ผลกระทบ Geopolitics ต่อราคาน้ำมันและพลังงานสะอาด

ท่ามกลางเหตุการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ลุกลามไปทั่วโลก ไทยเราแม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในจุดศูนย์กลางของความขัดแย้ง แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว และหนึ่งในผลกระทบที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือความมั่นคงและราคาของพลังงานนั่นเอง

• ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานอย่างไร?
ความมั่นคงทางพลังงานคือหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะการมีพลังงานใช้อย่างเพียงพอในราคาที่สมเหตุสมผล ประเทศผู้ถือครองทรัพยากรมักมีความได้เปรียบในการควบคุมทิศทางเศรษฐกิจโลก

ด้วยเหตุนี้ ประเทศมหาอำนาจต่างๆ จึงมุ่งมั่นที่จะรักษาความมั่นคงทางพลังงานเพื่อให้สามารถดำเนินนโยบายตามวิสัยทัศน์ที่วางไว้ รวมถึงเป็นอิสระจากการพึ่งพาประเทศอื่นๆ หรือการเข้าไปพัวพันในความขัดแย้ง

“จีน” ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจของโลก จึงแสวงหาความมั่นคงทางพลังงานมาโดยตลอด เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากการถูกปิดล้อมด้านพลังงานจนส่งผลกระทบต่อประชากรมากกว่าพันล้านคนในประเทศ โดยเห็นได้จากยุทธศาสตร์ต่างๆ ที่ผ่านมา

ไม่ว่าจะเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiatives : BRI) หรือยุทธศาสตร์พลังงานสะอาด ทั้งหมดล้วนมีจุดมุ่งหมายในการเปิดเส้นทางการนำเข้าพลังงาน กระจายความเสี่ยง และจัดหาทางเลือกใหม่ในการเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานทั้งสิ้น

ในขณะที่ “สหรัฐ” หลังจากมีการค้นพบน้ำมันจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil) จึงมีความมั่นคงทางพลังงานสูง ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาพลังงานจากตะวันออกกลางมากเท่าในอดีต และดำเนินนโยบายตามวิสัยทัศน์ของตัวเองได้โดยสะดวก ซึ่งในปัจจุบันสหรัฐให้ความสำคัญกับการรับมือกับจีนเป็นหลัก

จึงทำให้บทบาทในตะวันออกกลางยิ่งลดลง และพลอยทำให้จีนมีบทบาทในภูมิภาคดังกล่าวมากขึ้นแทน ดังที่เห็นได้จากหลายกรณี เช่น การที่จีนเป็นตัวกลางในการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านและซาอุดีอาระเบีย

ส่วน “สหภาพยุโรป” แม้สงครามรัสเซีย-ยูเครนจะส่งผลให้การรักษาความมั่นคงทางพลังงานเป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากเคยพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียมาโดยตลอด แต่ในปัจจุบัน ประเทศต่างๆ ในสหภาพยุโรปได้พยายามลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียและแสวงหาทางเลือกพลังงานรูปแบบใหม่เพื่อชดเชยส่วนที่ขาดหายไป

เช่นเดียวกันกับมหาอำนาจพลังงานอย่าง “รัสเซีย” ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งกับสหภาพยุโรป ทำให้ต้องเบนทิศการค้าพลังงานจากสหภาพยุโรปไปสู่จีน ที่แม้จะมีห่วงโซ่อุปทานและกำลังซื้อที่แข็งแกร่งแต่ก็มาพร้อมกับต้นทุนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและการขนส่งที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

• พลังงานไทยได้รับผลกระทบอย่างไรในเกมการเมืองของประเทศมหาอำนาจ?
ปัจจัยสำคัญที่อาจส่งผลต่อต้นทุนพลังงานของไทยแบ่งออกเป็น 2 ปัจจัยหลัก

ประการแรก คืออิทธิพลจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระดับโลก เช่น สงครามรัสเซีย-ยูเครน และสงครามอิสราเอล-ฮามาส ส่งผลต่อความสามารถในการจัดหาพลังงานและต้นทุนราคาที่เพิ่มขึ้น โดยในปัจจุบัน แนวโน้มความขัดแย้งดังกล่าวยังคงอยู่ในสภาวะคุกรุ่นและมีแนวโน้มที่จะส่งผลต่อภูมิรัฐศาสตร์โลกในระยะยาวต่อไป

ประการที่สอง คือผลกระทบในระดับภูมิภาคจากวิกฤติความขัดแย้งในเมียนมา ที่อาจยกระดับไปสู่การเป็นสงครามตัวแทนระหว่างมหาอำนาจฝั่งตะวันตกและจีน นอกจากนี้ ความขัดแย้งในเมียนมายังเกี่ยวพันกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่าย ทั้งฝ่ายประชาธิปไตย ทหาร และชนกลุ่มน้อย ทำให้การเจรจาเพื่อหาข้อยุติในเวลาอันสั้นเป็นไปได้ยาก

ประเทศไทยที่พึ่งพาก๊าซธรรมชาติในสัดส่วนสำคัญ จึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงจากผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับความมั่นคงทางพลังงาน โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่อาจเกิดการคว่ำบาตรจากประเทศมหาอำนาจจนกระทบต่อการซื้อขายพลังงานระหว่างประเทศ

ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณแสดงให้เห็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงและความเสี่ยงในอนาคต ประเทศไทยในฐานะผู้นำเข้าพลังงานจำเป็นต้องกระจายความเสี่ยงในการได้มาซึ่งพลังงานออกไปอย่างรอบด้าน

นอกจากนี้ ประเทศไทยไม่เพียงแต่ต้องหาจุดสมดุลระหว่าง 2 ขั้ว “มหาอำนาจหลัก” อย่างจีนและสหรัฐ แต่จำเป็นต้องมองไปถึงประเทศ “มหาอำนาจเด่น” อื่นๆ ทั้ง อินเดีย สหภาพยุโรป และอินโดนีเซีย พร้อมพัฒนาความร่วมมือเพื่อรักษาความมั่นคงด้านพลังงาน ภายใต้บริบทความขัดแย้งที่กำลังเผชิญอยู่ และหลีกเลี่ยงการกลายเป็นสนามแข่งขันระหว่างมหาอำนาจทั้งหลาย

• “พลังงานสะอาด” กุญแจสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานในอนาคต
“พลังงานสะอาดไม่ใช่แค่เรื่องความมั่นคงทางพลังงาน แต่ยังเป็นขุมพลังในการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะต่อไป” ในอดีตมีคำกล่าวว่าภูมิรัฐศาสตร์เป็นเรื่องของอำนาจทางการเมืองเหนือทรัพยากรน้ำมัน (Politics of Oil) แต่ในปัจจุบันกำลังถูกแทนที่ด้วย การเมืองพลังงานสะอาด (Politics of Clean Energy)

เนื่องจากพลังงานสะอาดกำลังก้าวเข้ามาเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งยังช่วยกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพาน้ำมันที่มีความผันผวนสูง อย่างไรก็ตาม ต้นทุนของพลังงานสะอาดในปัจจุบันยังคงสูงกว่าน้ำมันและพลังงานดั้งเดิม จึงยังคงจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาเทคโนโลยีต่ออีกระยะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตต่อไป

• ประเทศไทยจะเกาะขบวนการเปลี่ยนแปลงสู่พลังงานสะอาดได้อย่างไร?
ปัจจุบันภูมิภาคอาเซียนได้รับความสนใจมากขึ้น ทั้งจากชาติตะวันตกที่ต้องการหาตลาดทางเลือกเพื่อหลีกเลี่ยงตลาดจีน ในขณะเดียวกันจีนเองก็ได้มุ่งเป้ามายังอาเซียนมากขึ้น หลังจากเผชิญกับกำแพงภาษีจากชาติตะวันตก

ภายใต้สถานการณ์ที่ทั้งชาติตะวันตกและจีนกำลังขับเคี่ยวแข่งขันด้านพลังงานสะอาดอย่างเข้มข้น ประเทศไทยจำเป็นต้องพาตัวเองเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่พลังงานสะอาดโลก โดยรับการส่งเสริมจากชาติตะวันตกในการเปลี่ยนผ่าน และร่วมมือกับจีนที่ครอบครองทรัพยากรตั้งต้นของพลังงานสะอาดทั่วโลก

รวมถึงพยายามไล่ตามการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี สร้างจุดแข็งของประเทศ และดึงดูดการลงทุนเพื่อพัฒนาภาคส่วนพลังงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ

การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดไม่เพียงสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับไทย แต่ยังส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว ที่สำคัญยังเป็นโอกาสให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาตนเองให้เป็นผู้นำในภูมิภาคด้านพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องต่อไป.