เงินฝากในจีนต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ นักลงทุนแห่ถอนไปลงทุน ‘หุ้น-บอนด์’
ธนาคารจีนสุดตึง! เงินฝากไหลออก 5.3 แสนล้านดอลลาร์ ทำนิวไฮ หลังจีนลดดอกเบี้ยเงินฝากต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ นักลงทุนเทเงินลงทุนในหุ้นปันผลดี - พันธบัตรรัฐบาล ดันราคาพุ่ง 25%
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ความพยายามในการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน ด้วยการลดแรงจูงใจในการฝากเงินกับธนาคาร ทำให้เกิด “ปรากฏการณ์มีเงินถูกถอนออกจากบัญชีเงินฝากเป็นจำนวนสูงสุดเป็นประวัติการณ์” โดยพบว่าเงินจำนวนไม่น้อยถูกนำไปลงทุนต่อในตลาดพันธบัตร และผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อเสริมความมั่งคั่ง
จากข้อมูลเดือนเมษายน ชี้ว่า ยอดเงินฝากรวมของประเทศจีนลดลง 3.9 ล้านล้านหยวน หรือราว 1.9 พันล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 1.3% เนื่องจากนักลงทุนกำลังมองหาสินทรัพย์ที่มีตอบแทนที่สูงกว่า ขณะที่นโยบายของภาครัฐได้ควบคุมบริษัทไม่ให้ใช้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากพิเศษเพื่อกักตุนเงินสดไว้ในธนาคาร ก็เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลต่อการไหลออกของเงิน
เมื่อเดือนที่แล้ว ผู้กำหนดนโยบายได้ออกมาตรการห้ามธนาคารเสนออัตราดอกเบี้ยเงินฝากพิเศษให้แก่บริษัท เพื่อหยุดพฤติกรรมการเก็งกำไร เนื่องจากบริษัทเหล่านี้เคยกู้ยืมเงินจากแหล่งอื่นในอัตราดอกเบี้ยต่ำ แล้วนำมาฝากในธนาคารเพื่อหวังผลกำไรจากส่วนต่างของดอกเบี้ย ซึ่งการกระทำนี้สร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงิน
ปัจจุบันการฝากประจำ 1 ปี กับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ของจีนนั้นให้ดอกเบี้ยเพียงแค่ 1.45% ซึ่งถือเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุดเท่าที่เคยมีมา
ในขณะเดียวกัน เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนใช้จ่ายเงิน รัฐบาลได้ร่วมมือกับธนาคารรัฐหลายแห่งเพื่อลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลง ข้อมูลจากธนาคารกลางจีน (PBOC) ชี้ว่า จากยอดเงินฝากรวมที่ลดลง 3.9 ล้านล้านหยวนในเดือนเมษายน มี 1.9 ล้านล้านหยวน เป็นเงินที่ประชาชนเบิกถอนออกจากบัญชีเงินฝาก
นักลงทุนโยกเงินสดเข้าตลาด ‘พันธบัตร’
เงินจำนวนมากไหลออกจากธนาคารไปยังสินทรัพย์ที่มีผลตอบแทนสูงกว่า ชี้ให้เห็นว่าความพยายามของรัฐบาลจีนที่ต้องการกระตุ้นให้ประชาชนเข้าสู่ตลาดการลงทุนเริ่มได้ผล แม้ว่าเงินเหล่านั้นจะยังไม่ไหลเข้าสู่การใช้จ่ายของผู้บริโภคหรือการลงทุนในหุ้นโดยตรง
หมิง หมิง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำบริษัทหลักทรัพย์ ซิติค ซีเคียวริตีส์ ในกรุงปักกิ่ง กล่าวว่า “ปัจจัยต่างๆ รวมถึงการยุติการกู้ยืมเพื่อเก็งกำไร ส่งผลอย่างมากต่อการจัดสรรเงินฝากธนาคารใหม่ และคาดว่าการเคลื่อนย้ายเงินดังกล่าวยังคงดำเนินต่อไป ประชาชนกำลังเบิกเงินออมออกมาเพื่อใช้จ่ายและลงทุน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้กำหนดนโยบายยินดีที่จะเห็น”
ซิติควิเคราะห์ว่าในเดือนเมษายน มีเงินฝากธนาคารจีนเข้าสู่การลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงและผลตอบแทนสูงกว่า เช่น พันธบัตร และผลิตภัณฑ์ด้านการบริหารความมั่งคั่ง เพิ่มขึ้นถึง 2.95 ล้านล้านหยวน หรือประมาณ 4.13 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะ “ตราสารหนี้”
รวมทั้ง ในขณะที่บลูมเบิร์ก เผยรายงานว่ามีเงินลงทุน 428 ล้านดอลลาร์ ไหลเข้าสู่กองทุนหลักทรัพย์และพันธบัตรจีน ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566
แห่ซื้อบอนด์จีน อายุ 30 ปี ดันราคาพุ่ง 25%
จีนประกาศขายพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวพิเศษหลายชุด เช่น พันธบัตรรัฐบาล อายุ 30 ปี ที่เปิดขายในวันที่ 17 พ.ค. ที่ผ่านมา ขณะที่อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรอายุ 1 ปี ลดลงใกล้เคียงกับระดับต่ำสุดที่เคยเห็นเมื่อกลางปี 2563 ทำให้ประชาชนมีความต้องการซื้อ “พันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี” จนราคาพุ่งสูงขึ้นถึง 25% ในวันเปิดขายวันแรก และมีแรงซื้อ “รุนแรง” จนทำให้ตลาดต้องหยุดปิดการซื้อขายชั่วคราว
นอกจากนี้ ยังมีสัญญาณว่า เงินบางส่วนที่ย้ายออกจากเงินฝากธนาคาร ได้ไหลเข้าสู่ “ตลาดหุ้น” โดยเฉพาะหุ้นที่จ่ายเงิน “ปันผลสูง” ทำให้ดัชนีหุ้นปันผลของตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 16% ในปีนี้ และเมื่อเดือนที่แล้ว ดัชนีแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2558
ทั้งนี้ นักลงทุนเดิมพันว่าธนาคารกลางจะผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อไป ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ของภาครัฐบาลจะช่วยหนุนการฟื้นตัว ทว่ายังมีความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน ทำให้นักลงทุนเทใจไปหุ้นที่จ่ายเงินปันผล มากกว่าหุ้นที่เน้นการเติบโต
เฉิน อี้คง กรรมการผู้จัดการบริษัทจัดการสินทรัพย์ ปักกิ่ง เหิงหยาง กล่าวว่า "การที่เงินฝากธนาคารถูกนำไปลงทุนในผลิตภัณฑ์ด้านการบริหารความมั่งคั่ง ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดในตลาดจีนช่วงนี้"
"เงินเหล่านี้ส่วนใหญ่ถูกนำไปซื้อผลิตภัณฑ์ที่ให้ผลตอบแทนแบบคงที่ เช่น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ของรัฐวิสาหกิจ และอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก"
แม้ว่าการซื้อพันธบัตรจะมีความน่าสนใจ แต่เฉิน มองว่าการซื้อพันธบัตรลักษณะนี้ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากสุดท้ายแล้วจะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนลดลงต่ำเกินไป
เสิ่น เมิ่ง ผู้อำนวยการธนาคารเพื่อการลงทุน แชนสัน แอนด์ โค กล่าวว่า "นี่เป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงความมั่นใจในเศรษฐกิจ และแนวโน้มรายได้ที่อ่อนแอทำให้ประชาชนหันไปหาสินทรัพย์ที่มีผลตอบแทนที่สูงขึ้น แม้จะเป็นกำไรเพียงเล็กน้อยแทนที่จะกระตุ้นการบริโภค ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางการต้องการจริงๆ ผมคาดว่าสถานการณ์นี้จะยังคงดำเนินต่อไปในอนาคตอันใกล้ และหากกำไรในตลาดทุนไม่สามารถรักษาไว้ได้ นักลงทุนอาจย้ายเงินกลับไปฝากธนาคารอีกครั้ง"
ขณะที่นักวิเคราะห์รายอื่นๆ ยังมองว่าเศรษฐกิจจะยังอยู่ในสถานการณ์นี้ต่อไปไม่อีกกี่เดือน โดย ซิง จ้าวเผิง นักกลยุทธ์อาวุโสของจีนที่ธนาคาร มองว่าการเบิกถอนเงินฝากจะยังคงเพิ่มขึ้น สวนทางการเติบโตของสินเชื่อจะลดลงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เนื่องจากรัฐบาลจีนต้องการดึงสภาพคล่องที่เรียกว่า "เงินนอนตาย" มาใช้ในการชำระหนี้สินเชื่อ แต่รัฐบาลจะไม่พอใจอย่างมาก ถ้าเงินเหล่านั้นถูกนำไปใช้ในการเก็งกำไรในพันธบัตรรัฐบาล
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์