‘ดอลลาร์แข็ง ของแพง’ ฮ่องกงผวา เซินเจิ้นผงาด
คนไทยไปเที่ยวฮ่องกงคงสังเกตว่า ผู้คนที่นั่นไม่ค่อยยิ้มแย้มเท่าไร ทางการก็ทราบดีจึงขอให้พนักงานภาคบริการสุภาพอ่อนน้อม และยิ้มแย้มให้มากขึ้นเพื่อดึงนักท่องเที่ยวกลับมา แต่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ราคาที่สูงขึ้น และการแข่งขันจากเซินเจิ้นเป็นปัญหาใหญ่กว่า
KEY
POINTS
- ฮ่องกงขณะนี้จำนวนนักท่องเที่ยวยังไม่เท่าระดับก่อนเกิดเหตุประท้วง และโควิด-19 ระบาด
- เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว รัฐบาลฮ่องกงจึงเปิดตัวแคมเปญ “Let’s Go the Extra Mile” กระตุ้นให้พนักงานภาคบริการ และประชาชนยิ้มแย้มมากขึ้น
- แต่ปัญหาที่ใหญ่กว่านั้น และแก้ยากกว่าคือ ดอลลาร์แข็ง สินค้า และบริการในฮ่องกงราคาแพง อีกทั้งเซินเจิ้นกำลังเติบโตขึ้นมาแซงหน้า
คนไทยไปเที่ยวฮ่องกงคงสังเกตว่า ผู้คนที่นั่นไม่ค่อยยิ้มแย้มเท่าไร ทางการก็ทราบดีจึงขอให้พนักงานภาคบริการสุภาพอ่อนน้อม และยิ้มแย้มให้มากขึ้นเพื่อดึงนักท่องเที่ยวกลับมา แต่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ราคาที่สูงขึ้นและการแข่งขันจากเซินเจิ้นเป็นปัญหาใหญ่กว่า
ศูนย์กลางการเงินเอเชียที่เคยโด่งดังเรื่องการชอปปิงสินค้าแบรนด์เนม ชิมอาหารอร่อย และชื่นชมสีสันยามค่ำคืน ขณะนี้นักท่องเที่ยวยังไม่เท่าระดับก่อนเกิดเหตุประท้วง และโควิด-19 ระบาด
เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว รัฐบาลฮ่องกงจึงเปิดตัวแคมเปญ “Let’s Go the Extra Mile” กระตุ้นให้พนักงานภาคบริการ และประชาชนแสดงการเป็นเจ้าบ้านที่ดี “ตอกย้ำแบรนด์ฮ่องกงในฐานะสุดยอดจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยว”
จอห์น ลี ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง แถลงข่าวเมื่อสัปดาห์ก่อน เรียกร้องประชาชนสุภาพอ่อนน้อมมากขึ้น ยิ้มแย้มมากขึ้น และ “ก้าวไปอีกขั้นเพื่อส่งเสริมธุรกิจบริการของฮ่องกง”
โครงการริเริ่มนี้เกิดขึ้นหลังมีข้อมูลว่า ช่วงสี่เดือนแรกของปี 2567 นักท่องเที่ยวมาเยือนฮ่องกงรวม 24 ล้านคน คิดเป็นเพียง 60% ของช่วงเดียวกันในปี 2562 เท่านั้น
แม้ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากปี 2566 ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า การฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ยังมีอุปสรรคให้เผชิญที่ใหญ่กว่าคนฮ่องกงไม่ยิ้มแย้มเสียอีก
- ดอลลาร์แข็ง ของแพง
“ปัญหาใหญ่สุดอันดับหนึ่งของฮ่องกงง่ายๆ เลยคือแพง” อัลลัน ซีแมน ประธานหลานไกวฟงกรุ๊ป ให้ความเห็นกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซี บริษัทของเขาเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ในย่านราตรี “หลานไกวฟง”
สกุลเงินฮ่องกงตรึงไว้กับดอลลาร์สหรัฐ ช่วยหนุนสถานะฮ่องกงศูนย์กลางการเงินโลก แต่ก็ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างในฮ่องกงแพงเมื่อเทียบกับเขตเศรษฐกิจอื่นๆ ในเอเชีย โดยเฉพาะตอนนี้ที่อัตราดอกเบี้ยสูง เงินดอลลาร์แข็งค่า
“นักท่องเที่ยวพยายามหาที่อื่น อย่างเซินเจิ้น และญี่ปุ่น ที่ถูกมากๆ เมื่อเทียบกัน” ซีแมนผู้เป็นที่ปรึกษารัฐบาลฮ่องกงด้วยกล่าวเพิ่มเติม
พลวัตนี้เป็นจริงโดยเฉพาะกับนักเดินทางชาวจีนแผ่นดินใหญ่ ที่ช่วงหลังเงินหยวนอ่อนค่ามากเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และฮ่องกง
ในเวลาเดียวกัน ซีแมน กล่าวว่า ชาวจีนแผ่นดินใหญ่กำลังเป็นนักท่องเที่ยวใหญ่สุดของฮ่องกง เมื่อคนชาติอื่นยังไม่กลับเข้ามามาก ซึ่งนี่ส่อเป็นปัญหาให้กับธุรกิจท้องถิ่น เพราะชาวจีนแผ่นดินใหญ่มีแนวโน้มใช้จ่ายน้อยกว่า เนื่องจากรสนิยมการท่องเที่ยว, พักอยู่ไม่นาน และมีงบประมาณจำกัด ท่ามกลางเศรษฐกิจจีนซบเซา
ด้านสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวฮ่องกง แม้คาดการณ์ว่า จำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นในปีนี้ ค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวค้างคืนจะลดลงเหลือ 5,800 ดอลลาร์ฮ่องกง จาก 6,939 ดอลลาร์ฮ่องกงในปีก่อน
ตอนที่ฮ่องกงปิดพรมแดนช่วงโควิด-19 ระบาด ย่านหลานไกวฟง แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังได้รับผลกระทบหนักเป็นพิเศษ แม้ธุรกิจหลายรายในย่านนั้นฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง แต่ตอนนี้มีบางพื้นที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งปรากฏการณ์แบบนี้ยากจะเกิดขึ้นช่วงก่อนโควิดระบาด
- ชาวฮ่องกงก็ชอบเซินเจิ้น
ไซมอน ลี สิ่ว โป นักเศรฐศาสตร์จากสถาบันธุรกิจเอเชียแปซิฟิก มหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง กล่าวว่าในทางกลับกัน ชาวฮ่องกงเดินทางไปเซินเจิ้นเพิ่มมากขึ้น “ทั้งสองเรื่องสร้างปัญหาให้ฮ่องกงพอๆ กัน”
ตอนที่ฮ่องกงปิดพรมแดนช่วงโควิดระบาด เซินเจิ้นที่อยู่ไม่ไกลกันใช้ช่วงเวลานั้นเดินหน้าพัฒนาตนเองเป็นเมืองชั้นนำ รถไฟความเร็วสูงที่เพิ่งเปิดให้บริการประกอบกับสะพานข้ามทะเลขนาดมหึมา ทำให้การเดินทางสะดวกสบายมากกว่าเดิม
เซินเจิ้นมีตัวเลือกมากมายทั้งอาหาร ความบันเทิง และแหล่งชอปปิง ลีมองว่าตอนนี้แข่งกับฮ่องกงได้สบาย อีกทั้งราคาสินค้า และบริการบางครั้งถูกกว่าฮ่องกงสองถึงสามเท่า
พลวัตนี้อธิบายได้ว่าทำไมชาวฮ่องกงนับพันนับหมื่นถึงได้หลั่งไหลไปเซินเจิ้นช่วงเทศกาลอีสเตอร์ เมื่อปลายเดือนมี.ค. ปล่อยให้ร้านอาหาร บาร์ ห้างสรรพสินค้าฮ่องกงเงียบเหงา
ตลอดเดือนมี.ค. ฮ่องกงที่มีประชากร 7.3 ล้านคน มีผู้เดินทางออกจากจุดควบคุมการจราจรถึง 9.3 ล้านคน/ครั้ง ข้อมูลจากรัฐบาลชี้ว่า นี่คือตัวเลขคนเดินทางออกจากเมืองสูงสุดในเดือนเดียว นับตั้งแต่ปี 2540 เป็นอย่างน้อย ซึ่งเป็นปีที่อังกฤษส่งมอบฮ่องกงให้จีน
ขณะเดียวกันในเดือนนั้นมีนักท่องเที่ยวมาเยือนฮ่องกงแค่ราว 3.4 ล้านคนเท่านั้น แนวโน้มนี้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจในพื้นที่ ยอดค้าปลีกลดลงต่อเนื่อง สื่อท้องถิ่นรายงานว่าร้านอาหารปิดตัวอย่างรวดเร็ว
ผลสำรวจล่าสุดจากสมาคมเอสเอ็มอีฮ่องกง บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กในฮ่องกง 70% รายงานผลประกอบการลดลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด
ปัญหาเหล่านี้ทำให้ทางการนิ่งเฉยไม่ได้ นอกจากแคมเปญอย่าง “Let’s Go The Extra Mile” แล้ว ทางการฮ่องกงยังจัดสรรงบประมาณ 1.09 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง จัดกิจกรรมทั่วเมือง เช่น งานแสดงพลุเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและใช้จ่าย
ในมุมมองของลี และซีแมนจากหลานไกวฟง เงินงบประมาณอาจช่วยได้บ้าง แต่การต่อสู้กับราคาที่สูงขึ้น และการแข่งขันจากเซินเจิ้น จำเป็นต้องใช้ความพยายามสูงกว่านี้มาก
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์