มูลค่า ‘โตโยต้า’ หายวับ 6 หมื่นล้านสัปดาห์เดียวเซ่นปมข่าวฉาว

มูลค่า ‘โตโยต้า’ หายวับ 6 หมื่นล้านสัปดาห์เดียวเซ่นปมข่าวฉาว

โตโยต้าเซ่นพิษเรื่องอื้อฉาวแค่ 1 สัปดาห์ทำหุ้นดิ่งกว่า 5% กดมูลค่าร่วง 6 หมื่นล้านบาท หลังรัฐบาลตรวจพบปัญหาการปลอมแปลงผลการทดสอบ สื่อญี่ปุ่นเผยส่อเข้าข่ายละเมิดกฎของ UN

สำนักข่าวซีเอ็นบีซี รายงานว่า หุ้นโตโยต้า มอเตอร์ (Toyota Motor)บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของญี่ปุ่นร่วงลงอย่างหนัก ลดลงมากกว่า 5.4% ในสัปดาห์ที่แล้ว จนมูลค่าบริษัทหายไปกว่า 6.2 หมื่นล้านบาท หลังจากเรื่องอื้อฉาวที่ทางกระทรวงคมนาคม ของประเทศญี่ปุ่น พบข้อมูลปลอมที่ใช้รับรองรุ่นรถยนต์บางรุ่น เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว(3 มิ.ย.67) แม้ว่าราคาหุ้นฟื้นตัวขึ้นมา 2 วันติดต่อกันในสัปดาห์นี้ แต่ก็ยังไม่สามารถยืนที่ระดับเดียวกันกับราคาก่อนเกิดเหตุการณ์นี้ได้ 

สถานการณ์นี้ยังรวมถึงหุ้นของบริษัท“มาสด้า มอเตอร์” แบรนด์ผู้ผลิตรถยนต์เบอร์ 2 ของญี่ปุ่น  ร่วงลง 7.7% ในเวลาเดียวกัน ทำให้มูลค่าตลาดมาสด้าหายไปกว่า 3 พันล้านบาท

 

การตรวจของกระทรวงคมนาคม อย่างละเอียด ยังพบความผิดปกติในใบรับรองการผลิตจากผู้ผลิตรถยนต์ค่าย อื่นๆ ทั้ง 5 ได้แก่ โตโยต้า (Toyota), มาสด้า (Mazda), ฮอนด้า (Honda), ซูซูกิ (Suzuki) และยามาฮ่า (Yamaha)  ทำให้หุ้นร่วงลงไปตามกัน นำโดย Honda ลดลง 5.75% และ Yamaha Motor ลดลง 2.2% ขณะที่ Suzuki Motor ลดลงเพียง 0.3% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ขณะนี้ราคาหุ้นโตโยต้าเคลื่อนไหวที่ 3,283 เยน เพิ่มขึ้น 0.31% ในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา แต่ยังต่ำกว่าราคาก่อนเกิดเรื่องอื้อฉาวในวันที่ 31 พ.ค.67 ที่ 3,450 เยน

 

แม้ว่าหุ้นของบริษัทเหล่านั้นทั้งหมดจะปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง 2 วันติด แต่ทั้ง 5 บริษัทต่างเป็นบริษัทที่ยื่นข้อมูลการทดสอบที่ผิดพลาด หรือในกรณีของโตโยต้า และมาสด้า ได้ปลอมแปลงรถยนต์ที่ใช้ในการทดสอบการชน

อย่างไรก็ดี หลังจากรายงานการตรวจสอบของกระทรวงคมนาคม เผยแพร่ในวันที่ 3 มิถุนายน  หลังจากนั้นโตโยต้าได้ประกาศหยุดการจำหน่าย และการส่งมอบรถยนต์รุ่น Corolla Fielder, Corolla Axio และ Yaris Cross ซึ่งเป็นรุ่นที่ผลิตในประเทศญี่ปุ่น เป็นการชั่วคราว

อากิโอะ โตโยดะ ประธานกรรมการบริษัท โตโยต้า ได้ออกมาขอโทษต่อลูกค้า และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยยอมรับว่าบริษัทได้ทำการ “ทดสอบรถยนต์ทั้งเจ็ดรุ่นโดยใช้วิธีการที่แตกต่างจากมาตรฐานที่กำหนดโดยหน่วยงานราชการ”

นอกจากนี้ มาสด้า ยังได้ประกาศหยุดจำหน่ายรถยนต์รุ่น Roadster RF และ Mazda 2 ตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ทั้ง โตโยต้า และมาสด้าแจ้งว่าลูกค้าสามารถใช้งานรถยนต์ที่ซื้อไปแล้วได้ตามปกติ

ทั้งนี้กระทรวงคมนาคม จะดำเนินการตรวจสอบสถานที่จริงของบริษัททั้ง 5 แห่งที่ถูกกล่าวหาว่ารายงานข้อมูลอันเป็นเท็จ

'โตโยต้า' ส่อละเมิดกฎอียู

หนังสือพิมพ์โยมิอุริ ชิมบุน (Yomiuri Shimbun) ของญี่ปุ่นรายงานในวันนี้ (11 มิ.ย.) ว่า รัฐบาลญี่ปุ่นพบว่า รถยนต์จำนวนหนึ่งของบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปไม่เป็นไปตามข้อกำหนดบางประการ และไม่เป็นไปตามมาตรฐานขององค์การสหประชาชาติ (UN) ที่ใช้ใน 62 ประเทศและภูมิภาค

แม้จะยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า หน่วยงานกำกับดูแลประจำเขตอำนาจศาลแต่ละเขตจะตอบสนองอย่างไร แต่ตามหลักแล้ว รถยนต์รุ่นต่าง ๆ เหล่านี้อาจถูกสั่งห้ามวิ่งบนท้องถนนในที่อื่น ๆ นอกเหนือจากในญี่ปุ่นด้วย ซึ่งรวมถึงในสหภาพยุโรป (EU)

การตรวจสอบครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากหน่วยงานไดฮัทสุ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของโตโยต้า ประกาศหยุดจำหน่ายรถยนต์ทุกรุ่นทั้งใน และต่างประเทศ เมื่อเดือนธันวาคม 2566 สืบเนื่องจากการตรวจสอบพบปัญหาเรื่องความปลอดภัยในรถยนต์ราว 64 รุ่น ซึ่งรวมถึง 22 รุ่นที่จำหน่ายภายใต้แบรนด์โตโยต้า

อย่างไรก็ดี ไดฮัทสุ ยอมรับเมื่อเดือนเมษายน 2566 ว่า บริษัทได้ปลอมแปลงผลการทดสอบความปลอดภัยด้านการชนด้านข้างที่ดำเนินการกับรถยนต์ขนาดเล็กราว 88,000 คัน ซึ่งส่วนใหญ่จำหน่ายภายใต้แบรนด์โตโยต้า

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์