‘ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ’ เตือนผ่านสื่อนอก ปรับกรอบเงินเฟ้อดันราคาพุ่ง ทำ ศก.ไทยเสี่ยง

‘ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ’ เตือนผ่านสื่อนอก ปรับกรอบเงินเฟ้อดันราคาพุ่ง ทำ ศก.ไทยเสี่ยง

‘เศรษฐพุฒิ’ ให้สัมภาษณ์กับสื่อนอกรอบใหม่  เตือนรัฐบาลไทยไม่ควรปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ หวั่นกระตุ้นเงินเฟ้อเร็ว ดันต้นทุนกู้ยืมพุ่งขึ้น ยืนยันหนี้ครัวเรือนยังเรื้อรัง และน่าห่วง

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สัมภาษณ์พิเศษกับสำนักข่าวบลูมเบิร์ก แสดงความไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของรัฐบาลที่จะทบทวนกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ

‘ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ’ เตือนผ่านสื่อนอก ปรับกรอบเงินเฟ้อดันราคาพุ่ง ทำ ศก.ไทยเสี่ยง

โดยอ้างถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจประเทศไทย ซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 2 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า ความเคลื่อนไหวใดๆ เพื่อปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้ออาจไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ โดยอาจทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับมาขยายตัวอย่างรวดเร็ว และนำไปสู่ต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น

 “กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในปัจจุบันเหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจในตอนนี้ และมีประสิทธิภาพในการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจ โดยความเสี่ยงของการปรับขึ้นกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อจากช่วง 1%-3% ในเวลานี้ก็คือ จะทำให้อัตราเงินเฟ้อที่แท้จริงเพิ่มสูงขึ้น” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

เศรษฐพุฒิเน้นย้ำถึงความยากลำบากของธนาคารกลางไทยที่เผชิญกับแรงกดดันจากรัฐบาล สถานการณ์นี้สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนต่อนโยบายการเงินของ ธปท. ท่ามกลางการเมืองที่ไม่แน่นอน ล้วนส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ส่งผลให้กองทุนต่างชาติทยอยขายหุ้น และพันธบัตรไทยออกไปมูลค่าราว 3.9 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 1.4 แสนล้านบาทในปีนี้

โดยความเห็นนี้เกิดขึ้นก่อนการทบทวนเป้าหมายเงินเฟ้อร่วมกับกระทรวงการคลัง ซึ่งมีกำหนดการประชุมในช่วงเดือนสิงหาคม และกันยายนนี้

ก่อนหน้านี้นาย “พิชัย ชุณหวชิร” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เสนอมุมมองเกี่ยวกับการทบทวนกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อเมื่อเดือนที่แล้ว โดยให้เหตุผลหลักว่า ไทยเผชิญกับภาวะเงินฝืดหรือเงินเฟ้อติดลบ ต่อเนื่องเป็นเวลา 6 เดือน จนถึงเดือนมีนาคม 2567

นักวิเคราะห์ในไทยมองว่าข้อเสนอนี้เป็นกลยุทธ์เพื่อกดดันให้ธนาคารกลางลดอัตราดอกเบี้ย โดยคาดหวังว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัว อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางคน เช่น ทัมมารา เฮนเดอร์สัน จาก Bloomberg Economics มองว่ากลยุทธ์นี้ “ไร้ประโยชน์” และอาจทำให้ความพยายามในการจัดการดูแลเรื่องราคาสินค้าอุปโภคบริโภคยุ่งยากขึ้นไปอีก

รัฐบาลกดดันแบงก์ชาติให้ลดอัตราดอกเบี้ย

หลังจากที่ดัชนีเงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายของ ธปท.อีกครั้งในเดือนพฤษภาคม ส่งผลให้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ตัดสินใจ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% เป็นครั้งที่ 4 ติดต่อกันในการประชุมเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2567

แบงก์ชาติ ยังได้ปฏิเสธข้อเรียกร้องจากรัฐบาลในการลดอัตราดอกเบี้ย โดยแย้งว่าการปฏิรูปโครงสร้างไม่ใช่วิธีที่ทำให้ต้นทุนการกู้ยืมถูกลงคือ สิ่งที่เศรษฐกิจต้องการเพื่อกระตุ้นการเติบโตอย่างยั่งยืน

"อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันถือว่าเหมาะสมที่จะช่วยนำเศรษฐกิจของเราไปสู่ศักยภาพในระยะยาว" เศรษฐพุฒิ กล่าว "อย่างไรก็ตาม หากแนวโน้มทางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปจากที่เราคาดการณ์ไว้ เราก็พร้อมที่จะปรับตัว เราไม่ได้ยึดติดกับอัตราดอกเบี้ยปัจจุบัน และมันก็ไม่ใช่มุมมองที่ตายตัว"

‘หนี้ครัวเรือน’โรคเรื้อรังกัดกินประเทศไทย

สำหรับสถานการณ์ “ค่าเงินบาท” ซึ่งปัจจุบันถือเป็นสกุลเงินที่อ่อนค่ามากที่สุดเป็นอันดับสองในเอเชียในปีนี้ รองจากเยนญี่ปุ่น นายเศรษฐพุฒิ กล่าวเพียงว่า ธปท.สามารถรับมือการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทได้มากขึ้นกว่าเดิม

ผู้ว่าฯ ธปท.ระบุด้วยว่า ตอนนี้แบงก์ชาติต้องพยายามรักษาสมดุลอย่างระมัดระวัง

ทั้งความพยายามในการช่วยให้วิสาหกิจขนาดย่อม ขนาดเล็ก และขนาดกลาง ของไทย ซึ่งกำลังประสบปัญหา สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องป้องกันไม่ให้ระดับหนี้สินพุ่งสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ

เศรษฐพุฒิ  กล่าวถึงระดับหนี้สินที่สูงในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “หนี้ครัวเรือน” ที่เป็นปัญหาใหญ่และยังไม่สามารถแก้ไขได้ในเร็วๆ นี้ และเปรียบเทียบปัญหานี้ว่า

“มันเหมือนกับโรคเรื้อรังมากกว่าโรคเฉียบพลัน อาจไม่ถึงกับนำไปสู่วิกฤติ แต่ก็จะยืดเยื้อไปอีกนาน และแก้ไขได้ยาก

ความท้าทายภายใต้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของ 'เศรษฐา'

มุมมองของเศรษฐพุฒิ สะท้อนถึงความท้าทายในการดำเนินนโยบายการเงินท่ามกลางแรงกดดันจากหลายภาคส่วนภายใต้รัฐบาลของ นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ที่ต้องการเห็นนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ กลายเป็นแรงกดดันต่อแบงก์ชาติ ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ขณะที่ตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนและภาคธุรกิจ 

เศรษฐพุฒิ กล่าวถึงแรงกดดันจากรัฐบาลให้ลดอัตราดอกเบี้ย และย้ำถึงความสำคัญของการรักษาไว้ซึ่งนโยบายการเงินอิสระของธนาคารกลาง โดยชี้ให้เห็นว่าประเทศที่มีระบบนโยบายการเงินอิสระกับธนาคารกลางมักมีผลลัพธ์ด้านเงินเฟ้อ และเสถียรภาพทางการเงินที่ดีกว่า

“ผลงานย่อมพิสูจน์ได้ด้วยตัวเอง” โดยอ้างอิงถึงผลงานของ ธปท. ในการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจไทย ควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย และสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

วาระการดำรงตำแหน่งของเศรษฐพุฒิในฐานะผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยจะสิ้นสุดลงในเดือนกันยายน 2568  แต่เศรษฐพุฒิเผยว่าจะไม่ขอรับการเสนอชื่อเข้าชิงตำแหน่งต่ออีกสมัยในปีหน้า

อ้างอิง Bloomberg

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์