ทำไม นักพัฒนาเทคโนฯ ขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก ผู้ภักดี ‘ปูติน’ โดนตั้งข้อหากบฏ

ทำไม นักพัฒนาเทคโนฯ ขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก ผู้ภักดี ‘ปูติน’ โดนตั้งข้อหากบฏ

ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน อวดอ้างรัสเซียเป็นผู้นำโลก สามารถพัฒนาอาวุธเร็วเหนือเสียง แต่นักวิทยาศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ กลับต้องโทษ ในข้อหากบฏ ทรยศชาติ

Key Points 

  • นับตั้งแต่ปี 2015 มีนักฟิสิกส์ 12 คนถูกจับกุม โดยทั้งหมดล้วนเป็นนักพัฒนาเทคโนโลยีอาวุธความเร็วเหนือเสียง หรือไม่ก็ทำงานให้กับสถาบันกลศาสตร์ทฤษฎีและประยุกต์ 
  • เจ้าหน้าที่เอฟเอสบีคนหนึ่งยอมรับว่า การดำเนินคดีกับนักวิทยาศาสตร์ที่เผย “ความลับเทคโนโลยีความเร็วเหนือเสียง” ก็เพื่อเอาใจผู้นำ
  • คดีก่อกบฏสูงขึ้นในปัจจุบันเป็นผลจากการมีเสรีภาพและประชาธิปไตยมากขึ้นนับตั้งแต่ในช่วงทศวรรษ 1990 สิ่งเหล่านี้เปลี่ยนแปลงแนวคิดสมัยโซเวียต เพราะผู้ที่สามารถเข้าถึงความลับของรัฐจะต้อง “ได้รับการตรวจสอบอย่างละเอียด” และ “เข้าใจว่าต้องรับผิดชอบต่อการกระทำ” ถ้าเปิดเผยข้อมูลเหล่านั้น

นักฟิสิกส์ชาวรัสเซียกลุ่มหนึ่งที่ทำงานด้านวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับเทคโนโลยีไฮเปอร์โซนิกที่ใช้กับขีปนาวุธเร็วกว่าเสียง กำลังโดยตั้งข้อหากบฏ และถูกจองจำในคุกมืด

บีบีซีรายงานว่า นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ที่ถูกจับกุมเป็นชายสูงวัย ในกลุ่มนั้นมีผู้เสียชีวิตแล้ว โดยคนหนึ่งถูกกีดกันไม่ให้รักษาตัวในโรงพยาบาลจากอาการป่วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย และได้เสียชีวิตหลังจากนั้นไม่นาน

ขณะที่อีกคนหนึ่งคือ วลาดิสลาฟ กัลคิน อายุ 68 ปีมีบ้านพักในเมืองทอมสค์ ทางตอนใต้รัสเซีย ได้ถูกกลุ่มชายติดอาวุธ แต่งชุดสีดำบุกค้นบ้านในยามวิกาลตอนตี 4 และยึดเอกสารงานวิจัยวิทยาศาสตร์ไปได้เมื่อเดือน เม.ย.ปีที่แล้ว

ทันยานา ภรรยาของกัลคินต้องบอกหลานๆของพวกเขาว่า กัลคินไปทำธุระในต่างแดน เหตุเพราะหน่วยงานความมั่นคงเอฟเอสบีของรัสเซียสั่งห้ามไม่ให้พูดถึงการหายตัวไปของเขา

บุกจับนักวิทยาศาสตร์ พัฒนาเทคโนฯไฮเปอร์โซนิก

นับตั้งแต่ปี 2015 มีนักฟิสิกส์ 12 คนถูกจับกุม โดยทั้งหมดล้วนเป็นนักพัฒนาเทคโนโลยีอาวุธความเร็วเหนือเสียง หรือไม่ก็ทำงานให้กับสถาบันกลศาสตร์ทฤษฎีและประยุกต์ (ITAM)

พวกเขาล้วนถูกตั้งข้อหากบฏ อาจรวมถึงการถ่ายโอนความลับรัสเซียไปต่างประเทศ ขณะที่การพิจารณาคดีเป็นแบบปิด ทำให้ไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับข้อกล่าวหาของพวกเขา

ด้านทำเนียบเครมลินบอกเพียงว่าเป็น “ข้อกล่าวหาที่มีความร้ายแรง” และไม่อาจแสดงความเห็นใดๆได้

ไฮเปอร์โซนิกเป็นขีปนาวุธเคลื่อนด้วยความเร็วสูง และสามารถเปลี่ยนทิศทางระหว่างการบิน เพื่อหลบเลี่ยงการป้องกันทางอากาศ

ก่อนหน้านี้ รัสเซียระบุว่า ได้ใช้อาวุธ 2 ประเภทนี้ ได้แก่ ขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง “คินซัล” และขีปนาวุธร่อน “เพทาย” ทำสงครามกับยูเครน

สงสัยขีดความสามารถไฮเปอร์โซนิก

ขณะที่กองทัพเคียฟอ้างสามารถยิงสกัดขีปนาวุธคินซัลบางลูกตก ทำให้เกิดคำถามถึงขีดความสามารถที่แท้จริงของขีปนาวุธที่ใช้เทคโนโลยีไฮเปอร์โซนิก

ถึงอย่างไร เทคโนโลยีนี้ ยังถูกพัฒนาต่อไป ควบคู่กับการใช้งาน ท่ามกลางการจับกุมนักวิทยาศาสตร์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาอาวุธความเร็วเหนือเสียง

เพียงไม่นานหลังการจับกุมกัลคิน เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวเขาไปยังศาลในวันเดียวกับนักวิทยาศาสตร์อีกคนคือ วาเรลีย์ สเวกินทเซฟ ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ร่วมเขียนบทความร่วมกันหลายเรื่อง

ลงบทความวารสารต่างชาติ จัดว่าทรยศประเทศ

สำนักข่าวทัสส์ของรัสเซียอ้างแหล่งข่าวเผยว่า การจับกุมตัวสเวกินท์เซฟ อาจมาจากการที่เขาได้เขียนบทความที่ถูกนำไปตีพิมพ์ในวารสารของอิหร่าน เมื่อปี 2021

ทั้งกัลคินและสเวกินทเซฟต่างมีชื่อระบุในบทความที่พูดถึงกลไกการทำงานของ "เครื่องบินความเร็วสูง" ที่ตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศ แต่พวกเขายืนยัน "ไม่ได้เผยถึงการพัฒนาเทคโนโลยีที่ไปใช้กับอาวุธ" ของกองทัพรัสเซีย

ต่อมาในฤดูร้อนปี 2022 หน่วยเอฟเอสบีได้จับกุมเพื่อนร่วมงานของสเวกินทเซฟ ซึ่งทำงานอยู่ในสถาบันเดียวกัน ในตำแหน่งผู้อำนวยการและอดีตหัวหน้าห้องปฏิบัติการอากาศพลศาสตร์ (aerodynamics)

ขณะที่พนักงานสถาบัน ITAM ได้ร่วมกันเขียนจดหมายเปิดผนึก เพื่อทวงถามถึงการจำกุมเพื่อนร่วมงานของพวกเขาทั้งสามคน

ตอนนี้ พวกเขาถูกลบชื่อออกจากเว็บไซต์ของสถาบันฯ แม้ก่อนหน้าจะเคยสร้างผลงานทางวิทยาศาสตร์ที่ยอดเยี่ยม และยังคงซื่อสัตย์ต่อผลประโยชน์ประเทศอยู่เสมอ

ขณะที่เยฟเกนนีย์ สเมอนอฟ ทนายความองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและกฎหมายรัสเซียได้ร่วมสู้คดีเพื่อปกป้องนักวิทยาศาสตร์และคนอื่นๆที่ถูกตั้งข้อหากบฏ ก่อนเขาจะย้ายจากรัสเซียไปยังปรากในปี 2021 เพราะกลัวภัยจะถึงตัว

นักวิทยาศาสตร์รัสเซีย ทยอยลาวงการ

นักวิทยาศาสตร์รัสเซียยังคงถูกคาดหวังให้เผยแพร่ผลงานในระดับนานาชาติ และร่วมมือกับเพื่อนร่วมวงการต่างชาติ แต่ขณะเดียวกัน หน่วยเอฟเอสบีกลับมองว่า การติดต่อร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์ชาติและการเขียน “บทความ” ตีพิมพ์ในวารสารต่างชาติถือเป็นการ “ทรยศต่อประเทศตนเอง”

“นักวิทยาศาสตร์ของ ITAM รู้สึกเช่นเดียวกัน เพียงแต่เราไม่เข้าใจว่า จะทำงานเราต่อไปอย่างไร” ในจดหมายเปิดผนึกระบุ เพราะรางวัลที่ได้รับวันนี้ กลับเป็นเหตุผลทำให้วันพรุ่งนี้ต้องโทษคดีอาญา

พวกเขาเตือนว่า ตอนนี้มีนักวิทยาศาสตร์รัสเซียที่ "หวาดกลัว" จะมีส่วนร่วมกับงานวิจัยบางสาขา ขณะที่คนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถต่างพากันทยอยลาออกจากวงการวิทยาศาสตร์

เหตุเพราะพวกเขาเห็นผลที่เกิดกับนักวิทยาศาสตร์รุ่นพี่ อย่างเช่น การสอบสวนนักวิทยาศาสตร์อีกสองคนที่เกี่ยวข้องกับโครงการศึกษาเครื่องบินพลเรือน Hexafly ที่มีความเร็วเหนือเสียง ขององค์การอวกาศยุโรปที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2012 และปัจจุบันเสร็จสิ้นลงแล้ว

เก็บแต้ม เอาใจผู้นำ

ทนายสเมอนอฟกล่าวกับบีบีซีว่า เจ้าหน้าที่เอฟเอสบีคนหนึ่งยอมรับว่า การดำเนินคดีกับนักวิทยาศาสตร์ที่เผย “ความลับเทคโนโลยีความเร็วเหนือเสียง” ก็เพื่อเอาใจผู้นำ

“เอฟเอสบีต้องการทำให้เห็นว่า กำลังตามล่าผู้เผยความลับอาวุธรัสเซีย เพื่อประจบประแจงประธานาธิบดีปูติน” สเมอนอฟกล่าวและเสริมว่า การตั้งข้อหาผู้ก่อกบฏจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ด้านนายพลอเล็กซานเดอร์ มิคาอิลอฟ ของเอฟเอสบี ซึ่งขณะนี้เกษียณอายุแล้ว มองว่า เอฟเอสบีเพียงแค่ต้องการรักษาความลับเทคโนโลยีทางการทหาร อย่างไม่ต้องสงสัยเลยอย่างการกระทำผิดอันเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้ศาสสั่งโทษจำคุก 14 ปีให้กับอนาโตลี มาสคอฟ หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ของ ITAM เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา

นายพลมิคาอิลอฟชี้ว่า คดีก่อกบฏสูงขึ้นในปัจจุบันเป็นผลจากการมีเสรีภาพและประชาธิปไตยมากขึ้นนับตั้งแต่ในช่วงทศวรรษ 1990 สิ่งเหล่านี้เปลี่ยนแปลงแนวคิดสมัยโซเวียต เพราะผู้ที่สามารถเข้าถึงความลับของรัฐจะต้อง “ได้รับการตรวจสอบอย่างละเอียด” และ “เข้าใจว่าต้องรับผิดชอบต่อการกระทำ” ถ้าเปิดเผยข้อมูลเหล่านั้น

หากแต่ตอนนี้มีบางคนพูดเยอะเกินไป และความลับได้รั่วไหลแล้ว” นายพลมิคาอิลอฟกล่าวย้ำ

ที่มา : BBC