สหรัฐง้อเวียดนามหลังปูตินมาเยือน ย้ำสัมพันธ์เหนียวแน่น
สหรัฐตอบสนองการเยือนเวียดนามของปูติน ด้วยการประกาศว่าวอชิงตันจะกระชับความสัมพันธ์กับเวียดนามให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เมื่อสหรัฐต้องการใช้เวียดนามคานอำนาจจีน
สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงาน หนึ่งวันหลังลงนามข้อตกลงกลาโหมกับเกาหลีเหนือ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของ รัสเซีย เดินทางมาเยือนเวียดนาม ได้รับการต้อนรับยิ่งใหญ่ทหารกองเกียรติยศยิงสลุต 21 นัด เจ้าตัวเผยว่า ต้องการสร้าง “สถาปัตยกรรมความมั่นคงที่เชื่อถือได้” ในภูมิภาค
ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้น ในวันพฤหัสบดี (20 มิ.ย.) ตามเวลาท้องถิ่น รัฐบาลวอชิงตันประกาศว่า นายแดเนียล คริตเทนบริงค์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฝ่ายเอเชียตะวันออก จะมาเยือนเวียดนามในวันศุกร์และเสาร์ (21-22 มิ.ย.) เพื่อตอกย้ำความมุ่งมั่นของวอชิงตันที่จะทำงานร่วมกับฮานอย สร้างหลักประกันถึงภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่ “เสรีและเปิดกว้าง”
การเยือนสองชาติเอเชียของปูตินถูกมองว่า เป็นการแสดงความท้าทายต่อชาติตะวันตก การที่เวียดนามต้อนรับเขาถูกวอชิงตันวิจารณ์อย่างหนักหน่วงว่า ผู้นำรัสเซียไม่ควรมีเวทีให้ใช้ปกป้องการทำสงครามในยูเครน
ในการแถลงข่าวประจำวัน ผู้สื่อข่าวถามนายจอห์น เคอร์บี โฆษกความมั่นคงแห่งชาติทำเนียบขาว ว่า ปูตินพยายามหาแรงสนับสนุนในการทำสงครามยูเครนจากเวียดนามหรือไม่ นายเคอร์บีตอบว่า วอชิงตันคาดหวังให้ฮานอยเดินหน้ายึดมั่นหลักการของสหประชาชาติว่าด้วยการเคารพบูรณภาพเหนือดินแดน
นายเคอร์บีย้ำว่า สหรัฐเพิ่งยกระดับความสัมพันธ์กับเวียดนามเมื่อปีที่แล้ว
“เราจะยังคงโฟกัสที่สายสัมพันธ์นี้ให้แนบแน่นและกว้างขวางยิ่งขึ้น ยกระดับเพื่อผลประโยชน์ร่วมของกันและกันและต่อภูมิภาค”
ปัจจุบันสหรัฐเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของเวียดนาม กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐระบุว่า การเยือนของนายคริตเทนบริงก์จะเป็นการ “ตอกย้ำอีกครั้งถึงการสนับสนุนของสหรัฐต่อเวียดนามที่เข้มแข็ง มีอิสระ ยืดหยุ่น และมั่งคั่ง” และ “เน้นถึงความรับผิดชอบอันแข็งแกร่งของสหรัฐ ในการปฏิบัติตามหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างครอบคลุมสหรัฐ-เวียดนาม”
ทั้งนี้ รัสเซียและเวียดนามลงนามข้อตกลงกันหลายฉบับ เช่น พลังงาน ตอกย้ำนโยบายปักหมุดเอเชียของมอสโก หลังถูกตะวันตกคว่ำบาตรจากความขัดแย้งในยูเครน
แม้สหรัฐไม่สบายใจที่เวียดนามต้อนรับปูติน นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งเชื่อว่า ฮานอยอาจคำนวณมาดีแล้วว่า ตนจะไม่เสียมากนัก เนื่องจากวอชิงตันต้องพึ่งพาสัมพันธ์ที่ดีกับเวียดนาม รับมือกับความเป็นปรปักษ์กับจีนในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก
อย่างไรก็ตาม ฮานอยกำลังรอการตัดสินใจครั้งสำคัญจากสหรัฐ ในวันที่ 26 ก.ค. ว่า สหรัฐจะยกระดับเวียดนามเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจในระบบตลาดหรือไม่ ซึ่งอเล็กซานเดอร์ วูวิง ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียและเวียดนาม จากศูนย์เอเชียแปซิฟิกเพื่อความมั่นคง Daniel K. Inouye ในฮาวายกล่าวว่า การต้อนรับปูตินอาจส่งผลต่อการตัดสินใจนี้
“ผมคิดว่าการที่ปูตินมาเยือนทำให้เวียดนามไว้ใจได้น้อยลงในสายตาของสหรัฐ และอาจส่งผลลบต่อการตัดสินใจ” นักวิชาการรายนี้กล่าว
การยกระดับเวียดนามถูกต่อต้านจากบริษัทผลิตเหล็กสหรัฐ ผู้เลี้ยงกุ้งชายฝั่งอ่าวเม็กซิโก และเกษตรกรฟาร์มน้ำผึ้ง แต่ได้รับการสนับสนุนจากภาคค้าปลีกและธุรกิจบางกลุ่ม หากเวียดนามได้รับการยกระดับจะลดภาษีต่อต้านการทุ่มตลาดที่เก็บจากสินค้านำเข้าของเวียดนาม เนื่องจากปัจจุบันเศรษฐกิจเวียดนามมีสถานะไม่ใช่ระบบตลาดรัฐมีอิทธิพลสูงมาก
ด้านเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ ไม่ตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ว่า การที่เวียดนามขยับไปใกล้ชิดมอสโกจะส่งผลต่อการตัดสินใจของกระทรวงพาณิชย์หรือไม่ กล่าวเพียงว่า วอชิงตันมองเวียดนามเป็นหุ้นส่วนในการสร้างความหลากหลายให้ซัพพลายเชนและลดการพึ่งพาจีน การยกระดับความเป็นพันธมิตรไม่จำเป็นว่าเวียดนามต้องตัดสัมพันธ์กับรัสเซียหรือจีน ฮานอยมีนโยบายร่วมมือกับหลายประเทศ
ในวันเดียวกันนั้นกระทรวงการคลังจัดให้เวียดนามอยู่ในบัญชีจับตาค่าเงิน แต่กล่าวด้วยว่า กระทรวงพอใจกับความก้าวหน้าของเวียดนามและจะติดต่อกับธนาคารกลางเวียดนามอย่างใกล้ชิดต่อไป
ในรายงานตลาดแลกเปลี่ยนภาคครึ่งปี กระทรวงระบุว่า เวียดนามซื้อเงินตราต่างประเทศสุทธิในไตรมาสสี่ของปี 2566 ที่ 7 พันล้านดอลลาร์ หรือ 1.5% ของจีดีพี ต่ำกว่าเกณฑ์ 2% ของกระทรวงที่ถือว่าปั่นค่าเงิน เวียดนามไม่ได้แทรกแซงค่าเงินต่อเนื่องตลอดทั้งปีเพื่อหนุนค่าเงิน และซื้อเงินตราต่างประเทศเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แม้มีแรงกดดันเงินด่องอ่อนค่าสูงมาก
นอกจากนี้การเกินดุลการค้าและบริการของเวียดนามต่อสหรัฐทะลุ 1.03 แสนล้านดอลลาร์ มากที่สุดเป็นอันดับสาม