โซเชียลเดือด ! ฟิตเนสเกาหลีใต้ ติดป้าย ‘อาจุมม่าห้ามเข้า’ หลังลูกค้าวัยป้าทำร้านเสียหาย
ฟิตเนสในเกาหลีใต้ติดป้ายแบนลูกค้า “อาจุมม่า” ที่ประพฤติตนไม่เหมาะสมต่อการใช้งานสถานที่ออกกำลังกาย จนเกิดเป็นประเด็นร้อนในโซเชียล ถกเกี่ยวกับการแบ่งแยกผู้หญิงที่มีอายุมาก
สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า โรงยิมแห่งหนึ่งในเมืองอินชอน ใกล้กับกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ปิดประกาศ “อาจุมม่าห้ามเข้า อนุญาตเฉพาะสตรีที่สง่างามและได้รับการอบรมเท่านั้น”
อาจุมม่า ในภาษาเกาหลีแปลว่า ป้า หรือผู้หญิงที่มีอายุ ซึ่งปกติหมายถึงผู้หญิงอายุ 30 ปลาย ๆ เป็นต้นไป แต่ในขณะเดียวกันก็ใช้เปรียบเปรยถึงบุคคลที่มีพฤติกรรมหยาบคายหรือน่ารังเกียจ
เจ้าของกิจการฟิตเนสดังกล่าวให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวยอนฮัพว่า ธุรกิจของตนได้รับความเสียหาจากบรรดากลุ่มผู้หญิงเหล่านั้น (อาจุมม่า) ที่ประพฤติตนไม่เหมาะสมต่อสถานที่ส่วนรวม
“ลูกค้าผู้หญิงบางคนใช้เวลาอยู่ในห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า 1-2 ชั่วโมงเพื่อซักผ้า ขโมยของใช้ต่าง ๆ เช่น ผ้าขนหนู สบู่ หรือไดร์เป่าผม ... พวกเธอนั่งติดกันเป็นแถว พูดคุย และนินทารูปร่างของผู้อื่น” เจ้าของธุรกิจกล่าว และว่าผู้หญิงที่สาว ๆ บางคนต้องออกจากยิม เพราะคำดูถูกเหล่านั้นทำให้พวกเธอไม่พอใจ หรือรู้สึกไม่สบายใจ
แม้ข้อความประกาศห้ามอาจุมม่าเข้ายิมเกิดขึ้นแค่ในฟิตเนสเพียงแห่งเดียว แต่ดูเหมือนว่าจะสร้างความตื่นตระหนกเป็นวงกว้าง เนื่องจากไม่กี่ปีที่ผ่านมา ธุรกิจในเกาหลีใต้บางแห่งเพิ่งกำหนดเขตปลอดเด็ก หรือห้ามเด็กเข้าใช้พื้นที่สาธารณะ รวมถึงผู้สูงอายุด้วย
ฟิตเนสที่ติดป้ายดังกล่าวได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์ว่า แสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมหรือเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงในช่วงวัยใดวัยหนึ่ง
ความคิดเห็นจากผู้ใช้งานรายหนึ่งในเว็บไซต์โซเชียลมีเดีย instiz ระบุว่า
“คำว่า ลูกค้าแย่ กลายเป็นคำว่า อาจุมม่า ได้ไงกัน ... ถ้าต้องทำงานในอุตสาหกรรมบริการ คุณต้องรู้ว่าไม่ได้มีแค่ผู้หญิงมีอายุ ที่จัดอยู่ในกลุ่มคนประเภทนี้”
ความคิดเห็นอื่น ๆ บอกว่า การติดป้ายห้ามเข้าแบบนั้น บ่งชี้ถึงคนทำที่มีทัศนคติล้าหลัง
ด้านยิมพยายามปกป้องธุรกิจด้วยการชี้ให้เห็นถึงข้อความเพิ่มเติม ที่พยายามขยายความระหว่างคำว่า “อาจุมม่า” และ “ผู้หญิง” โดยระบุว่า อาจุมม่า หมายถึง พฤติกรรมที่ชอบใช้ของฟรีโดยไม่ได้เจาะจงช่วงอายุ และคนกลุ่มนี้ขี้เหนียวแค่เงินตัวเอง แต่ไม่สนใจค่าใช้จ่ายของผู้อื่น
เจ้าของฟิตเนสบอกด้วยว่า อาจมีธุรกิจอื่น ๆ ที่ทำแบบเดียวกัน แค่ไม่ได้ออกมาพูด
“ไม่ใช่ว่าผมพยายามสร้างข้อความที่ทำให้เกิดความเกลียดชังต่อผู้หญิงมีอายุหรือผู้หญิงทั่วไป ... ผมคิดว่าคนที่รู้สึกโกรธเคือง (กับป้ายประกาศ) เป็นคนที่มีปัญหา”
อย่างไรก็ตาม ยังมีคนในโลกออนไลน์ที่สนับสนุนป้ายดังกล่าว เนื่องจากเคยเผชิญกับพฤติกรรมแย่ ๆ ของผู้หญิงมีอายุ หรือผู้หญิงวัยกลางคน บางคนถึงกับบอกว่าคนกลุ่มนี้เป็นคนหวงอาณาเขต บางคนใช้ภาษาที่ดูถูกโดยบอกว่าคนกลุ่มนี้ไร้สติ
ความคิดเห็นจากผู้ใช้งานในยูทูบรายหนึ่งระบุว่า “ผู้เหล่านี้น่ารำคาญ พวกชอบเธอพาลูกไปร้านอาหารและคาเฟ่ มักไม่สนใจอะไรและละเมิดสิทธิผู้อื่น”
ขณะที่ผู้หญิงเกาหลีใต้ก็มองว่า ผู้ชายมักไม่ถูกตัดสินว่ามีพฤติกรรมคล้าย ๆ กันนี้
พัก ซังฮี ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ JTBC ว่า “ผู้ชายมีอายุก็ทำพฤติกรรมแบบเดียวกัน ... ผู้ชายสูงอายุก็ชอบของฟรี และทำอะไรแบบนั้นเดิม ๆ ซ้ำ ๆ พฤติกรรมหยาบคายไม่ได้เกิดจากผู้หญิงมีอายุเท่านั้น”
อ้างอิง: BBC