‘แบงก์ชาติจีน’ จ่อปฏิรูปนโยบายการเงินครั้งใหญ่ หวังเพิ่มสภาพคล่องฟื้นเศรษฐกิจ
'ธนาคารกลางจีน' จ่อพลิกโฉมนโยบายการเงินครั้งใหญ่ ด้วยการเข้าซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลในตลาดรอง หันใช้ดอกเบี้ยระยะสั้น - ลดช่องว่างอัตราดอกเบี้ย หวังอัดฉีดสภาพคล่องกระตุ้นเศรษฐกิจ
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ธนาคารกลางจีน(PBOC) ส่งสัญญาณพลิกโฉมนโยบายการเงินของจีนครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายปีเพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ
“พาน กงเซิง” (Pan Gongsheng) ผู้ว่าการธนาคารกลางจีนเผยว่าธนาคารกลางอาจเริ่มเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลในตลาดรอง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนโยบายนี้ถือเป็นกลไกทางการเงินใหม่ที่ช่วยเพิ่มสภาพคล่อง และกระตุ้นเศรษฐกิจ
2 เครื่องมือนโยบายการเงินใหม่
นอกเหนือจากการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลในตลาดรอง กงเซิงยังส่งสัญญาณถึงการปฏิรูป "ระบบอัตราดอกเบี้ย" โดยอาจเปลี่ยนไปใช้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอัตราเดียวเพื่อกำหนดทิศทาง และจำกัดขอบเขตการผันผวนของอัตราดอกเบี้ย การเปลี่ยนแปลงนี้อาจส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลาง (Medium-Term Lending Facility - MLF) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ธนาคารกลางใช้มาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา มีความสำคัญน้อยลง
อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลางคือ อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกลางจีนกำหนดสำหรับเงินกู้ระยะ 1 ปี ที่ให้ธนาคารพาณิชย์กู้ยืมไปปล่อยสินเชื่อต่อภาคธุรกิจ โดยในอดีตธนาคารกลางจีนใช้ MLF เป็นเครื่องมือหลักในการชี้นำอัตราดอกเบี้ยในระบบเศรษฐกิจ การเปลี่ยนไปใช้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นเพียงอัตราเดียวอาจหมายความว่าธนาคารกลางจีนจะใช้อัตราดอกเบี้ยนี้เป็นหลักในการชี้นำตลาด ส่งผลให้การกำหนดนโยบายด้านการเงินมีความยืดหยุ่นมากขึ้น
นอกจากนี้ ธนาคารประชาชนจีนยังพิจารณาที่จะลดช่องว่างของอัตราดอกเบี้ยให้แคบลง ซึ่งเป็นกรอบที่อนุญาตให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดสามารถปรับเปลี่ยนได้ การลดช่องว่างนี้จะช่วยให้สัญญาณนโยบายการเงินของธนาคารกลางมีความชัดเจนมากขึ้น
ปฏิรูปนโยบายการเงินในรอบ 10 ปี
ซิง จ้าวเผิง นักยุทธศาสตร์อาวุโสด้านจีน จากธนาคาร Australia & New Zealand Banking Group กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้แสดงถึงการปฏิรูปวัตถุประสงค์ และเครื่องมือทางนโยบายการเงินในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และเป็นการปฏิรูปครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งเป็นช่วงที่ธนาคารกลางจีนเริ่มใช้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลางเพื่อจัดการสภาพคล่องในระบบ
อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปนโยบายการเงินของจีนที่ประกาศล่าสุด จะต้องใช้เวลา และส่งผลต่อตลาดอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยซิง เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ระบบอัตราดอกเบี้ยของจีนจะต้องพึ่งพากลไกของตลาดมากกว่าที่จะถูกกำหนดโดยทางการ
ในระหว่างการแถลงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลจีนอายุ 10 ปีปรับตัวขึ้นเล็กน้อย แต่หลังจากนั้นก็ปรับตัวลงอีกครั้ง
การเข้าซื้อขายพันธบัตรในตลาดรอง จะเป็นเครื่องมือใหม่ของธนาคารประชาชนจีนที่มีประสิทธิภาพมากกว่ากลไกเดิม เนื่องจากการซื้อขายพันธบัตรในตลาดรองจะช่วยดึงดูดนักลงทุนรายย่อย และนักลงทุนต่างชาติ มากกว่าการจำกัดการมีส่วนร่วมไว้เฉพาะสถาบันการเงินเท่านั้น นอกจากนี้รัฐบาลและบริษัทต่างๆ สามารถระดมทุนได้ในราคาที่ถูกลง เพื่อสนับสนุนการลงทุน และกระตุ้นเศรษฐกิจ
RRR ใกล้ระดับต่ำสุด
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ธนาคารกลางจีนพึ่งพาการลดอัตราเงินสำรองที่ต้องเก็บไว้ (RRR) เป็นเครื่องมือหลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจ กลไกนี้มีประสิทธิภาพแต่ปัจจุบันเริ่มมีข้อจำกัด เนื่องจากอัตรา RRR อยู่ที่ 5% ซึ่งเข้าใกล้ระดับต่ำสุด และการลด RRR เพิ่มเติมอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน ด้วยเหตุผลเหล่านี้ PBOC จึงเริ่มมองหาเครื่องมือใหม่ๆ ในการอัดฉีดสภาพคล่อง
ดังนั้นนโยบายการปฏิรูปครั้งใหม่มีความสำคัญอย่างยิ่งในเวลานี้ เนื่องจากภาวะการเงินของหน่วยงานปกครองท้องถิ่นกำลังย่ำแย่ลงเรื่อยๆ และส่งผลกระทบต่อความสามารถในการช่วยเหลือเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญกับภาวะ "เงินฝืด" และภาคตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซา
อ้างอิง บลูมเบิร์ก
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์