ความสำคัญและประโยชน์ต่อไทยของระเบียงเศรษฐกิจ IMEC | World Wide View
ระเบียงเศรษฐกิจอินเดีย-ตะวันออกกลาง-ยุโรป มีจุดมุ่งหมายเปิดเส้นทางการค้าใหม่ให้กับนานาประเทศ ทั้งยังเปรียบเสมือนกุญแจที่เปิดประตูให้ไทยเชื่อมต่อไปยังภูมิภาคเอเชียใต้-ตะวันออกกลาง-ยุโรปได้อย่างรวดเร็ว สร้างโอกาสการค้าให้ผู้ประกอบการไทยได้อย่างมหาศาล
ระเบียงเศรษฐกิจอินเดีย-ตะวันออกกลาง-ยุโรป หรือทับศัพท์ภาษาอังกฤษเรียกว่า India-Middle East-Europe Economic Corridor (IMEC) เป็นโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าและการขนส่งระหว่างประเทศ ที่พาดผ่านเส้นทางหลากหลายรูปแบบการคมนาคม ทั้งราง ถนน และทะเล เส้นทางนี้ประกอบด้วย 2 ระเบียง ได้แก่ (1) ระเบียงเศรษฐกิจเส้นทางตะวันออก (Eastern Corridor) เชื่อมอินเดีย-อ่าวอาหรับ หรืออ่าวเปอร์เซีย และ (2) ระเบียงเศรษฐกิจเส้นทางเหนือ (Northern Corridor) เชื่อมอ่าวอาหรับ-ยุโรป โดยจะสามารถขนส่งสินค้าและบริการได้ตั้งแต่ระหว่างอินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย จอร์แดน อิสราเอล และสหภาพยุโรป เส้นทางตามรูป
โครงการระเบียงเศรษฐกิจ IMEC เป็นโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในเอเชียใต้-ตะวันออกกลาง-ยุโรป ที่ครอบคลุมทั้งในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งสินค้า ความมั่นคงด้านพลังงานสะอาด และการเชื่อมโยงโครงข่ายโทรคมนาคม รวมถึงมุ่งส่งเสริมความเชื่อมโยงและการบูรณาการทางเศรษฐกิจระหว่างเอเชีย อ่าวเปอร์เซีย และยุโรป ซึ่งจะเป็นเส้นทางจากอินเดียไปยังยุโรปผ่านสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย จอร์แดน อิสราเอล และกรีซ โดยเมื่อเดือนกันยายน 2566 ผู้นำอินเดีย สหรัฐอเมริกา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย อิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมนี และคณะกรรมาธิการยุโรป ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกันระหว่างการประชุมสุดยอด G20 ที่กรุงนิวเดลี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้รับผลประโยชน์การขยายตัวทางการค้าระหว่างกัน จากการเข้าถึงเส้นทางการค้าใหม่ที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ การรวมตัวทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ตามแนวเส้นทางโครงการ IMEC จะช่วยเพิ่มบทบาทในเวทีโลก ขีดความสามารถในการแข่งขัน และอำนาจการต่อรองในเวทีการค้าโลกให้ประเทศที่เกี่ยวข้อง และโดยที่เป็นการสร้างเส้นทางขนส่งสินค้าแห่งใหม่ จึงไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเส้นทางเดินเรือในช่องแคบฮอร์มุซเพียงเส้นทางเดียวอีกต่อไป ทำให้มีความยืดหยุ่นในห่วงโซ่อุปทาน ส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานในแต่ละประเทศจากโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งยังดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในโครงการและธุรกิจอื่น ๆ ที่จะเข้ามาตั้งฐานการผลิตในอนาคต ซึ่งรวมไปถึงการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมระหว่างภูมิภาค ผ่านการติดตั้งสายเชื่อมโยงไฟเบอร์ออปติกส์ และการขยายโครงข่ายไฟฟ้าผ่านสายเคเบิลใต้น้ำ ที่จะช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการสื่อสารและข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ควบคู่ไปกับการเติบโตของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น ท่อขนส่งไฮโดรเจน และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงตามเส้นทางด้วย
เส้นทางใน IMEC ไม่เพียงแต่เป็นเส้นทางในการขนส่งสินค้าเท่านั้น แต่ยังถูกใช้เป็นเส้นทางในการขนส่งพลังงานสะอาดอย่างไฮโดรเจนเพื่อนำไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า จึงถือเป็นโครงการที่สร้างเสริมความมั่นคงด้านพลังงานให้ประเทศที่เกี่ยวข้องอย่างยั่งยืน ในโอกาสเดียวกัน โครงการ IMEC ยังมีส่วนส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างแต่ละประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้ทุกประเทศมีเสถียรภาพทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง และนำไปสู่การลดทอนความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งทั้งในและต่างประเทศได้
ดังนั้น จึงสามารถกล่าวได้ว่า โครงการ IMEC จะเป็นโครงการที่มาถ่วงดุลอำนาจกับโครงการริเริ่มหนี่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือ Belt and Road Initiative (BRI) ของจีน เพราะสองโครงการนี้มีจุดมุ่งหมายที่คล้ายคลึงกันในแง่ของการเปิดเส้นทางการค้าใหม่ให้กับนานาประเทศ สำหรับประเทศไทย โครงการ IMEC เปรียบเสมือนกุญแจที่เปิดประตูให้ไทยเชื่อมต่อไปยังภูมิภาคเอเชียใต้-ตะวันออกกลาง-ยุโรปได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสทางการค้าให้กับภาคเอกชนและผู้ประกอบการไทยได้อย่างมหาศาล