‘โอลิมปิก’ มหกรรมกีฬาแห่งการขาดทุน? | กันต์ เอี่ยมอินทรา
เปิดงบประมาณจัดโอลิมปิกในอดีต บ่งชี้ มหกรรมกีฬาโอลิมปิกนี้คือมหกรรมกีฬาแห่งการขาดทุน? เพราะมีต้นทุนที่สูงที่กำหนดจากคณะกรรมการโอลิมปิกโลก ให้เมืองนั้น ๆ ต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกด้านกีฬาอย่างครบครัน
อีกไม่กี่สัปดาห์ มหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง “โอลิมปิก” ก็จะเปิดฉากขึ้นที่กรุงปารีสของฝรั่งเศส
เรื่องของความใหญ่โตอลังการและประวัติศาสตร์ที่ยาวนานของมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเป็นที่รู้กันและหาอ่านได้ง่ายทั่วไป แต่ประเด็นหนึ่งที่คนทั่วโลกมักจะมองข้ามคือเรื่องของเม็ดเงิน ทั้งรายรับและรายจ่าย ทั้งทางตรงและทางอ้อม ว่าแท้จริงแล้วมหกรรมกีฬาที่ได้ชื่อว่ายิ่งใหญ่ที่สุดของโลกนั้น เป็นตัวช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจริงหรือ?
การจัดโอลิมปิกนี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะนอกจากจะต้องใช้เงินทุนมหาศาลตั้งแต่ขั้นตอนการเสนอชื่อ อาทิ ในปี 2016 ที่กรุงโตเกียวของญี่ปุ่นเสนอตัว ก็ใช้เงินสูงถึง 150 ล้านดอลลาร์ แต่ในที่สุด นครรีโอ เดอ จาเนโรของบราซิลก็ได้รับเลือกเป็นผู้จัด แต่เงินจำนวนเท่านี้ถือเป็นแค่น้ำจิ้มเมื่อเทียบกับเงินลงทุนก้อนต่อๆ มา หากได้รับการอนุมัติให้ชนะเลิศในการเสนอชื่อส่งเข้าประกวดแข่งขันเพื่อจัดโอลิมปิก
เป็นที่รู้กันในผู้ที่สนใจเศรษฐกิจว่า มหกรรมกีฬาโอลิมปิกนี้คือมหกรรมกีฬาแห่งการขาดทุน เพราะมีต้นทุนที่สูงที่กำหนดจากคณะกรรมการโอลิมปิกโลก มีมาตรฐานต่างๆ มากมาย มีโครงการสนามกีฬาและที่พักนักกีฬาที่จำต้องได้มาตรฐานซึ่งส่วนใหญ่ก็จะมีการสร้างใหม่
หากมองย้อนหลังในช่วงเวลา 30 ปี จะเห็นได้ว่ามหกรรมกีฬานี้มีราคาค่างวดหลายพันล้านดอลลาร์ ส่วนจะใช้เม็ดเงินมากน้อยนั้นก็ขึ้นกับกำลังความสามารถที่ประเทศเจ้าภาพมี อาทิ โอลิมปิกที่นครแอตแลนตา (สหรัฐ) ซึ่งจะใช้เป็นปีฐานในการเปรียบเทียบต่อไป ใช้เงินประมาณ 5 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่โอลิมปิกที่นครซิดนีย์ (ออสเตรเลีย) ใช้เงินเกือบเท่าตัวที่ 9 พันล้านดอลลาร์ โอลิมปิกที่รีโอ เดอ จาเนโร (บราซิล) ในปี 2016 และที่กรุงลอนดอน (อังกฤษ) ในปี 2012 ใช้เงินลงทุนเกือบ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ (3 เท่าของแอตแลนตา)
โอลิมปิกที่กรุงเอเธนส์ (กรีซ) ในปี 2004 ก็ใช้เงินไปไม่น้อยถึงเกือบ 2 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็ยังเทียบไม่ได้กับโอลิมปิกที่กรุงปักกิ่งในปี 2000 ที่ใช้เงินไปกว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์ จะเห็นได้ว่าการลงทุนเหล่านี้ถือเป็นเม็ดเงินมหาศาล หากจะเทียบให้เห็นภาพเทียบกับ GDP ของไทยที่ปีนึงตกที่ประมาณ 5 แสนล้านดอลลาร์ หมายความว่า หากเราจะจัดโอลิมปิกสักครั้ง เราอาจจะต้องกันงบไว้มาก ระหว่าง 3-10% ของรายได้ทั้งหมดของประเทศ
จากสถิติในอดีตจะพบว่า เมืองส่วนใหญ่นั้นจะขาดทุนจากการจัดโอลิมปิก ส่วนขาดทุนมากหรือน้อยนั้นก็ขึ้นกับความสามารถในการจัดการทั้งในแง่ของงบประมาณการลงทุนและการหารายได้ อาทิ ลอนดอนนั้นขาดทุนกว่า 5 พันล้านดอลลาร์ เช่นเดียวกับเอเธนส์ที่ติดลบเกือบ 4.5 พันล้านดอลลาร์เช่นกัน ประเทศที่ขาดทุนน้อยๆ อาทิ บาร์เซโลนา (สเปน) ปักกิ่ง (จีน) และรีโอ เดอ จาเนโร (บราซิล) ที่ขาดทุนประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์
แต่สิ่งที่น่าแปลกใจที่สุดก็คือ เม็ดเงินลงทุนของจีนที่ลงทุนมหาศาลที่สุดเท่าที่เคยมีประวัติการจัดโอลิมปิกมาที่ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่พอจัดเสร็จ สรุปยอดขาดทุนเพียง 1 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งก็ทั้งน่าสนใจทั้งในแง่ของการบริหารจัดการ และทั้งในแง่ของความน่าเชื่อถือของตัวเลข
หากมองโอลิมปิกในระยะ 30 ปีที่ผ่านมา มีเพียง 2 ประเทศเท่านั้นที่ได้รับอานิสงส์ในรูปแบบเม็ดเงินเข้ามากกว่าเม็ดเงินออกในการจัดงาน คือ ที่แอตแลนตาและซิดนีย์ ซึ่ง 2 เมืองนี้มีความน่าสนใจและมีความเหมือนที่เมืองต่างๆ ทั่วโลกรวมถึงกรุงเทพฯ หากฝันที่จะเข้าร่วมโอลิมปิก สามารถถอดบทเรียน ทำอย่างไรไม่ให้ขาดทุน
เช่นเดียวกับประเทศต่างๆ ที่ขาดทุนจากมหกรรมกีฬานี้ ที่มีจุดร่วมว่าทำไมถึงขาดทุน และจุดต่างจากประเทศที่ได้กำไร (หากมองในแง่ของตัวเลข) ซึ่งผมจะมาขยายความต่อในสัปดาห์หน้า และเหตุผลว่า แล้วทำไมเมื่อการจัดโอลิมปิกนั้นมีแนวโน้มขาดทุนมากกว่ากำไร จึงยังมีประเทศมากมายอยากเสนอตัวจัดโอลิมปิก รวมถึงกรุงเทพฯ ของเราด้วย