ไหว ไม่ไหว? วินกรุ๊ปจ่อขายธุรกิจ-หุ้นทำเงิน เพื่ออุ้ม ‘วินฟาสต์’ ที่ขาดทุน

ไหว ไม่ไหว? วินกรุ๊ปจ่อขายธุรกิจ-หุ้นทำเงิน เพื่ออุ้ม ‘วินฟาสต์’ ที่ขาดทุน

กำลังเป็นที่น่าจับตา เมื่อ “วินกรุ๊ป” (VinGroup) บริษัทแม่ของธุรกิจรถอีวี “วินฟาสต์” (Vinfast) เตรียมขายธุรกิจสำคัญที่ทำเงิน และหุ้นของบริษัทในเครือ เพื่อหาเงินทุนให้กับธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าที่ขาดทุน ยิ่งทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลว่าสภาพคล่องบริษัทกำลังร่อยหรอ?

สำนักข่าวนิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า วินกรุ๊ป (VinGroup) กลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ในเวียดนาม หรือบริษัทแม่ของธุรกิจรถอีวี วินฟาสต์” (Vinfast) มีแผนขายธุรกิจค้าปลีกวินคอม (Vincom) ที่บริหารจัดการห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่กว่า 80 สาขาทั่วประเทศ และหลายแห่งตั้งอยู่ในทำเลทองที่มีคนสัญจรอย่างพลุกพล่าน

ในปี 2566 วินคอมมีรายได้ที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยมีกำไรสุทธิ 4.4 ล้านล้านดอง (ราว 6,300 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 60% จากปี 2565

และเมื่อสิ้นเดือน มี.ค. วินกรุ๊ปได้ขายหุ้นของบริษัท เอสดีไอ เทรดดิ้ง ดีเวลลอปเมนท์ แอนด์ อินเวสเมนท์ จำกัด (SDI Trading Development and Investment) ที่ 55% ให้กับบริษัทในเครืออีก 4 แห่ง และคาดว่าจะขายหุ้นเอสดีไอที่เหลืออยู่ 45% ภายในสิ้นปีนี้ โดยคาดว่าเงินจากการขายหุ้นทั้งหมดมีมูลค่ามากถึง 1,500 ล้านดอลลาร์ ขณะที่บริษัทเอสดีไอ ก็ถือหุ้นธุรกิจค้าปลีกวินคอมอยู่ 41.5%

ขณะที่ในปี 2562 วินกรุ๊ปเคยขายวินคอมเมิร์ซ (VinCommerce) ให้กับธุรกิจจำหน่ายอาหารท้องถิ่นยักษ์ใหญ่อย่าง Masan Group

นอกจากนี้ วินกรุ๊ปยังวางแผนนำบริษัท วินเพิร์ล (Vinpearl) ธุรกิจรีสอร์ทหรูเข้าตลาดหุ้นเร็วสุดภายในปีนี้ เพื่อให้บริษัทแม่สามารถขายหุ้นธุรกิจรีสอร์ทได้

‘วินฟาสต์’ นัมเบอร์วัน

ฟาม เญิต เฟือง (Pham Nhat Vuong) ผู้ก่อตั้งวินกรุ๊ป กล่าวในที่ประชุมกับผู้ถือหุ้นเมื่อเดือน เม.ย. ว่า

“พวกเราจะไม่ยอมแพ้ต่อการดำเนินธุรกิจวินฟาสต์”

ทั้งยังย้ำว่าการให้ความสำคัญกับธุรกิจรถยนต์อีวีเป็นหนทางที่ถูกต้อง และวินกรุ๊ปเคยกล่าวไว้ว่า บริษัทเชื่อ "ธุรกิจอีวีสามารถช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชน"

ทั้งนี้ วินฟาสต์จำหน่ายรถยนต์ได้ 9,686 คัน ในไตรมาสเดือน ม.ค. - มี.ค. 2567 เติบโต 5.4 เท่าเมื่อเทียบกับปีก่อน และเมื่อนับรวมยอดขายสะสมตั้งแต่ปี 2564 วินฟาสต์จำหน่ายอีวีได้ราว 50,000 คันแล้ว

วินฟาสต์ยังได้วางแผนสร้างโรงงานในอินเดียและอินโดนีเซีย โดยในปีนี้คาดว่าจะมีการลงทุนมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ 

เฟืองเคยให้คำมั่นด้วยว่าจะนำเงินตนเองลงทุนในวินฟาสต์ 2,000 ล้านดอลลาร์ และเมื่อเดือน ม.ค. เขาได้โอนหุ้นของตัวเองจาก VinES ซึ่งเป็นธุรกิจผลิตแบตเตอรี่ ให้กับวินฟาสต์ เพื่อจะช่วยลดต้นทุนการผลิตอีวี

ขณะที่ในเดือน มี.ค. วินฟาสต์ได้แยกธุรกิจสถานีชาร์จไฟฟ้าไปอยู่ภายใต้การบริหารของเฟือง และเขาวางแผนจะลงทุน 10 ล้านล้านดอง ในอีก 2 ปีข้างหน้าเพื่อสร้างเครือข่ายชาร์จสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า

นักลงทุนกังวลสภาพคล่อง

การผลักดันธุรกิจอีวีอย่างเต็มสูบเช่นนี้ได้สร้างความกังวลเพิ่มขึ้นตามมา โดยในระหว่างประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อเดือน เม.ย. เฟืองไม่ได้สนใจความกังวลเกี่ยวกับสภาพคล่องของวินกรุ๊ปที่เริ่มร่อยหรอ

ขณะที่ธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตของวินกรุ๊ปที่ขาดทุน รวมถึงธุรกิจอีวี บั่นทอนรายได้จากธุรกิจอสังหาฯอย่างต่อเนื่อง และแม้บริษัทแม่ยังคงทำกำไรในช่วงสิ้นปีงบประมาณ ณ เดือน ธ.ค. 2566 เพราะได้อานิสงส์จากเงินทุนส่วนตัวของเฟือง แต่สภาพคล่องที่มีอยู่ขณะนี้ แสดงให้เห็นว่าวินกรุ๊ปใช้จ่ายมากกว่าได้รับ

โดยกระแสเงินสดจากกิจกรรมการดำเนินงาน (Operating Cash Flow) ในรอบปีสิ้นสุดเดือน ธ.ค. 2566 ติดลบ 20 ล้านล้านดอง และกระแสเงินสดที่เป็นอิสระจากกิจการ (free cash flow) ส่วนกระแสเงินสดจากกิจกรรมการลงทุน (Investing Cash Flow) เกือบติดลบ 50 ล้านล้านดอง

อย่างไรก็ดี มีรายงานว่า วินกรุ๊ปกำลังอยู่ระหว่างการหารือเพื่อรักษาเงินทุนสำหรับการรีไฟแนนซ์หนี้สิน 85% ภายในสิ้นปีนี้ และบรรลุข้อตกลงกับนักลงทุนเพื่อขยายเวลาไถ่ถอนพันธบัตรบางส่วนในรูปสกุลเงินดอลลาร์แล้ว

อย่างไรก็ตาม ความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพรถอีวียังคงมีอยู่ เนื่องจากในปี 2565 วินฟาสต์เรียกคืนรถยนต์ 4 คัน ซึ่งเป็นช่วงเริ่มจำหน่ายรถอีวีอย่างจริงจัง และเมื่อเดือน ก.พ.ปีนี้ วินฟาสต์เรียกคืนรถยนต์มากกว่า 11,000 คัน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 1 ใน 5 ของยอดขายวินฟาสต์ ทั้งยังมีรายงานว่าการก่อสร้างโรงงานในสหรัฐจะเลื่อนออกไปอีก

ขณะที่ผู้ถือหุ้นบริษัทอื่น ๆ ในเครือ อย่างผู้ถือหุ้นจากวินโฮมส์ ต่างสงสัยว่าธุรกิจกำลังให้เงินกู้แก่ธุรกิจวินฟาสต์หรือไม่

 

อ้างอิง: Nikkei Asia