จับตา ‘ภูมิรัฐศาสตร์ - ค่าเงินบาทอ่อน’ ดัน ‘ดีเซล’ ทะลุกรอบ 33 บาท

จับตา ‘ภูมิรัฐศาสตร์ - ค่าเงินบาทอ่อน’ ดัน ‘ดีเซล’ ทะลุกรอบ 33 บาท

“พลังงาน” ชี้ “ภูมิรัฐศาสตร์ - ค่าเงินบาท” ตัวแปรสำคัญต่อราคาพลังงานโลก “ปลัดพลังงาน” ยอมรับราคาพลังงานครึ่งปีหลังเดายากเหมือนการเดาหวย ขณะที่ CEO “ปตท.” ระบุ คุมต้นทุนรับมือทุกวิกฤติราคา

ท่ามกลางปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะตะวันออกกลางส่งผลให้ราคาน้ำมันตลาดโลกผันผวนต่อเนื่อง โดยไทยต้องนำเข้าน้ำมันดิบสัดส่วน 90% ของความต้องการใช้ ในขณะที่ดีเซลถือเป็นต้นทุนของทุกภาคส่วนในประเทศสูงถึง 70 ล้านลิตรต่อวัน

ปัจจุบันรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ได้บริหารงานด้านพลังงานผ่านกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยวันที่ 9 มิ.ย.2567 ติดลบ 111,030 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 63,403 ล้านบาท ส่วนบัญชี LPG ติดลบ 47,627 ล้านบาท และได้กู้เงินจากสถาบันการเงิน 105,333 ล้านบาท

ทั้งนี้ จากปัญหาการตรึงราคาดีเซลเป็นระยะเวลานาน และการที่กองทุนน้ำมันฯ ติดลบทะลุ 1.1 แสนล้านบาท รัฐบาลจึงขยายกรอบการตรึงราคาดีเซลจาก 30 บาทต่อลิตร ไปอยู่ที่ไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงทิศทางราคาพลังงานครึ่งปีหลัง ว่า ส่วนตัวยอมรับว่าไม่สามารถจะคาดเดาทิศทางได้ในช่วงนี้ เพราะประเทศไทยนำเข้าพลังงานในปริมาณที่สูงอยู่แล้ว หากพูดไปก็เหมือนกับการเดาเลขสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งไม่รู้ว่าจะออกอะไร และอีกทั้งก็กลัวว่าคาดเดาไปแล้วจะผิดได้

ขณะที่นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท.ติดตามราคาพลังงานโลกอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในช่วงนี้มีปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ทำให้การขนส่งยากลำบากขึ้น

ในขณะที่ราคา LNG นำเข้า หากเทียบราคากับปีที่ผ่านมาดีขึ้น ทำให้ต้นทุนลดลง โดยทิศทางต่อไปนี้ ส่วนตัวยอมรับว่าพูดไม่ถูก และไม่อยากจะฟันธง แต่โดยรวมๆ ปัจจัยพลังงานนั้น ด้วยประเทศไทยนำเข้าในปริมาณมาก จึงต้องปรับตัว และดูต้นทุน อะไรที่เกี่ยวกับดีมานด์ และซัพพลาย การลงทุนต่างๆ จะต้องระมัดระวัง เจออะไรดีๆ ก็ลงทุน ปตท. เป็นบริษทใหญ่ไม่ใช่จะไม่จำกัดวงเงิน จึงต้องดูราคา และทิศทางอย่างระมัดระวัง และบริหารธุรกิจตามเทรนด์โลกที่เปลี่ยนแปลง

“ภูมิรัฐศาสตร์-ค่าเงิน” ตัวแปรราคาน้ำมัน

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ทิศทางราคาพลังงานครึ่งปีหลังจะทรงตัว โดยหากพิจารณาปัจจัยที่มีผลต่อการขึ้นราคาในตลาดโลก ประเด็นหลักมาจากสงครามที่เห็นว่าช่วง 2-3 วัน ที่ปรับขึ้นเกิดจากการที่อิสราเอลมีข้อตกลงว่าจะขอหยุดยิงกับกลุ่มฮามาส โดยใช้ข้อที่เคยตกลงกัน ซึ่งข้อตกลงบางข้อฮามาสไม่เห็นด้วยเลยเกิดแรงกระเพื่อมเกิดขึ้น

ดังนั้น ปัจจัยที่จะทำให้ราคาปรับขึ้นก็จะมาจากสงครามแต่เชื่อว่าจะขยับขึ้นได้ไม่เยอะ เพราะปัญหาเศรษฐกิจที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ไม่ยอมลดอัตราดอกเบี้ยที่คาดว่าจะลงประกาศลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงเดือนธ.ค.2567 ซึ่งจะเป็นเรื่องราคาพลังงานปี 2568

ทั้งนี้ ราคาดีเซลตลาดโลกอยู่ระดับ 90-110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งช่วงนี้อยู่ที่ 92-95 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จึงเชื่อว่าหากจะขยับราคาขึ้นคงไม่เกิน 110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ไม่น่าจะหวือหวามาก

 

 

 

“อีกปัจจัยที่จะพลิกแพลง และกระทบราคาน้ำมันในไทยคือ ค่าเงินบาทเพราะไทยนำเข้าพลังงานเป็นหลัก ดังนั้น ค่าเงินบาทก็จะมีส่วน จะเห็นว่ามีการผันผวนเยอะ และเริ่มมีนัยสำคัญ ซึ่งปัจจัยนี้ ทางกระทรวงพลังงานยังไม่มีใครพูดถึง” แหล่งข่าวกล่าว

เชื่อราคาดีเซลไทยช่วง 2 นี้คงระดับ 33 บาท

สำหรับราคาน้ำมันในไทยโดยเฉพาะราคาดีเซลยังอยู่ระดับ 33 บาทต่อลิตร ถึงสิ้นเดือนก.ค.2567 แต่ปัจจัยหลักคือ วิกฤติกองทุนน้ำมันฯ ด้านสภาพคล่อง เพราะต้องคำนึงถึงการชำระหนี้ด้วย ซึ่งราคาน้ำมันตลาดโลกไม่ได้สูงขึ้นมากแบบกระชากเหมือนช่วงแรกของสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน

ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่า หากสิ้นเดือนก.ค.2567 ไปแล้ว หากจะต้องปรับขึ้นก็คงไม่ถึง 35 บาทต่อลิตร อาจจะอยู่ระดับ 33 บาทต่อลิตรในช่วงเดือนถึง 2 เดือนนี้ เพราะอย่างน้อยมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ช่วยได้เยอะเพราะตอนนี้สภาพคล่องกองทุนน้ำมันฯ พออยู่ได้ ดังนั้น กระทรวงพลังงานน่าจะพิจารณาอีกครั้งช่วงสิ้นเดือน ก.ค.2567 เพราะปลายปีนี้ต้องมีเงินมาชำระหนี้ที่กู้มากว่า 1 แสนล้านบาท ถ้าไม่มีจะทำอย่างไร ตัวนี้เป็นประเด็นมากกว่า

“ที่ผ่านมาการขึ้นราคาน้ำมันทั้งหมดขึ้นอยู่กับกองทุนน้ำมันฯ แต่ต้องบริหารควบคู่กับนโยบายรัฐบาลที่ให้มาว่าเป็นอย่างไร อย่างวันนี้ 33 บาทต่อลิตร ก็ต้องทำตาม แม้อำนาจจะมีก็ต้องเชื่อฟังรัฐบาล หรือหากเกิดสมมติฐานก็จะต้องทำให้รัฐบาล เพื่อสอบถามความคิดเห็นทางนโยบายว่าจะให้ทำอย่างไร จะออกมติใหม่หรือเอาอะไรมาช่วย ณ ปัจจุบันก็ยังไม่เห็น” แหล่งข่าวกล่าว

แนะแปลงหนี้เสริมสภาพคล่องกองทุนน้ำมัน

อย่างไรก็ตาม หากจะช่วยให้กองทุนน้ำมันฯ มีสภาพคล่องมากขึ้น ก็อาจจะมีการแปลงหนี้ อาทิ การแปลงเป็นธนบัตรโดยรัฐบาลก็ต้องค้ำประกัน เพื่อยืดอายุการจ่ายเงินกู้ โดยให้กองทุนน้ำมันฯ จ่ายเพียงแค่ดอกเบี้ยไปก่อน เนื่องจาก ช่วงเดือนพ.ย.2567 นี้ กองทุนน้ำมันจะต้องเริ่มจ่ายหนี้เงินต้นวงเงินกู้ในงวดแรกที่เริ่มกู้มาที่จำนวน 5,000 ล้านบาท เท่าที่จำได้จะเฉลี่ยจ่ายคืนใน 5 ปี หรือใช้วิธีขอขยายระยะเวลาจ่ายเงินต้นออกไปก่อน เป็นต้น

รายงานข่าวระบุว่า หลังจาก นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รับตำแหน่งวันที่ 23 ส.ค.2566 ประกาศนโยบายตรึงราคาดีเซล 30 บาทต่อลิตร โดยเริ่มใช้ระหว่าง 1 ม.ค.- 31 มี.ค.2567 ขณะนี้เงินกองทุนน้ำมันฯ ติดลบ 1.1 แสนล้านบาท 

ทั้งนี้วันที่ 5 เม.ย.2567 กบน.ขึ้นราคาดีเซล 50 สตางค์ต่อลิตร เป็นครั้งแรกหลังจากรัฐบาลตรึงราคาดีเซลตั้งแต่เดือนม.ค.2567 และปรับขึ้นครั้งละ 50 สตางค์ จนเต็มเพดาน 33 บาท เมื่อวันที่ 31 พ.ค.2567 รวมทั้งช่วงโควิดคลี่คลายที่ราคาพลังงานโลกผันผวน และสูงมาก ส่งผลให้ กบน.เคยปรับราคาดีเซลสูงถึง 34.94 บาทต่อลิตร โดยให้มีผลวันที่ 14 มิ.ย.2565 ช่วงนั้นกองทุนน้ำมันฯ ติดลบ 91,089 ล้านบาท

อิสราเอลเดินหน้าโจมตีฮามาสดันราคาน้ำมัน

นักวิเคราะห์ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ความเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันดิบต่างประเทศวันที่ 14 มิ.ย.2567 เปลี่ยนแปลงตามชนิดที่อ้างอิง ดังนี้ ราคาน้ำมันดิบโลกวันนี้ปรับตัวขึ้น หลังกลุ่มโอเปกคาดอุปสงค์น้ำมันยังคงแข็งแกร่ง ประกอบกับอิสราเอลยังคงเดินหน้าโจมตีฮามาส

โดยเวสต์เท็กซัส (WTI) อยู่ที่ 78.62 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.12 ดอลลาร์, เบรนท์ (Brent) อยู่ที่ 82.75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.15 ดอลลาร์ และดูไบ (Dubai) อยู่ที่ 82.24 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลดลง 0.52 ดอลลาร์

สำหรับราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส และเบรนท์ปรับเพิ่ม หลังกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) คาดการณ์ว่าอุปสงค์น้ำมันจะปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับ 116 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายในปี 2588 สวนทางกับรายงานของสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ที่คาดการณ์ว่าอุปสงค์น้ำมันจะถึงจุดสูงสุดภายในปี 2572

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์