แต่ในแง่การลงทุนแล้ว หลายคนไม่รู้ประสีประสาอย่างกับเด็กทารก" ไซโจกล่าว 
 

แม้ว่ากรณีหลอกลวงการลงทุนจะแพร่สะพัดไปทั่วโลกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ญี่ปุ่นกลับไม่ได้รับผลกระทบมากนักเนื่องจากมีกลไกคุ้มครองที่เรียกว่า "ภาวะเงินฝืด" อยู่ การที่ญี่ปุ่นจมอยู่กับภาวะเงินฝืดมานานนับ 30 ปี ทำให้คนญี่ปุ่นเน้นทำงานและสะสมแต่เงินสด ถึงขั้นที่เคยมีกระแสตู้เซฟขายดีมาแล้ว 

ทว่าการกลับมาของ "ภาวะเงินเฟ้อ" ที่ชาวญี่ปุ่นไม่คุ้นเคย โดยอัตราเงินเฟ้อซึ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 4 ทศวรรษเมื่อปีที่แล้ว บวกกับมาตรการของรัฐบาลในการดึงดูดผู้คนให้ลงทุนในหุ้นญี่ปุ่น ได้สร้างสภาพแวดล้อมที่เฟื่องฟูสำหรับการฉ้อโกงขึ้นมา 

สอนให้ทำงานหนัก แต่ไม่สอนให้ลงทุน \'คนญี่ปุ่น\' ถูกหลอกพุ่ง 7 เท่า

เอ็นโด ข้าราชการในวัย 60 ต้นๆ เป็นตัวอย่างของคนญี่ปุ่นที่เริ่มตระหนักว่าเงินที่เก็บมาทั้งชีวิตอาจไม่พอให้ใช้ชีวิตหลังเกษียณได้อย่างสบายๆ จึงทำให้ต้องคิดหาวิธีใหม่ในการเพิ่มไข่ทองคำ

ด้วยวิถีชีวิตติดเฟซบุ๊กทำให้เอ็นโดถูกยิงแอด "สัมมนาการลงทุนฟรี" เมื่อช่วงหน้าร้อนปีที่ผ่านมา จึงคลิกเข้าโฆษณาและได้รับเชิญให้เข้าร่วมกลุ่มในเฟซบุ๊ก จากนั้นก็ถูกชักจูงอย่างช้าๆ ทำให้ค่อยๆ เริ่มเริ่มลงทุนในแอปที่กลุ่มส่งให้ทีละน้อย

ทว่าการลงทุนทีละน้อยไม่มีอยู่จริง เอ็นโดนถูกกล่อมต่อเนื่องให้ลงทุนเพิ่มเพื่อให้ได้ผลตอบแทนมากขึ้น จนลงเอยที่การกู้ยืมเงิน และลงทุนไปทั้งหมด 20 ล้านเยน ก่อนจะเริ่มหยุดเมื่อมียอดเงินในพอร์ตเพิ่มเป็น 100 ล้านเยน ในช่วงแรกก็ถอนเงินส่วนหนึ่งออกมาได้ แต่ในเดือน ธ.ค. 2566 กลับไม่สามารถถอนเงินที่เหลือ จนสุดท้ายก็พบว่าแอปดังกล่าวเป็นของปลอม เงินที่เทรดไปไม่ได้เข้าตลาดหุ้น แต่ไปอยู่ในกระเป๋าของใครบางคน

กรณีของข้าราชการวัยใกล้เกษียณรายนี้เป็นแค่ตัวอย่างเล็กๆ ของคนญี่ปุ่นกำลังเริ่มหันมาลงในช่วงไม่กี่ปีมานี้ จากผลสำรวจของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) พบว่า ครัวเรือนญี่ปุ่นมีการลงทุนในตลาดหุ้นเพิ่มขึ้น 29.2% ในเดือนธ.ค. 2566 เมื่อเทียบกับการเก็บเงินสดที่เพิ่มขึ้นเพียง 1% 

อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมนั้นครัวเรือนชาวญี่ปุ่นก็ยังมีสัดส่วนการถือเงินสดมากกว่าครึ่ง และได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ครัวเรือนถือครองเงินสดเก็บไว้มากที่สุดในโลก มากกว่ากลุ่มประเทศยูโรโซนที่มีสัดส่วน 35.5% และเทียบกับสหรัฐซึ่งอยู่ที่ 12.6%

รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามที่เอาสภาพคล่องนั้นมาใช้ประโยชน์ จึงออกมาตรการสนับสนุนเปลี่ยนการออมเป็นการลงทุน โดยการขยายบัญชีออมทรัพย์เพื่อการเกษียณอายุที่ได้รับการยกเว้นภาษี (NISA)

แม้อัตราหลอกลวงการลงทุนในญี่ปุ่นอาจไม่ได้มากเมื่อเทียบกับในหลายประเทศ แต่รัฐบาลโตเกียวก็เริ่มตระหนักถึงปัญหาที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหลังมานี้ และรัฐบาลก็กำลังจะประกาศมาตรการใหม่ออกมาในเดือน มิ.ย. เพื่อรับมือกับการหลอกลวงฉ้อโกงเหล่านี้ให้มากขึ้น โดยเฉพาะการจับกุมเหล่ามิจฉาชีพ และยังได้กล่าวโจมตีแพลตฟอร์มโซเชียลอย่าง "เฟซบุ๊ก" ที่ไม่สามารถป้องกันโฆษณาหลอกลวงบนแพลตฟอร์มได้

มายูโกะ ซูซูกิ ศาสตราจารย์ด้านการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคจากมหาวิทยาลัยโอซากา เคียวอิคุ กล่าวว่า พวกมิจฉาชีพมักจจะมีเซนส์ดีในเรื่องเงิน สวนทางกับคนญี่ปุ่นจำนวนมากที่ตกเป็นเหยื่อง่ายๆ เพราะขาดการศึกษาเรียนรู้ด้านการเงิน โรงเรียนส่วนใหญ่ในญี่ปุ่นมักจะเน้นสอนเรื่องการออมและการใช้จ่ายเงินให้เป็น แต่ไม่ได้เน้นที่การลงทุนหรือต่อยอดเงินออมที่มีอยู่ ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการญี่ปุ่นเพิ่งจะเพิ่มหลักสูตรด้านการเงินเบื้องต้นให้เด็กมัธยมปลายเรียนรู้เรื่องโอกาสและความเสี่ยงของการลงทุน เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมานี้เอง