เกิดอะไรขึ้น ตลาดบอนด์โลกป่วน ส่งสัญญาณวิกฤติรอบใหม่หรือไม่ ?
เกิดอะไรขึ้น ตลาดบอนด์โลกป่วน บอนด์ยีลด์ สหรัฐ ญี่ปุ่น รวมทั้งยุโรปโดยเฉพาะอังกฤษพุ่งสูงขึ้น ย้อนดูเหตุการณ์อดีต ส่งสัญญาณวิกฤติรอบใหม่หรือไม่ ?
สัปดาห์ที่ผ่านมา “ตลาดพันธบัตรรัฐบาล” ทั่วโลกปั่นป่วนอย่างหนัก โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) พุ่งสูงขึ้นทำสถิติใหม่ ทั้งในสหรัฐ ญี่ปุ่นและอังกฤษ ซึ่งเข้าใกล้ระดับเดียวกับช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในอดีต
สหรัฐ
ในวันที่ 8 ม.ค.68 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี พุ่งสูงขึ้นทะลุ 4.7% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 พร้อมกับ “สกุลเงินดอลลาร์” แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อังกฤษ
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีอังกฤษ สูงสุดก็พุ่งสูงถึง 4.82% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 17 ปีนับตั้งแต่ปี 2551 และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษอายุ 30 ปี พุ่งสู่ 5.3% เป็นระดับสูงสุดครั้งใหม่ในรอบ 26 ปี
ญี่ปุ่น
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ญี่ปุ่น พุ่งสูงขึ้นเกิน 1% สู่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 10 ปี
ทำไมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรทั่วโลกจึงพุ่งสูงขึ้น?
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นเพียงแค่ในสหราชอาณาจักรเท่านั้น แต่ยังเพิ่มขึ้นในสหรัฐ ญี่ปุ่น เยอรมนี และฝรั่งเศส ด้วยเช่นกัน
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นท่ามกลางความไม่แน่นอนเมื่อประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” กลับเข้าสู่ทำเนียบขาวอีกครั้งในปลายเดือนนี้ และได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะขึ้นภาษีศุลกากรนำเข้ากับประเทศต่างๆ
มอนิ่งสตาร์เผยว่าปัจจัยอื่นๆ ที่สามารถสนับสนุนให้ผลตอบแทนพันธบัตรเพิ่มขึ้น ได้แก่ อัตราดอกเบี้ย และอัตราเงินเฟ้อ/ความคาดหวังอัตราดอกเบี้ย
นักลงทุนกังวลว่า สถานการณ์ดังกล่าวจะนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อในระยะยาวที่รุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ และด้วยเหตุนี้ อัตราดอกเบี้ยจะไม่ลดลงเร็วเท่าที่คาดหวังไว้
แต่ในสหราชอาณาจักรยังมีความกังวลเกี่ยวกับผลการดำเนินงานของเศรษฐกิจอีกด้วย
อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือน ที่ระดับ 2.6% ในเดือนพ.ย. สูงกว่าเป้าหมาย 2% ของธนาคารกลางอังกฤษ ขณะที่เศรษฐกิจหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2
ตลาดพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษกำลังเผชิญแรงกดดันจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น การเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายภาครัฐ และการขายพันธบัตรทั่วโลก ล้วนมีส่วนทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรสูงขึ้น
Bond Yield สำคัญอย่างไร? และทำไมควรกังวล?
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลถือเป็นตัวกำหนดต้นทุนทางการเงินของรัฐบาล ดังนั้น ยิ่ง Bond Yield อยู่ในระดับสูงนานเท่าใด ต้นทุนทางการเงินและต้นทุนการออกพันธบัตรใหม่ของประเทศก็จะยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น เนื่องจากนักลงทุนที่ต้องการซื้อพันธบัตรชุดใหม่ย่อมต้องการดอกเบี้ยที่สูงเทียบเคียงกับระดับที่สูงในปัจจุบัน
ดังนั้น เหตุการณ์นี้จึงถือเป็นข่าวร้าย เนื่องจากความต้องการเงินทุนของรัฐบาลยังคงอยู่ในระดับสูง
นอกจากนี้ Bond Yield รัฐบาลยังถือเป็นเกณฑ์มาตรฐาน (Benchmark) ของบอนด์เอกชน ดังนั้น หาก Bond Yield รัฐบาลเพิ่มขึ้น ก็ย่อมทำให้ต้นทุนการออกบอนด์ของเอกชนเพิ่มขึ้นทั้งระบบด้วย
บอนด์ยีลด์พุ่ง สัญญาณบอก ‘วิกฤติ‘
ย้อนกลับไปในเดือนเม.ย.2567 เมื่อผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ อายุ 10 ปี แตะระดับสูงสุดในได้ส่งผลกระทบต่อพอร์ตโฟลิโอหุ้นอย่างรุนแรง ดัชนี S&P 500 ปรับตัวลดลงมากกว่า 5% ใน 3 สัปดาห์แรกของเดือน
อย่างไรก็ดี ท่ามกลางการพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วของผลตอบแทนพันธบัตรในช่วงที่ผ่านมา ตลาดหุ้นยังไม่ได้ปรับตัวลดลงในลักษณะเดียวกันของเหตุการณ์ครั้งก่อน
ส่วนวิกฤติพันธบัตรของอังกฤษ จุดประกายให้ตลาดเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ในอดีตหลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิกฤตการณ์พันธบัตรที่เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลของ “ลิซ ทรัสส์” เมื่อปี 2565 และผลกระทบที่รุนแรงครั้งนี้คล้ายกับ “วิกฤติหนี้สิน” ที่รุนแรงในช่วงปี 2519 เป็นอย่างมาก
“มาร์ติน วีล” อดีตสมาชิกคณะกรรมการนโยบายการเงินของ BoE วีลได้เปรียบเทียบสถานการณ์ปัจจุบันกับ "ฝันร้าย" ของวิกฤติหนี้ในปี 1976 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลอังกฤษต้องขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เนื่องจากปัญหาหนี้สินที่รุมเร้า และความกังวลว่าค่าใช้จ่ายหนี้ที่พุ่งสูงขึ้นในปัจจุบันจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อเงินสำรองทางการคลังของรัฐบาล ซึ่งมีจำนวนจำกัดเพียง 9.9 พันล้านปอนด์ และอาจทำให้รัฐบาลละเมิดกฎเกณฑ์ทางการคลังที่กำหนดไว้ สถานการณ์ดังกล่าวสร้างความกังวลอย่างมากก่อนการประกาศงบประมาณอย่างเป็นทางการในวันที่ 26 มี.ค.68 ที่จะถึงนี้
เว็บไซต์เดอะการ์เดียนตั้งคำถามว่านี่คือ ‘ลิซ ทรัสส์ 2.0’ หรือไม่ พร้อมกับนักลงทุนหลายรายมองว่าสถานการณ์ตลาดที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมีความคล้ายคลึงกับวิกฤติในช่วงรัฐบาลของ “ลิซ ทรัสส์”