ไต้หวันชี้ 'ไทย' เป็นฮับ PCB เบอร์ 3 โลกได้ แต่น้ำ แรงงาน และพลังงานสะอาดต้องพร้อม
ไต้หวันชี้ไทยมีศักยภาพเป็นศูนย์กลาง PCB อันดับ 3 ของโลก หลังดึงไต้หวันลงอุตสาหกรรม PCB เกือบ 30 โครงการในปีที่ผ่านมา แต่ไทยกลับเผชิญความท้าทายเรื่องน้ำ แรงงาน ระบบจัดการขยะและพลังงานสะอาดที่ไม่เพียงพอ
สำนักข่าวนิกเกอิรายงานว่า อุตสาหกรรมแผงวงจรพิมพ์ (PCB) ในประเทศไทยขยายตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งนำไปสู่ความกังวลเกี่ยวกับ "ความมั่นคงด้านพลังงาน" โดยสมาคมแผงวงจรไต้หวัน (TPCA) ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ผลิต PCB และซัพพลายเออร์วัสดุและอุปกรณ์ มากกว่า 700 รายในไต้หวันคาดการณ์ว่าสวนอุตสาหกรรมของไทยอาจเผชิญกับ การขาดแคลนพลังงาน ในต้นปีหน้า สาเหตุหลักมาจากโรงงาน PCB แห่งใหม่จำนวนมากที่ทยอยเปิดดำเนินการผลิตเร็วๆนี้
PCB (Printed Circuit Board) หรือ "แผ่นวงจรพิมพ์" ทำหน้าที่เป็นฐานรองรับชิปและส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ บนแผ่นวัสดุฉนวน มีบทบาทสำคัญในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด ช่วยให้ประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กและซับซ้อนลงบนแผ่นเดียว ประหยัดพื้นที่และลดต้นทุนการผลิต
จากข้อมูลของสมาคม TPCA ระหว่างเดือนมกราคม 2566 ถึงเมษายน 2567 พบว่ามีการลงทุนในอุตสาหกรรม PCB ในประเทศไทยเพิ่มขึ่นเกือบ 30 โครงการ ซึ่งการเติบโตอย่างรวดเร็วนี้ ส่งผลต่อความต้องการพลังงานไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น
ไทยมีศักยภาพเป็นฮับ PCB อันดับ 3 ของโลก
มอริซ ลี ประธานสมาคม TPCA และที่ปรึกษาอาวุโสของ Unimicron Technology ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายชิปซับสเตรทและแผ่นปริ้นท์ชั้นนำ กล่าวว่าโรงงานใหม่ 7 แห่งจะเริ่มดำเนินการภายในปีนี้ ส่วนที่เหลือจะทยอยเปิดดำเนินการภายในปลายปี 2568 แต่ทว่าโรงงานต่างๆกำลังเจอปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขตั้งแต่ตอนนี้ เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำ แรงงานที่มีทักษะเพียงพอและระบบจัดการขยะของไทยด้วย
เดิมทีการผลิตแผ่นปริ้นท์ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในจีนและไต้หวัน โดยมีบางส่วนที่ผลิตแผ่นวงจรรวม อยู่ในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ แต่ความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ทวีความรุนแรงตั้งแต่ปี 2565 เมื่อจีนทำการซ้อมรบทางทหารใกล้กับไต้หวัน ส่งผลให้เกิดการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับแผ่นปริ้นท์หลั่งไหลเข้ามาสู่ประเทศไทยมากขึ้น
"ประเทศไทยกำลังจะกลายเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรม PCB ที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก เราจำเป็นต้องยกระดับความสามารถในการตอบสนองอย่างคล่องตัว และเราต้องการการสนับสนุนจากภายในประเทศเพื่อช่วยเราสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ดีขึ้น เนื่องจากประเทศไทยมีศักยภาพที่ยอดเยี่ยมในการรองรับอุตสาหกรรมแผ่นปริ้นท์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากมีความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ต่ำและแรงงานที่มีศักยภาพในราคาที่แข่งขันได้" ลีกล่าว
ไทยกลายเป็นจุดหมายปลายทางอันดับต้น ๆ สำหรับการย้ายฐานการผลิต เนื่องจากมีเครือข่ายการผลิตแผ่นปริ้นท์ที่มีขนาดเล็กอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนเกิดสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน เพราะมีห่วงโซ่อุปทานด้านยานยนต์ที่แข็งแกร่งมายาวนาน ด้วยเหตุนี้ทำให้สมาคมจึงประมาณการว่าภายในปี 2568 ประเทศไทยจะมีสัดส่วนการผลิตแผ่นปริ้นท์ของโลกอยู่ที่ 4.7% เพิ่มขึ้นจาก 3.5% ในปี 2565
ไต้หวันกังวลโครงสร้างพื้นฐานไทยไม่พร้อม
ทางสมาคมได้หารือเกี่ยวกับความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานกับผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดปราจีนบุรีและอยุธยา ซึ่งเป็นที่ตั้งยอดนิยมของผู้ผลิต PCB และซัพพลายเออร์จากไต้หวันแต่ยังคงมีข้อกังวลอยู่หลายอย่างด้วยกัน
ยกตัวอย่างจังหวัดปราจีนบุรี มีโรงงานผลิตแผงวงจรพิมพ์เกิดใหม่ 10 แห่ง รวมถึงโรงงานผู้ผลิตวัสดุและอุปกรณ์อีก 4 แห่ง ที่กำลังก่อสร้างไปพร้อมๆ กันและจะเริ่มดำเนินการผลิตในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งตอนนี้โรงงานต่างๆก็วิตกกังวลเกี่ยวกับความต้องการไฟฟ้าและน้ำที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อโรงงานใหม่เหล่านี้ทยอยเดินเครื่องจักรเต็มกำลังการผลิต
สำหรับการผลิตแผงวงจรพิมพ์ ต้องใช้น้ำและพลังงานมากกว่าการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ อย่างมาก เนื่องจากโรงงานเปิดดำเนินการตลอด 24 ชั่วโมง และต้องใช้น้ำที่มีความบริสุทธิ์สูง DI (Deionized Water) เพื่อชำระสิ่งสกปรกและสารเคมีออกจากแผงวงจร ซึ่งแหล่งจ่ายไฟฟ้าที่ไม่เสถียรอาจส่งผลต่อคุณภาพของ PCB และหากการผลิตหยุดชะงัก เครื่องจักรจะต้องได้รับการตรวจสอบก่อนที่จะเริ่มต้นใหม่อีกครั้งทำให้ใช้เวลานานและเพิ่มต้นทุนการดำเนินงาน
รวมทั้งการจัดการของเสียเป็นอีกหนึ่งความท้าทาย ลีกล่าวว่าปริมาณขีดความสามารถในการจัดการขยะของโรงงานในพื้นที่ปัจจุบันไม่เพียงพอต่อปริมาณโรงงานผลิต PCB ที่จะเพิ่มขึ้น เพราะโรงงานผลิต PCB เพียงแห่งเดียวต้องเก็บน้ำยากัดลายวงจรใช้แล้วได้หลายสิบตันซึ่งต้องมีการจัดการอย่างเหมาะสม ซึ่งการกักเก็บสารเคมีใช้แล้วจำนวนมากไว้ในโรงงานหลายถัง นับเป็นความเสี่ยงด้านความปลอดภัยในการทำงาน
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรม PCB ในจีนและไต้หวันก็เคยประสบปัญหาความท้าทายด้านพลังงานและน้ำที่คล้ายคลึงกัน ขณะที่พัฒนาห่วงโซ่อุปทานในพื้นที่ดังกล่าวเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ดังนั้นตอนนี้ประเทศไทยต้องเตรียมพร้อม
'พลังงานสะอาด'ตัวแปรสำคัญธุรกิจสีเขียว
คริสตี้ ซุน-ซู ซู ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยอาเซียนศึกษาไต้หวัน สถาบันวิจัยเศรษฐกิจชุง-ฮวา แห่งไทเปกล่าวว่า พลังงาน ที่ดิน และแรงงาน เป็นหนึ่งในความท้าทายอันดับต้นๆ ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทานที่กำลังดำเนินอยู่
แม้ว่าหลังโควิดจะมีการลงทุนใหม่ไหลเข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวนมาก แต่ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ พลังงาน แรงงาน และโลจิสติกส์ กลายเป็นความท้าทายของรัฐบาลไทย สำหรับสิ่งสำคัญอย่างระบบไฟฟ้า ที่ไม่ใช่แค่ปริมาณไฟฟ้าที่เพียงพอเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของแหล่งผลิตไฟฟ้าด้วย
ทั้งนี้ไฟฟ้าสะอาดก็ยังเป็นหนึ่งในปัญหาที่ผู้ผลิตชิปในเอเชียกำลังเผชิญมาโดยตลอด เนื่องจากในภูมิภาคก็มีทางเลือกด้านพลังงานสะอาดไม่เพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการของลูกค้าและเป้าหมายด้าน ESG เช่นกัน
อ้างอิง Nikkei