ปารีสโอลิมปิก ขาดทุน หรือ กำไร? | กันต์ เอี่ยมอินทรา

ปารีสโอลิมปิก ขาดทุน หรือ กำไร? | กันต์ เอี่ยมอินทรา

การเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก มีความเสี่ยงขาดทุนสูง แต่กระนั้นหลายประเทศยังคงอยากจัดงานใหญ่นี้ เมื่อมองว่าอาจส่งผลดีต่อเศรษฐกิจมากกว่า แต่ดูเหมือนว่าชาวฝรั่งเศสหลายคนไม่เห็นด้วยกับการจัดโอลิมปิกปารีส 2024

โอลิมปิกเกมส์ที่กำลังจะเปิดฉากในสัปดาห์หน้า ถือเป็นมหกรรมกีฬาที่คนทั่วโลกต่างรอคอย ที่มีความเสี่ยงในการขาดทุนสูงมาก แต่ทำไมยังมีประเทศมากมายอยากเป็นเจ้าภาพ รวมถึงไทยเราเองด้วย?

จากสถิติอันใกล้ คือภายในระยะเวลา 30 ปีของการจัดโอลิมปิก จะพบว่ามีแค่แอตแลนตาร์ (สหรัฐ) และซิดนีย์ (ออสเตรเลีย) เท่านั้นที่ได้กำไรจากการจัดโอลิมปิก คือมีเม็ดเงินเพิ่มไหลเข้ามาในระบบเศรษฐกิจประมาณ 400-700 ล้านดอลลาร์ ซึ่งสองประเทศที่ได้กำไรจากงานนี้ มีจุดร่วมกันอย่างหนึ่งคือ เป็นประเทศที่ประชาชนนั้นมีรายได้ มีกำลังการซื้อที่สูง และเม็ดเงินส่วนใหญ่ที่เพิ่มนั้นก็เป็นเม็ดเงินจากคนในประเทศที่เข้ามาท่องเที่ยวในช่วงมหกรรมกีฬานั่นเอง

ดังนั้นหากใช้แว่นตาของนักบัญชีมองมหกรรมกีฬานี้แล้ว จะพบว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะคืนต้นทุน และก็ไม่คุ้มค่าโอกาสของเงินจำนวนมหาศาลที่ลงทุนที่สามารถไปทำโครงการอื่น ๆ ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้โดยตรงหรือยั่งยืนกว่า แต่เพราะเหตุใดยังมีคนอยากจะเป็นเจ้าภาพ?
 

เพื่อตอบคำถามนี้ จำต้องสวมแว่นตาของนักการเมืองและนักการตลาด จึงจะสามารถเข้าใจและอธิบายได้ หากกีฬาโอลิมปิกคือไฟสปอตไลต์ที่จะฉายมาสู่ประเทศเจ้าภาพ นั่นคือการประชาสัมพันธ์และสื่อโฆษณาชั้นดี ที่มีมูลค่าสูงลิ่ว กีฬาโอลิมปิกสามารถเป็นกระดานหกทั้งทางการเมือง (เพื่อเพิ่มคะแนนนิยม) และการเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ในประเทศ/เมืองนั้น ๆ ยกตัวอย่างเช่น

โอลิมปิกที่ปักกิ่ง ที่จีนลงทุนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 5 หมื่นล้านดอลลาร์ มีมาตรการต่าง ๆ มากมายเพื่อทำให้ทั่วโลกเห็นว่าจีนนี้เจริญทัดเทียมนานาอารยประเทศ และคือมหาอำนาจใหม่ในยุคนี้ ไม่นับสนามกีฬาที่ยิ่งใหญ่อลังการที่ปัจจุบันทุกคนก็ยังคงพูดถึง แต่กรณีศึกษาที่น่าสนใจที่สุดกลับคือ การใช้โอลิมปิกเป็นหมุดหมายในการทำให้อากาศในปักกิ่งสะอาด 

ปักกิ่งเคยเป็นหนึ่งในเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดติดอันดับโลก เกิดเป็นหมอกควันพิษบ่อยครั้ง รัฐบาลจีนจึงใช้ทั้งไม้แข็งและอ่อนเพื่อจัดการปัญหานี้ จนกระทั่งประธานาธิบดีฝรั่งเศส กล่าวชมจีนว่าไม่เคยเห็นปักกิ่งที่มีอากาศสดใสเช่นนี้ และนี่คือผลลัพธ์หนึ่งที่โอลิมปิกทำให้สภาพบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไป ไม่นับรวมการทำเมืองให้สะดวกยิ่งขึ้นด้วยการเชื่อมโยงขนส่งสาธารณะ หรือการทำให้เมืองมีความอารยะยิ่งขึ้น อาทิ ป้ายภาษาสื่อสาร หรือแม้กระทั่งการปลูกต้นไม้ หรือแนวคิดอารยะสถาปัตย์ที่รองรับคนพิการและผู้สูงอายุ
 

โอลิมปิกปารีส 2024 ถือเป็นโอลิมปิกครั้งที่ 3 ของปารีส และครบรอบ 100 ปีพอดี หลังจากการจัดครั้งที่ 2 ในปี 1924 หากเข้าใจคำว่า "เสียเงินไม่ว่า เสียหน้าไม่ได้" ก็น่าจะเข้าใจประธานาธิบดีมาครงว่าทำไมจึงกล้าตัดสินใจลงทุนเม็ดเงินมหาศาลท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจยุโรปอันเป็นผลพวงต่อเนื่องมาจากวิกฤติโควิด และสงครามในยูเครน ท่ามกลางเสียงไม่เห็นด้วยที่นับวันยิ่งดังขึ้นเรื่อย ๆ

ใช่ว่าคนปารีสทุกคนจะยินดีกับโอลิมปิกที่จะจัดขึ้นในปารีสครั้งนี้ เพราะวิถีชีวิตที่เคยวุ่นวายแต่เดิมจากจำนวนนักท่องเที่ยวและมิจฉาชีพที่ล้นเมืองอยู่แล้ว กลับจะมากยิ่งขึ้น ซ้ำร้ายค่าเดินทางขนส่งก็จะแพงขึ้นในช่วงเวลาของการจัดงานด้วย ทั้งยังมีมาตรการต่าง ๆ ที่จะใช้บังคับในช่วงการจัดงานเพื่ออำนวยความสะดวกแขกเมืองและความปลอดภัยมากมาย ที่คนปารีสมองว่าทำให้ชีวิตประจำวันมีความยากลำบากมากขึ้น จึงเป็นที่มาของกระแสการต่อต้านการจัดโอลิมปิกนี้

ปารีสมีนักท่องเที่ยวทุกปีอยู่ที่ 15-20 ล้านคน ติดอันดับท็อป 10 ของโลกในทุกปี ขณะที่กรุงเทพของเรานั้นต้อนรับผู้มาเยือนราวๆ 30-40 ล้านคน แต่หากคุณเคยไปปารีส คุณจะรู้ว่า ไม่ใช่คนปารีสทุกคนจะเป็นมิตรเหมือนคนกรุงเทพฯ คนปารีสลงความเห็นตรงกันว่าไม่ว่าจะมีโอลิมปิกหรือไม่มีปารีสก็ต้อนรับนักท่องเที่ยว(เกิน)พอแล้วเสียด้วยซ้ำ และความรู้สึกนั้นก็ดันตรงกับตัวเลขทางสถิติที่ว่า หากจัดโอลิมปิกในเมืองที่นักท่องเที่ยวเยอะอยู่แล้ว เม็ดเงินส่วนต่างในทางเศรษฐกิจนั้นจะได้น้อยมากกว่าจัดที่เมืองรอง!

และนี่ยังไม่พูดถึงผลกระทบในเชิงจิตวิทยาต่อผู้คนและบ้านเมืองในช่วงการเตรียมงาน ซึ่งนักการเมืองและนักการตลาดที่หลักแหลมสามารถตักตวงเพื่อหาผลประโยชน์ได้อีกมาก...